"วั่นฮู่บินสู่ฟากฟ้า" (万户飞天)
  2010-11-08 15:05:13  cri

ภาพเขียนเกี่ยวกับนิทาน "วั่นฮู่บินสู่ฟากฟ้า"

"วั่นฮู่ (Wan Hoo) บินสู่ฟากฟ้า" (万户飞天) เป็นนิทานที่เล่าถึงเรื่องราวของขุนนางผู้หนึ่งในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ซึ่งมีชื่อว่า วั่นฮู่ (Wan Hoo, 万户) ขุนนางผู้นี้มีความใฝ่ฝันที่จะบินขึ้นไปบนท้องฟ้าให้ได้ จึงคิดวิธีขึ้นมา โดยนั่งอยู่บนเก้าอี้ที่มัดด้วยจรวดหลายๆ ลูก และจับว่าวตัวหนึ่งไว้แน่นในมือ แต่ในที่สุดเขาก็ต้องจบชีวิตจากการพยายามนี้ นิทานเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาของผู้คนในการเดินทางขึ้นสู่ฟากฟ้าที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ดร.เฮอร์เบิร์ต เอส ซิม (Herbert S Zim) นักวิทยาศาสตร์ด้านจรวดของสหรัฐอเมริกา ระบุในหนังสือเรื่อง "จรวดกับเครื่องยนต์ไอพ่นเจ็ต" (Rockets and Jets) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1945 ว่า "ช่วงราวปลายศตวรรษที่ 14 ขุนนางผู้หนึ่งของจีนนำจรวดลูกใหญ่สุดที่สามารถหาซื้อได้ในสมัยนั้นจำนวน 47 ลูกไปมัดไว้ด้านหลังของเก้าอี้ตัวหนึ่ง แล้วมัดตัวเขาเองไว้ด้านหน้าของเก้าอี้ สองมือมีว่าวตัวใหญ่ข้างละตัว จากนั้น ก็สั่งให้บริวารจุดจรวดใหญ่ทั้ง 47 ลูกพร้อมกัน การทำเช่นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออาศัยแรงดันขึ้นสู่ท้องฟ้าของจรวด บวกกับแรงพุ่งสู่ข้างบนจากว่าว เพื่อบินไปข้างหน้า เป้าหมายของเขาคือ ดวงจันทร์..."

ส่วนบันทึกประวัติศาสตร์ของจีนระบุว่า วั่นฮู่มีชีวิตอยู่ในสมัยต้นราชวงศ์หมิง แต่เดิมเป็นช่างไม้ เนื่องจากเขาชอบประดิษฐ์คิดค้นอะไรต่างๆ ฉะนั้น หลังจากเขารับราชการเป็นทหารแล้ว จึงดัดแปลงอาวุธต่างๆ ให้ทันสมัยขึ้นไม่น้อย

วั่นฮู่---บุคคลแรกที่ใช้จรวดในโลกตามที่เล่าลือกัน

วั่นฮู่เคยศึกษาหนังสือเรื่อง "ศาสตร์ว่าด้วยจรวด" (《火箭书》) อย่างละเอียด จากนั้นได้ประดิษฐ์จรวดนานาชนิด อีกทั้งวาดแปลนของ "นกบิน" (飞鸟)ให้เหล่าช่างกลผลิต "นกบิน"ออกมา...

วั่นฮู่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมนุษย์ผู้ "บินสู่ฟากฟ้า" คนแรกของโลก เอกสารระบุว่า ในคืนวันเพ็ญคืนหนึ่ง ดวงจันทร์กลมโตทอแสงเรืองรอง วั่นฮู่นำพลพรรคมาถึงภูเขาสูงลูกหนึ่ง พวกเขานำ "นกบิน" ซึ่งมีรูปทรงคล้ายนกขาดใหญ่ตัวหนึ่งมาไว้บนยอดเขา "หัวนก" หันสู่จันทร์เพ็ญ... วั่นฮู่คว้าว่าวขึ้นมา แล้วนั่งลงบนเก้าอี้ ซึ่งเป็นที่นั่งคนขับที่อยู่บนหลังนก เมื่อจุดชนวนแล้ว ไฟก็พ่นออกมาจากตรงท้ายของจรวด ขับดัน "นกบิน" ให้พุ่งออกจากยอดเขาไปข้างหน้า ต่อจากนั้น เปลวไฟก็พ่นออกมาจากใต้เท้าของวั่นฮู่ ขณะที่ "นกบิน" ก็พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าทันที

