"หยาง ลี่เหว่ย" นักบินอวกาศคนแรกของจีนกับประสบการณ์ "ออกนอกโลก" -4
  2017-02-09 17:04:00  cri

"หยาง ลี่เหว่ย" นักบินอวกาศคนแรกของจีน เคยมีความใฝ่ฝันที่เป็นคนขับรถไฟในสมัยเด็ก แต่เมื่อโตมาได้กลายเป็นนักบินอวกาศคนแรกของจีน การท่องอวกาศของเขาเต็มไปด้วยบททดสอบที่อันตรายถึงชีวิต แต่ประสบผลสำเร็จในที่สุด

หลังกลับจากอวกาศ พลตรีหยาง ลี่เหว่ย ได้ใช้เวลาสองปีเพื่อเขียนหนังสืออัตชีวประวัติที่มีความยาว 200,000 ตัวอักษรจีน และมีภาพถ่าย 150 ภาพประกอบ โดยได้เปิดเผยประสบการณ์ขึ้นสู่อวกาศของตน พร้อมภาวะสุดอันตรายต่างๆ ในการบินครั้งนั้น

สำหรับการเดินทางกลับสู่โลก พลตรีหยาง ลี่เหว่ย เขียนว่า เป็นการเดินทางที่ "ตื่นเต้นและน่ากลัว"

เวลา 06.23 น. ของวันที่ 16 ตุลาคม ปี 2003 ยานอวกาศเสินโจว 5 ลงสู่พื้นโลกที่ลานจอดในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีนด้วยความสำเร็จ แคปซูลที่นั่งเดินทางกลับ มีสภาพปกติดี หยาง ลี่เหว่ยออกมาจากยานด้วยตนเอง

แต่ก่อนกลับถึงพื้นโดยสวัสดิภาพนั้น เขาเล่าว่า...

เวลา 06.04 น. ยานอวกาศบินอยู่สูงจากพื้นดิน 100 กิโลเมตร และเริ่มเข้าสู่ชั้นบรรยากาศที่หนาแน่น ขณะนี้ ยานอวกาศบินในความเร็วสูง พอเจอแรงต้านของอากาศ ยานอวกาศลดความเร็วอย่างรวดเร็วในเวลาสั้น ผมต้องทนแรงโน้มถ่วงขนาดเกือบ 4 จี ทั้งหน้าอกและหลังต้องทนกับแรงกดอย่างหนัก สภาพเช่นนี้ พวกเราเคยฝึกมา จึงรับมือได้สบาย

แต่เรื่องที่ทำให้ผมตื่นตระหนกคือ ทีแรก เนื่องจากบินด้วยความเร็วสูง แรงเสียดทานระหว่างยานกับอากาศก่อเกิดความร้อนสูง นอกหน้าต่างสีแดงไปหมด ผมยังเห็นเศษสีขาวและสีแดงปลิวลอยไปไม่หยุดด้วย เศษเหล่านี้เป็นชั้นป้องกันการเผาไหม้นอกยาน พออุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะค่อยๆ หลุดลอกออกไป พร้อมกับถ่ายเทความร้อนที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งออกไปด้วย ผมทราบหลักเหล่านี้จึงเข้าใจดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น

แต่สภาพที่เกิดขึ้นตามมา ทำให้ผมกังวลอย่างยิ่ง เพราะหน้าต่างข้างขวาเริ่มมีรอยแตก เหมือนรอยแตกละเอียดของกระจกนิรภัย รอยแตกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากบอกว่าไม่กลัว ย่อมจะเป็นคำโกหก เพราะข้างนอกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1,600-1,800 องศาเซลเซียส

ขณะนั้น ผมนึกถึงอุบัติเหตุที่เกิดกับกระสวยอวกาศโคลัมเบียของสหรัฐฯ มันก็เป็นแบบนี้เช่นกัน เกิดรอยแตกกับแผ่นป้องกันความร้อน แล้วยานทั้งลำก็ถูกทำลายด้วยอุณหภูมิสูง ตอนนี้ หน้าต่างของยานอวกาศเกิดความเสียหาย เรื่องใหญ่แล้วซิ

หน้าต่างข้างขวาแตกก่อนแล้ว ผมหันไปดูข้างซ้าย หน้าต่างข้างซ้ายก็เริ่มมีรอยแตกเช่นกัน พอเห็นสภาพนี้ ผมกลับวางใจได้นิดหน่อยแล้ว ผมคิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร เพราะอัตราการเกิดข้อบกพร่องซ้ำอย่างนี้ไม่สูงนัก

พอกลับสู่โลก ผมถึงทราบว่า ด้านนอกหน้าต่างของยานอวกาศมีชั้นป้องกันการเผาไหม้ รอยแตกที่ผมเห็น เป็นของชั้นนี้ต่างหาก ไม่ใช่กระจกหน้าต่าง ส่วนสาเหตุที่หน้าต่างสองฝั่งไม่เกิดรอยแตกพร้อมกันก็เพราะว่า ใช้วัสดุต่างกัน

นอกจากนี้ พลตรีหยาง ลี่เหว่ย ยังได้เขียนถึงสาเหตุที่เขาบาดเจ็บตรงใบหน้าและมุมปากด้วย เขาเขียนว่า ขณะลงจอดเกิดแรงกระแทกใหญ่ เนื่องจากไมโครโฟนมีเหลี่ยมมุมไม่เรียบดี จึงทำให้มุมปากผมบาดเจ็บ ซึ่งถ้าหากบาดเข้าที่คอ ผลที่จะตามมาคงไม่มีใครกล้าคาดเดา

ในหนังสือ พลตรีหยาง ลี่เหว่ย ยังได้เล่าถึงชีวิตการฝึกหัดเป็นนักบินอวกาศของตนด้วย ว่าได้ผ่านการฝึกอบรมที่ยากลำบากนานัปการ จึงทำให้เขาประสบผลสำเร็จเช่นนี้

Yim/Ldan

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040