ตรุษจีนของกลุ่มชาติพันธุ์ในจีน (2)

2019-02-12 14:45CRI

ชนเผ่าอี๋ เป็นอีกหนึ่งชนกลุ่มน้อยที่กำหนดเทศกาลปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติของตัวเอง ชนเผ่าอี๋มีประชากรกว่า 8 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณภูเขาต้าเหลียงซานและภูเขาเสี่ยวเหลียงซาน ในมณฑลเสฉวนของจีน ชาวเผ่าอี๋เรียกเทศกาลปีใหม่ของตัวเองว่า “คู่ซือ” และมีเวลาไม่ตายตัว ทุก ๆ ปี ชาวเผ่าอี๋จะเลือกช่วงเวลา 3 วันที่เป็นมงคลที่สุดระหว่างวันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 15 ค่ำ  เดือน 10 ตามปฏิทินจันทรคติมาเป็นวัน “คู่ซือ” สำหรับสาเหตุที่จะฉลองปีใหม่ในเดือน 10 ตามปฏิทินจันทรคตินั้นเล่ากันว่า มีสาเหตุสองข้อ หนึ่งคือ ในประวัติศาสตร์ของชนเผ่าอี๋ เคยมีระบบการคำนวนเวลาว่า สิบเดือนครบหนึ่งปี  ดังนั้น เดือนที่ 10 จึงจะเป็นเดือนสุดท้ายของปี ๆ หนึ่ง สาเหตุอีกข้อหนึ่ง คือ  ในช่วงเวลาเดือนที่ 10 ตามปฏิทินจันทรคติ ถือเป็นช่วงที่ชาวเผ่าอี๋เสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวแล้ว ไม่ต้องวุ่นวายกับการทำนาอีก จึงเป็นเวลาที่เหมาะแก่การจัดเทศกาลเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังเป็นการอวยพรให้การเก็บเกี่ยวยังคงดีต่อไปในปีหน้า ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับชนเผ่าม้งอยู่บ้าง

图片默认标题_fororder_1

ประเพณีดั้งเดิมในช่วงเทศกาลปีใหม่ของชนเผ่าอี๋มีมากมาย แต่ที่มีลักษณะเด่นสุดมีสามประการ ได้แก่ หนึ่งเดือนก่อนถึงเทศกาลปีใหม่ ชาวเผ่าอี๋จะเตรียมทำเหล้าบักวีทให้เรียบร้อย พอถึงสามวันก่อนเทศกาลปีใหม่ ทุกบ้านจะต้องเตรียมฟืน ข้าว แป้ง และเกลือ ให้มากพอกับการใช้เป็นเวลาสามวันในเทศกาลปีใหม่โดยไม่ต้องไปหามาอีก ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า ครอบครัวมีกินมีใช้อย่างสมบูรณ์ และหนึ่งวันก่อนเทศกาลปีใหม่ ทุกบ้านจะทำความสะอาดบ้าน เพื่อแสดงว่า ได้ทิ้งของเก่าให้หมดไปเพื่อต้อนรับสิ่งใหม่ทั้งหลายที่จะเข้ามา