ไม่นานนัก ผู้คนก็ค้นพบศพของวั่นฮู่และซากของ "นกบิน" ที่เชิงเขาซึ่งอยู่ห่างออกไป...นี่คือความเป็นมาของนิทานที่ชื่อว่า "วั่นฮู่บินสู่ฟากฟ้า" และหลังจากนั้นวั่นฮู่ได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ด้านการบินอวกาศของมวลมนุษย์

ภูเขาไฟทรงวงแหวนลูกหนึ่งบนดวงจันทร์ที่ชื่อว่า "วั่นฮู่" (Wan Hoo)

วั่นฮู่นับเป็นวีรชนคนแรกในโลกที่ถวิลหาการเดินทางสู่ห้วงอวกาศ ความพยายามของเขาถึงแม้ล้มเหลวก็ตาม แต่เขาเป็นคนแรกในโลกที่คิดวิธีเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยแรงดันของจรวด ฉะนั้น เขาจึงได้รับการยอมรับจากโลกว่าเป็น "ผู้ริเริ่มการบินอวกาศที่แท้จริง" เพื่อรำลึกถึงนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ ในทศวรรษปี 1970 สหพันธ์ดาราศาสตร์ระหว่างประเทศจึงตั้งชื่อให้กับภูเขาไฟทรงวงแหวนลูกหนึ่งบนดวงจันทร์ว่า "วั่นฮู่" (Wan Hoo)

จรวดเป็นยานพาหนะในการยิงส่งดาวเทียมและยานอวกาศสมัยใหม่ และเป็นผลจากสิ่งประดิษฐ์ของชาวจีนในสมัยโบราณ เริ่มแรกนั้นใช้เพียงในโอกาสจุดพลุจุดไฟฉลองตรุษจีนและเทศกาลต่างๆ เท่านั้น เมื่อถึงศตวรรษที่ 13 ผู้คนก็นำจรวดไปใช้เป็นอาวุธในการทำสงคราม จากนั้นจึงได้แพร่หลายเข้าสู่ทวีปยุโรป

 

เฉียน เสวียเซิน (Qian Xuesen,钱学森,ค.ศ.1911-2009)

นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของจีน

เฉียน เสวียเซิน (Qian Xuesen,钱学森,ค.ศ.1911-2009) นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของจีน ผู้วางรากฐานกิจการการบินอวกาศของจีน ในวัยหนุ่มเคยได้ฟัง "นิทานของวั่นฮู่" จากอาจารย์ของเขา และนำนิทานนี้ไปเล่าต่อกับลูกศิษย์ของเขาอีกเมื่อตนเองมาเป็นอาจารย์

เฉียน เสวียเซินเล่าว่า การพัฒนาการบินตามแบบของวั่นฮู่ต้องหยุดชะงักไป หลังจากสมัยราชวงศ์หมิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงสมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์ร่วมสมัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนยิ่งล้าหลังมาก กระทั่งถูกมหาอำนาจต่างชาติรังแกไม่รู้จบสิ้น อย่างไรก็ตาม ภารกิจการบินที่วั่นฮู่บุกเบิกนั้น ได้รับการยอมรับจากโลก ได้รับการยกย่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านจรวดของชาวต่างชาติว่าเป็นผู้นำในการทดลองบินด้วยจรวดพร้อมมนุษย์

เฉียน เสวียเซินกล่าวเสริมว่า "เอาเข้าจริงแล้ว ย้อนไปถึงสมัยราชวงศ์หมิง จีนก็ได้ประดิษฐ์จรวดแบบ 2 ท่อนแล้ว ส่วนจรวดแบบหลายท่อน (a multistage rocket; a step rocket) นั้นจีนผลิตเป็นประเทศแรก เป็นผลคืบหน้าสำคัญด้านเทคโนโลยีจรวดของมนุษย์ เป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนจรวดแบบหลายท่อนของสมัยนี้เสียอีก"

ดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์ "ฉางเอ๋อ 2" (Chang'e 2) 

ที่จีนส่งขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยความสำเร็จ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 เวลา 18.59 น.

สมัยปัจจุบันนี้ จีนนับวันมีความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยีมากขึ้น โดยมีการส่งดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์ "ฉางเอ๋อ 1" (Chang'e1) ขึ้นสู่อวกาศด้วยความสำเร็จ เมื่อปี 2007 และ "ฉางเอ๋อ 2" (Chang'e 2) เมื่อเดือนตุลาคมปี 2010 ขณะที่ "ฉางเอ๋อ 3" (Chang'e 3) มีกำหนดจะยิงส่งในปี 2013 โดยจะลงจอดบนผื้นผิวดวงจันทร์และทำการสำรวจเป็นเวลา 90 วัน

(Ton/LING)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040