ในปี 2012 การผลิตธัญญาหารของประเทศจีนมีผลการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งต่อปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกัน 9 ปีแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ นายปี้ เหม่ยเจีย โฆษกกระทรวงการเกษตรจีนกล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานสารสนเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีนว่า การที่ยอดการผลิตธัญญาหารต่อปีของจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 นั้น เป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า ศักยภาพรวมด้านการผลิตธัญญาหารของจีนได้เลื่อนชั้นสู่ระดับใหม่ เขาเน้นว่า ถึงแม้ปีหลังๆ นี้ การนำเข้าธัญญาหารมีแนวโน้มเติบโตที่รวดเร็ว แต่ยังไม่ได้กระทบถึงความมั่นคงด้านอาหารของจีน
โฆษกผู้นี้เห็นว่า กล่าวสำหรับสาเหตุที่กระตุ้นให้ยอดการผลิตธัญญาหารในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาเพิ่มมากขึ้นนั้น มี 1 ใน 3 เกิดจากการขยายพื้นที่เพาะปลูก อีก 2 ใน 3 มาจากการเพิ่มปริมาณการผลิตต่อหน่วยพื้นที่การเพาะปลูก นอกจากนี้แล้ว มีปัจจัยสำคัญอีกข้อหนึ่งไม่ควรมองข้ามคือ มีแรงงานชนบทเยาวชนและวัยกลางคนจำนวน 250 ล้านคนย้ายไปทำงานในเมืองโดยไม่ได้ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ดังนั้น แรงงานชนบทที่ทำการเพาะปลูกในเขตชนบท สวนใหญ่เป็นคนกลางคนและคนชราที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี อนึ่ง กระแสการพัฒนาความเป็นเมืองของประเทศยังผลให้พื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลงอีก ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การที่ยอดการผลิตธัญญาหารต่อปีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 นั้น นับเป็นผลงาานที่ได้มาอย่างไม่ง่ายจริงๆ
นายปี้ เหม่ยเจียชี้ว่า อัตราการพัฒนาความเป็นเมืองของประเทศจีนเพิ่มสูงเกิน 50% แล้ว และการเติบโตของอัตรานี้ย่อมต้องการใช้พื้นดินมากยิ่งขึ้น จึงคาดว่าในอนาคต พื้นที่เพาะปลูกที่ใช้เพื่อผลักดันให้ยอดการผลิตธัญญาหารเพิ่มสูงขึ้นต่อไปจึงมีอยู่จำกัดมาก
เขาอธิบายว่า แม้ว่า ยอดการผลิตธัญญาหารของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องกันเป็นเวลา 9 ปีแล้ว แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยอดการนำเข้าธัญญาหารของจีนกลับเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของผู้บริโภคในประเทศ พร้อมๆ กับศักยภาพการบริโภคของคนจีนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคจีนจึงนับวันมีความต้องการมากขึ้นต่อความหลากหลายของอาหาร จีนจึงต้องนำเข้าข้าวและข้าวสาลีคุณภาพสูงมาตอบสนองความต้องการของประชาชน
นายปี้ เหม่ยเจียชี้ว่า พร้อมๆ กับพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จีนยังคงต้องประยุกต์ใช้การตลาดและนำเข้าทรัพยากรธัญญาหารพอสมควร ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนให้ความสำคัญระดับสูงต่อเกษตรกรรม โดยเฉพาะการผลิตอาหาร ผลสำรวจล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ปริมาณธัญญาหารที่ชาวจีนบริโภคมี 90% ขึ้นไปเป็นธัญญาหารที่จีนผลิตเอง การผลิตข้าว ข้าวสาลีและธัญญาหารหลักๆ ของจีนจึงสามารถตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ได้เขาเน้นว่า สภาพที่ปริมาณการนำเข้าธัญญาหารหลายชนิดของจีนค่อนข้างมากนั้น จะไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ
Ton/feng