ชนเผ่าถู่เจีย มีประชากรราว 8  ล้านคน แต่น้อยกว่าชนเผ่าอี๋ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมณฑลหูหนาน หูเป่ย กุ้ยโจว และนครฉงชิ่ง ตามประเพณีของชนเผ่านี้  หลังจากเข้าสู่เดือน 12 แล้ว บรรยากาศการฉลองเทศกาลตรุษจีนจะค่อย ๆ เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 12 ชาวถู่เจียจะจัดพิธีเซ่นไหว้ส่งเทพเจ้าเตาไฟขึ้นสู่สวรรค์ ถือเป็นการเริ่มต้นเทศกาลตรุษจีน วันแรม 9 ค่ำ เดือน 12 จะเริ่มทำความสะอาดบ้านทุกซอกทุกมุม เตรียมซื้อของต่าง ๆ เพื่อมาทำขนมและอาหารที่จำเป็นในเทศกาลตรุษจีน ในสมัยก่อน ชนเผ่าถู่เจียมีธรรมเนียมฉลองเทศกาลตรุษจีนในวันแรม 13 ค่ำ เดือนอ้าย ก่อนชนเผ่าฮั่น 2 วัน เรียกว่า “ก่านเหนียน” โดยมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยราชวงศ์หมิง ชาวถู่เจียกำลังเตรียมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน แต่มีโจรสลัดญี่ปุ่นเข้ามารุกรานประเทศจีน จักรพรรดิเจียชิ่งจึงสั่งให้ผู้ปกครองชนเผ่าถู่เจียออกทัพไปบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเพื่อปราบโจรสลัด ทหารเผ่าถู่เจียจึงไม่สามารถส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ได้พร้อมกับสมาชิกครอบครัว ดังนั้น ผู้ปกครองชนเผ่าจึงตัดสินใจฉลองเทศกาลตรุษจีนล่วงหน้าเพื่อเป็นการให้กำลังใจบรรดาเหล่าทหาร หลังทานข้าวในวันส่งท้ายปีเก่าพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวแล้ว  ผู้ปกครองจึงรีบนำกำลังทหารไปปราบโจรสลัดได้ทันเวลาและได้รับชัยชนะ  ต่อมา เพื่อรำลึกถึงทหารถู่เจียที่ต่อต้านศัตรูอย่างกล้าหาญ ชาวถู่เจียจึงมีประเพณีฉลองเทศกาลปีใหม่ในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 12 ล่วงหน้าชนเผ่าฮั่น 1 วันหรือ 2 วันตามปฏิทินจันทรคติ

图片默认标题_fororder_2

เมื่อถึงช่วงค่ำของวันแรม 13 ค่ำ เดือน 12 ชาวถู่เจียจะจัดพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ปกป้องดูแลลูกหลาน จุดประทัด ขณะเดียวกันยังต้องเซ่นไหว้เทพเจ้าที่ดิน และต่อมา สมาชิกครอบครัวจะทานข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน ถือว่าเป็นอาหารมื้อสำคัญที่สุดของปี จึงจะต้องมีกับข้าวหลาย ๆ อย่าง โดยสิ่งที่ไม่อาจขาดได้ คือ หมูเค็มแห้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง  ปลา เป็นสัญลักษณ์แห่งการเหลือกินเหลือใช้  ผักสีเขียว เป็นสัญลักษณ์แห่งความปลอดภัย และเผือก ที่จะบ่งบอกว่า จะเจอแต่สิ่งดี ๆ ปัจจุบัน ชนเผ่าถู่เจียส่วนใหญ่จะเฉลิมตรุษจีนในวันส่งท้ายปีเก่าเช่นเดียวกับชาวฮั่น แต่มีประเพณีที่พิเศษอย่างหนึ่ง คือ ชนเผ่าถู่เจียจะกินข้าวมื้อสำคัญที่สุดในช่วงเช้าตรู่ของวันส่งท้ายปีเก่า เพื่อที่ต้องการจะทานข้าวไปพลาง ขณะท้องฟ้าสว่างค่อย ๆ สว่างขึ้น ชีวิตครอบครัวก็ย่อมจะสว่างขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อทานข้าวเสร็จแล้วสมาชิกครอบครัวจะไปที่พื้นที่ฝังศพของบรรพบุรุษ จัดพิธีเซ่นไหว้ จุดธูปจุดเทียน คุกเข่ากราบไหว้บรรพบุรุษ ระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย  ชาวเผ่าถู่เจียจะจัดกิจกรรมหลากหลายอย่างคึกคัก ต่อจากนั้น ชาวถู่เจียก็เสร็จสิ้นการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน และเริ่มการทำนาในปีใหม่

