รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญมากต่อการเยือนครั้งนี้ โดยมีนักธุรกิจจำนวนมากเดินทางไปด้วย ก่อนออกเดินทาง นายซิงห์ได้ประกาศคำแถลงโดยระบุว่า การเยือนครั้งนี้จะกำหนดแผนนำทางสู่ความร่วมมือระหว่างอินเดียกับเมียนมาร์ในอนาคตอย่างชัดเจน หวังว่าสองประเทศจะกระชับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนและการต่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ระหว่างการเยือน นายซิงห์จะพบปะหารือกับพลเอกเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมาร์ และนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านเมียนมาร์
วันที่ 7 พฤศจิกายนปี 2010 เมียนมาร์ได้จัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ ต่อมา สหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปต่างยกระดับความสัมพันธ์กับเมียนมาร์ให้สูงขึ้น นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นางแคทเธอรีน แอชตัน หัวหน้านโยบายต่างประเทศและความมั่นคงสหภาพยุโรป นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษและนายลี เมียงบัค ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ต่างพากันเยือนเมียนมาร์ตามลำดับ
สำหรับหลายประเทศแล้ว เมียนมาร์เป็นตลาดที่กำลังรอการบุกเบิก ประเทศต่างๆ จึงมีความกระตือรือร้นต่อการแย่งชิงตลาดเมียนมาร์ ประเทศตะวันตกย่อมจะทุ่มเทกำลังในการบุกเบิกตลาดเมียนมาร์ และดำเนินกิจการพาณิชย์โดยมีประสิทธิภาพสูงกว่าอินเดียด้วย แต่สำหรับอินเดียแล้ว เมียนมาร์อุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่้อยุทธศาสตร์พลังงานของอินเดีย ซึ่งจะทำให้บริษัทอินเดียต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือดมากขึ้นในเมียนมาร์ การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทั้งภายในและนอกประเทศอินเดีย ทำให้อินเดียจำเป็นต้องเร่งฝีก้าวแห่งการพัฒนาความสัมพันธ์กับเมียนมาร์ให้เร็วขึ้น