พลเรือตรีหลี่ จี้ รองผู้อำนวยการสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงกลาโหมจีน ซึ่งเป็นตัวแทนจีน ระบุในพิธีเปิดการสัมมนาว่า อุปสรรคที่เกิดขึ้นจากกฎข้อบังคับ มีส่วนในการจำกัดขอบเขตและปฏิบัติการของกองกำลังติดอาวุธในการเข้าร่วมโครงการกู้ภัยระหว่างประเทศ หวังว่า การสัมมนาครั้งนี้จะสามารถแสดงบทบาทที่เป็นจริง แก้ไขข้อขัดแย้ง และแบ่งปันประสบการณ์ ส่งเสริมการบัญญัติกฎหมายข้อบังคับว่าด้วยความร่วมมือด้านการกู้ภัยระหว่างประเทศที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น
ส่วนพันโทวิลเลียม ดูไอร์ จากกองกำลังพิทักษ์ฝั่งทะเลสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้แทนสหรัฐฯ ระบุว่า เรื่องกฎข้อบังคับเกี่ยวกับกองกำลังติดอาวุธกับการมีส่วนร่วมในโครงการกู้ภัยระหว่างประเทศนั้น แม้ว่ามีความสลับซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากก็ตาม แต่ก็ไม่ควรมองข้าม
ระหว่างการสัมมนา ฝ่ายสหรัฐฯ เสนอให้ทำ "ข้อตกลงว่าด้วยปฏิบัติการกู้ภัยฉุกเฉิน" เพื่อปรับขั้นตอนการติดต่อระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้ง่ายขึ้นขณะเกิดภัยพิบัติ และระดมกำลังทางทหารโดยเร็วที่สุด
ทว่า ฝ่ายอื่นๆ ที่ร่วมการสัมมนาไม่ค่อยตอบสนองข้อเสนอดังกล่าว พลเรือตรีหลี่ จี้ ผู้แทนจีนระบุว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการกู้ภัยนั้น เป็นความช่วยเหลือและความร่วมมือระหว่างประเทศอธิปไตย ใช่จะดำเนินการโดยลำพังฝ่ายเดียว
พลตรีไซฟูร์ อันวาร์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศอินโดนีเซียให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอเกี่ยวกับกลไกความร่วมมือด้านการกู้ภัยระหว่างกองกำลังติดอาวุธของ 10 ประเทศอาเซียนในเวลานี้ว่า "แม้ว่า 10 ประเทศอาเซียนมีสภาพที่ต่างกันก็ตาม แต่ปฏิบัติการเพื่อการบรรเทาภัยและกู้ภัยในส่วนของกองกำลังติดอาวุธที่สำคัญจะดำเนินการในกรอบฟอรั่มรัฐมนตรีกลาโหมชาติอาเซียน กองทัพประเทศสมาชิกจะทำข้อตกลงภายในกรอบดังกล่าว จากนั้นก็จะดำเนินการร่วมกัน หวังว่าประเทศต่างๆ จะลดความขัดแย้งให้น้อยลง มีจุดยืนตรงกัน ประสานกลมกลืนกัน และปฏิบัติการร่วมกัน"
(IN/LING)