ชนเผ่ามองโกเลีย มีจำนวนประชากรประมาณ 7 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน และเขตซินเจียง สามมณฑลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ในขณะที่มณฑลชิงไห่และมณฑลเหอเป่ยก็มีชนเผ่ามองโกเลียอาศัยอยู่จำนวนหนึ่งเช่นกัน ในสมัยก่อน ชนเผ่ามองโกเลียกำหนดเทศกาลปีใหม่ตามปฏิทินของตัวเอง ซึ่งเรียกว่า เดือนขาว ต่อมาสมัยราชวงศ์หยวน ชนเผ่ามองโกเลียได้ใช้ปฏิทินจันทรคติของชนเผ่าฮั่น ทำให้เดือนขาวของชาวมองโกเลียอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับเทศกาลตรุษจีน โดยมีประเพณีต่าง ๆ  เช่น เที่ยงคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้องกินเกี๊ยวน้ำ และจุดประทัดต้อนรับปีใหม่เช่นเดียวกับชนเผ่าฮั่น นอกจากนี้แล้ว ยังต้องทานอาหารอย่างหนึ่งที่เรียกว่า  “โส่ว ป่า โร่ว” ซึ่งก็คือซี่โครงแกะ เพื่อแสดงว่า ครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน

图片默认标题_fororder_3

วันส่งท้ายปีเก่าจะมีบรรยากาศคึกคักมากที่สุดในช่วงเทศกาลตรุษจีน  สมาชิกครอบครัวทุกคนจะใส่เสื้อผ้าใหม่ทั้งหมด ในช่วงเช้าจะถวายบูชาพระพุทธรูป และติดกลอนคู่ ความแตกต่างอยู่ที่กลอนคู่ของชาวเผ่ามองโกเลียจะเขียนเป็นภาษามองโกล เมื่อถึงตอนค่ำ เตรียมอาหารเย็นเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษก่อนแล้วจึงจะเริ่มทานอาหารเย็นฉลองปีใหม่ร่วมกัน ชาวเผ่ามองโกเลียมีประเพณีเตรียมอาหารปริมาณมาก ๆ กินอิ่มแล้วยังต้องมีเหลือไว้ เพื่อที่จะเป็นสัญลักษณ์ว่า จะมีกินมีใช้มากพอไม่อดอยากในปีใหม่ที่มาถึง คืนวันนั้น ทั้งครอบครัวจะทานข้าว ดื่มสุราอย่างสนุกสนานจนถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น วันแรกของปีใหม่ ทุกคนจะอวยพรกันและกัน โดยคำทักทายแรกต้องกล่าวว่า “สวัสดีปีใหม่ ” และจะไม่พูดอย่างอื่น เช่น ขอให้ร่ำรวย หรือขอให้สมปรารถนา ขณะไปเยี่ยมญาติ ต้องเตรียมเหล้าและ “ห่าต๋า” ซึ่งก็คือผ้าพันคอสีน้ำเงิน ในพื้นที่ปศุสัตว์ เวลาเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ไม่ว่าก่อนเดินทางจะได้ทานข้าวมาหรือไม่ เจ้าของบ้านก็จะเตรียมเกี๊ยวต้มเพื่อเป็นการต้อนรับ

ชนเผ่าทิเบต มีประชากรกว่า 6 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้างทิเบต นอกจากนี้แล้ว ในพื้นที่มณฑลชิงไห่ กันซู่ หยุนหนาน  และเสฉวนก็มีชนเผ่าทิเบตอาศัยอยู่จำนวนหนึ่งเช่นกัน นักวิชาการด้านชนเผ่าทิเบตกล่าวว่า ในสมัยโบราณ เทศกาลปีใหม่ของชนเผ่านี้ ไม่ได้อยู่ในช่วงระหว่างฤดูหนาวไปฤดูใบไม้ผลิ แต่กลับอยู่ในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในเขตทิเบต ฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่ข้าวสาลีสุก ดังนั้น ชาวเผ่าทิเบตจึงถือว่า ช่วงข้าวสาลีสุกเป็นจุดเริ่มต้นของปี ในขณะเดียวกัน พื้นที่บางแห่งของเขตทิเบตก็ถือช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวข้าวสาลีเป็นการเริ่มต้นปี เช่นบริเวณพื้นที่กงปู้ ซึ่งก็คือบริเวณอำเภอหลินจือในปัจจุบัน ต่อมา ศตวรรษที่ 13 ราชวงศ์ซ่าเจียปกครองเขตทิเบต ได้กำหนดเวลาเทศกาลปีใหม่อยู่ที่เดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของชนเผ่าทิเบต และสืบทอดมาถึงจนถึงทุกวันนี้

图片默认标题_fororder_4

ช่วงเทศกาลปีใหม่ ชาวทิเบต ทุกคนมักตั้งใจแต่งตัว ใส่เสื้อผ้าใหม่ สวมสร้อยคอ สร้อยข้อมือ และเครื่องประดับหลากสีสัน แม้ว่าคนจนก็จะพยายามหาเครื่องประดับชิ้นเล็ก ๆ มาใส่ เนื่องจากชาวทิเบตให้สาเหตุว่า ชาวทิเบตเป็นคนชอบความสวยความงาม อีกประการหนึ่งคือ ชาวทิเบตเชื่อว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เทพเจ้าที่ช่วยปกปักรักษาชาวทิเบตจะไปสำรวจการใช้ชีวิตของชาวทิเบตบนสวรรค์ เมื่อเห็นชาวทิเบตใส่เสื้อผ้าใหม่สีสดสวย หน้าตาทุกคนเต็มไปด้วยร้อยยิ้ม เทพเจ้าองค์นั้นก็จะรู้สึกดีใจ และให้พรแก่ชาวบ้านมากยิ่งขึ้นในปีถัดมา หากพบว่า ชาวทิเบตใส่เสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง เทพเจ้าจะรู้สึกว่า ชาวทิเบตไม่ขยันทำงานเพื่อมีชีวิตที่ดี แม้เทศกาลใหญ่สุดของปีก็ยังไม่สามารถหาซื้อเสื้อใหม่ได้สักตัว ทำให้เทพเจ้าผิดหวังกับชาวทิเบต แล้วจะไม่ปกป้องดูแลดินแดนแห่งนี้อีก

ในช่วงเทศกาลตรุษจีนชาวทิเบตจะใช้เหล้าชิงเคอ ชาซูโหยว และขนมท้องถิ่นต้อนรับแขก คนหนุ่มสาวจะรวมตัวกันที่สนามกีฬา เพื่อแข่งขันขี่ม้า ยิงธนู และเล่นชักคะเย่อ เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขัน ทุกคนจะนั่งล้อมเป็นวงกลมรอบกองไฟขนาดใหญ่ เพื่อร้องเพลง เต้นรำกันกันอย่างสนุกสนาน เช้าตรู่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ก่อนฟ้าสาง สตรีในครอบครัวจะออกจากบ้านไปตักน้ำมงคลในแม่น้ำ ชาวเผ่าจ้างเชื่อว่า น้ำที่ตักในวันแรกของปีใหม่จะนำความสุข และโชคลาภมาสู่ครอบครัว

วันขึ้น 5 ค่ำ เดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติของชนเผ่าทิเบต จะมีการจัดพิธีเริ่มไถนาในปีใหม่ โดยในวันนี้ ไม่เพียงแต่ชาวบ้านจะแต่งตัวสวยงาม สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องเลือกวัวที่ตัวใหญ่แข็งแรงที่สุด และใช้เทอร์ควอยซ์ เปลือกหอย ธง ขนนก และผ้าไหมที่มีสีสันหลากหลายมาประดับวัวตัวนี้อย่างประณีต เพื่ออวยพรให้ปีใหม่ที่มาถึงมีการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์

อันที่จริงแล้ว ยังมีชนกลุ่มน้อยอีกกว่า 40 เผ่าในประเทศจีนที่ยังไม่ได้กล่าวถึง แต่ละชนเผ่าล้วนมีประเพณีที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เราจะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าชนเผ่าฮั่น หรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในจีนก็มักจะมีพิธีเซ่นไหว้ รำลึกบรรพบุรุษ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมจีนที่ในการให้ความเคารพต่อบรรพบุรุษของชนชาติจีน และไม่ว่าประเพณีการฉลองเทศกาลตรุษจีนหรือเทศกาลปีใหม่ของชนเผ่าต่าง ๆ จะมีความหลากหลายมากเพียงไร ทั้งหมดนี้ก็ล้วนแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาอันดีของประชาชนที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคตนั่นเอง

(Tim/Zi)

ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face
404 Not Found

404 Not Found


nginx