2019-02-07 14:05CRI
วันขึ้นปีใหม่จีนเป็นเทศกาลประเพณีที่คึกคักที่สุดของชาวจีน เรียกทั่วไปว่า ตรุษจีน ประเพณีเกี่ยวกับตรุษจีนมีหลากหลาย วันนี้ ขอแนะนำว่า ชาวจีนนิยมกินอะไรในช่วงตรุษจีน
อาหารมื้อค่ำในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับวันตรุษจีน ย่อมเป็นอาหารมื้อที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวจีน ทุกครั้งเมื่อถึงวันตรุษจีน ครอบครัวชาวจีนจะอยู่พร้อมหน้ารับประทานอาหารด้วยกัน ตามประเพณีนิยม การรับประทานอาหารมื้อค่ำสุดท้ายของปีมีความพิถีพิถันมาก บนโต๊ะอาหารในเทศกาลตรุษจีนมีอาหารหลากหลาย
โดยทั่วไปอาหารมื้อค่ำสุดท้ายของปีจะตระเตรียมไว้อย่างหลากหลายมาก แล้วก็ต้องสอดคล้องแฝงนัยที่เป็นมงคลตามเทศกาลตรุษจีนอันสุดพิเศษด้วย ดังนั้น อาหารมื้อค่ำนี้ไม่เพียงแต่อิ่มเอมตามเจตจำนง หากยังอบอวลด้วยอาหารเลิศรสตามวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย
การรับประทาน “เกี๊ยว” เป็นหนึ่งในเมนูอาหารสำคัญที่ขาดไม่ได้ในอาหารมื้อค่ำสุดท้ายของปีของชาวจีนภาคเหนือ “เกี๊ยว” ภาษาจีนเรียกว่า “เจี่ยวจือ” คำว่า “เจี่ยว” มีความหมายสิ่งใหม่แทนที่สิ่งเก่า “จื่อ” หมายถึง “ยามจื่อ” ซึ่งเป็นช่วงเวลากลางคืน 23.00-01.00 น. มีความหมายถึงการเริ่มต้นสิ่งใหม่ของจีน
นอกจากนี้ เกี๊ยวยังมีรูปลักษณ์คล้ายก้อนเงินจีนโบราณ จึงมีความหมายของการกวักทรัพย์สิน เงินทองไหลมาเทมา และยังมีค่านิยมในการเลือกวัตถุดิบที่ใช้ทำไส้ของเกี๊ยวด้วย โดยทั่วไปจะใช้ผักกุยไช่ ผักกาดขาวตลอดจนเห็ดหอม คำว่า กุยไช่ ภาษาจีนคือ “จิ่วไช่” เสียงพ้องกับคำว่า “มีทรัพย์ยาวนาน” ผักกาดขาว ภาษาจีนคือ “ไป๋ไช่” เสียงพ้องกับคำว่า “มีทรัพย์นับร้อย” ทั้งสองอย่างจึงเปรียบได้กับ “เครื่องสื่อถึงความร่ำรวย มั่งมีมั่งคั่ง” ส่วนเห็ดหอม ภาษาจีนคือ “เซียงกู” เสียงพ้องกับคำว่า “กลอง” ให้คนรู้สึกถึงความอิ่มเอม ทรัพย์สินกองเป็นพูน
ตามประเพณีจีนจะมีการกล่าวคำอวยพรให้ “เหลือกินเหลือใช้ทุกปี” คำว่า “หยู” ในภาษาจีนที่แปลว่า “ปลา” มีเสียงพ้องกับคำว่า “มีเหลือ” ดังนั้น อาหารมื้อค่ำสุดท้ายของปีจึงต้องมีเมนูปลาด้วย การรับประทานปลาคราฟ ในคืนวันส่งท้าย ซึ่งมีเสียงพ้องกับคำที่มีความหมายว่า “มหามงคลประโยชน์ยิ่งใหญ่” ชาวจีนจึงนิยมรับประทานปลา เพราะมีความหมายว่า “มีเหลือกินเหลือใช้ทุกๆ ปี”
“เนื้อตุ๋นน้ำแดง” เป็นเมนูอาหารที่เป็นที่ชื่นชอบของคนจีนภาคใต้ วันตรุษจีนแทบทุกบ้านจะต้องมีอาหารจานนี้ เพราะว่ามีเสียงพ้องกับคำที่มีความหมายว่า “แดงโชติช่วงชัชวาล”
“บะหมี่อายุยืน” ก็เป็นอาหารอีกอย่างหนึ่งที่ชาวจีนนิยมกินในช่วงตรุษจีน การกินบะหมี่อายุยืนในปีใหม่จีน จะมีความหมายว่าในปีใหม่นี้จะมีอายุยืนยาว ประสบความสำเร็จตามความปรารถนาได้ บะหมี่อายุยืนนี้มีหลายรูปแบบ บางพื้นที่ทำเป็นบะหมี่น้ำ บางพื้นที่ทำเป็นบะหมี่แห้ง เครื่องประกอบกับบะหมี่นี้ก็มีหลากหลาย เช่น ซี่โครงหมู ไก่ เป็ด ผัก และอาหารทะเล ใส่เข้าประกอบได้ทั้งนั้น
