2019-02-19 11:42CRI
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การประชุมความมั่นคงมิวนิก ครั้งที่ 55 ที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 3 วันสิ้นสุดลงที่เยอรมัน ข้อริเริ่มของจีน เยอรมัน รัสเซียที่เสนอระหว่างการประชุมครั้งนี้ โดยให้รักษากลไกพหุภาคี และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศนั้นได้รับการตอบรับและเสียงสนับสนุนจากผู้ร่วมการประชุมทั่วโลกอย่างกว้างขวาง ซึ่งทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ความร่วมมือเป็นความต้องการในยุคนี้ และกลไกพหุภาคีเป็นแนวทางที่ถูกต้องสำหรับการพัฒนาของมวลมนุษยชาติ และเป็นแนวโน้มการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ
เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว นายหยาง เจี๋ยฉือ กรรมการกรมการเมือง คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์แห่งชาติจีนที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ได้นำเสนอ 4 ข้อเสนอต่อที่ประชุม นั่นก็คือ ประการแรก ต้องเคารพซึ่งกันและกัน สร้างความสัมพันธ์ที่เป็นหุ้นส่วน เพื่อให้เกิดการเจรจา และไม่เป็นปรปักษ์ ประการที่สอง ต้องร่วมแรงร่วมใจในการรักษาความมั่นคงทั่วโลก พร้อมทั้งริเริ่มส่งเสริมแนวความคิดเกี่ยวกับความมั่นคงแบบใหม่ที่มีความปลอดภัยร่วมกัน ครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง มีความร่วมมือที่ยั่งยืน ประการที่สาม ยึดมั่นในแนวความคิดในชัยชนะร่วมกัน เพื่อแสวงหาหนทางแห่งการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของโลก และประการสุดท้าย ขับเคลื่อนและปรับปรุงการบริหารโลก โดยผ่านการปฏิรูปและการพัฒนานวัตกรรม
จากข้อเสนอ และการคำตอบคำถามของนายหยาง เจี๋ยฉือ ระหว่างการประชุมในครั้งนี้จะเห็นได้ชัดว่า ปีหลังๆ ที่ผ่านมา กิจการทางการทูตของจีนได้ยึดมั่นแนวทางการสร้าง “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ” ที่เสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แนวความคิดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลัก 5 ประการแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ปัจจุบัน จีนในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกมีความสามารถที่จะแบกรับภาระหน้าที่ระหว่างประเทศได้มากขึ้น แต่จะไม่ตกอยู่ในกับดักธูสิดีดิส” (Thucydides’s Trap) อย่างที่ประเทศตะวันตกกังวล เพราะว่า นโยบายการต่างประเทศของจีนยึดมั่นในหลักการเจรจา และไม่เป็นปรปักษ์ต่อกัน จีนไม่มีเจตนาที่จะทำเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ในประวัติศาสตร์ของประเทศตะวันตกที่จะไปท้าทายระเบียบโลกที่ประเทศมหาอำนาจเดิมได้สร้างขึ้น ด้วยวิธีการทางการทหารและการเมือง สิ่งที่จีนต้องการคือ การยกระดับการพัฒนาของมวลมนุษยชาติโดยผ่านการเจรจา และความร่วมมือบนพื้นฐานหลัก 5 ประการแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และดำเนินการภายใต้กรอบของสหประชาชาติ
นโยบายการต่างประเทศในยุคใหม่ของจีนได้รับการชื่นชมและสนับสนุนจากประเทศส่วนใหญ่ ระหว่างการประชุมความมั่นคงครั้งนี้ นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมันกล่าวว่า เอกภาคีนิยม (unilateralism) เป็นภัยคุกคามต่อระเบียบโลกที่สร้างขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอเน้นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นควรพิจารณาในแง่ผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งมีตัวอย่างที่ดีอยู่แล้ว คือจีนได้ช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาของประเทศแอฟริกา แต่นายไมเคิล ริชาร์ด เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯกลับเรียกร้องให้สหภาพยุโรปคล้อยตามนโยบายของสหรัฐฯ เรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างยุโรปกับรัสเซีย พร้อมทั้งเน้นว่า สหรัฐฯเป็นประเทศที่เข้มแข็งที่สุดในโลก ความมุ่งมั่นตั้งใจของสหรัฐฯจะไม่สั่นคลอน
ผู้ร่วมการประชุมในครั้งนี้พากันตบมือให้กับนางอังเกลา แมร์เคิลหลังเธอกล่าวคำปราศรัย แต่สำหรับ นายไมเคิล ริชาร์ด เพนซ์ ไม่ได้รับเสียงตบมือจากผู้เข้าร่วมการประชุม จากนี้คงเห็นได้ชัดว่า ประเทศส่วนใหญ่ต้องการให้โลกเดินไปบนหนทางแห่งความเป็นเอกภาคีนิยม หรือความเป็นพหุภาคีนิยมที่จะนำมาซึ่งความร่วมมือและการเจรจา
(bo/cai)