ส่วน “ปอเปี๊ยะ” ภาษาจีนเรียกว่า “ชุนจ่วน” เป็นอาหารทานเล่นประจำฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากเป็นของทอดที่ห่อผักสดหลายอย่างที่เก็บในฤดูใบไม้ผลิ การกินปอเปี๊ยะในตรุษจีนจึงมีความหมายต้อนรับปีใหม่ ได้สิ่งดีๆในรอบปีต่อไป
“ขนมเข่ง” ภาษาจีนเรียกว่า “เหนียนเหนียนเกา” ซึ่งมีความหมายว่ามีความเจริญยิ่งขึ้นทุกปี การกินขนมเข่งในตรุษจีนจะมีความหมายว่าการทำงานและการดำรงชีวิตจะมีความเจริญยิ่งขึ้นในปีต่อไป
นอกจากอาหารมื้อค่ำสุดท้ายของปีแล้ว ในแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศจีนยังมีของกินประจำตรุษจีนที่น่าสนใจ เช่น ในมณฑลกวางตุ้ง การกิน “กุนเชียง” ในตรุษจีนจะเป็นประเพณีพื้นบ้านอย่างหนึ่ง ชาวกวางตุ้งจะเตรียมกุนเชียงก่อนตรุษจีน เมื่อญาติพี่น้องอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน สิ่งที่ขาดเสียมิได้ในโต๊ะอาหารก็คือกุนเชียง
ในเขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกวางสี เมื่อถึงตรุษจีน ชาวกวางสีจะห่อ “บ๊ะจ่าง” กันทุกครอบครัว นับได้ว่าเป็นงานใหญ่สำหรับชาวกวางสีในการเตรียมของกินเพื่อฉลองปีใหม่จีน ชาวกวางสีถือว่าบ๊ะจ่างเป็นของกินที่สิริมงคล นอกจากเป็นอาหารอย่างหนึ่งประจำโต๊ะอาหารช่วงตรุษจีนแล้ว ยังเป็นของขวัญที่นิยมมอบให้กันในช่วงตรุษจีนด้วย
“ถั่วงอก” จะเป็นอาหารอีกหนึ่งอย่างประจำโต๊ะอาหารของชาวเซี่ยงไฮ้ในช่วงตรุษจีน ถั่วงอกจะผัดก็ได้ ใส่ในน้ำแกงก็ได้ ตามความคิดของชาวเซี่ยงไฮ้ ถั่วงอกเป็นสัญลักษณ์ความเจริญงอกงาม จึงเป็นของกินที่มีความสิริมงคล ถั่วงอกจึงเป็นของกินที่ขาดเสียมิได้ในช่วงตรุษจีน
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน “ซาลาเปาไส้ถั่ว” จะเป็นของกินที่คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมกินมากที่สุด ซาลาเปาไส้ถั่วทำจากข้าวเหนียวเหลือง แรกเริ่มใช้เป็นของเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และก็เป็นของกินขณะออกไปล่าสัตว์ในสมัยโบราณ ในทุกวันนี้ ประเพณีของคนจีนภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็คือ ทั้งครอบครัวทำซาลาเปาไส้ถั่วด้วยกันก่อนตรุษจีน แล้วกินพร้อมหน้าพร้อมตากันในช่วงตรุษจีน ซึ่งจะมีความหมายว่าทั้งครอบครัวจะมีความสุข สมานฉันท์กัน
ส่วนในมณฑลเจียงซู การนึ่ง “หมั่นโถว” จะเป็นประเพณีมีมาช้านานอย่างหนึ่ง ในสองวันสุดท้ายของปีเก่าตามปฏิทินจันทรคติจีน ชาวเจียงซูจะหมักแป้งให้ฟูและนึ่งหมั่นโถวให้เสร็จ เพื่อจะกินหมั่นโถวในช่วงตรุษจีน การนึ่งในภาษาจีนเรียกว่า “เจิง” มีความหมายตรงกับ “ความเติบโตเจริญรุ่งเรือง” การกินหมั่นโถวในช่วงตรุษจีน จะมีความหมายว่าได้เงินได้ทองและมีความเจริญรุ่งเรือง
“บัวลอย” เป็นขนมที่อร่อยอีกอย่าง และก็เป็นของกินที่กินกันทุกวันในช่วงตรุษจีนของชาวหนานจิง ชาวหนานจิงจะกินบัวลอยตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำจน 15 ค่ำตามปฏิทินจันทรคติจีน บัวลอยมีรูปร่างกลม ชาวหนานจิงถือว่าบัวลอยนี้จะมีความหมายว่าครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน