2019-03-04 11:20CRI
วันแรกที่หลาง ผิง เข้าไปในสนามกีฬาของทีมชาติ เธอพบว่า ข้างในมีป้ายคำขวัญแขวนอยู่บนผนังอย่างโดดเด่นเขียนว่า “มานะอดทนเพื่อเอาชนะทีมญี่ปุ่นและทีมเกาหลีใต้” เวลานั้น นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติญี่ปุ่นเข้มแข็งมาก ทำสถิติชนะการแข่งขันต่อเนื่องถึง 175 นัด อีกทั้งยังเป็นแชมป์โลกติดต่อกัน 3 สมัย เป็นทีมที่มีเทคนิคสมบูรณ์มาก ส่วนทีมเกาหลีใต้ก็เป็นทีมที่จีนยากจะเอาชนะ ด้วยเหตุนี้ หากว่าจีนจะเป็นแชมป์เอเชีย ก็ต้องเอาชัยชนะทั้งสองทีมนี้ให้ได้ก่อน เรื่องคว้าแชมป์โลกไม่ได้คิดเลย ช่วงนั้น ทุกวันคิดแต่เรื่องเดียวก็คือ เราฝึกอย่างนี้ เล่นอย่างนี้ เอาชนะทีมญี่ปุ่นได้หรือไม่ มีแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว ชีวิตประจำวันในทีมชาติก็ไป ๆ มา ๆ ระหว่างสนามกีฬา โรงอาหาร และหอพักเท่านั้น
ตอนที่หลาง ผิง อยู่ในทีมชาติจีน ผู้ฝึกสอน คือ นายหยวน เหว่ยหมิน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดในการฝึกสอนไปทั่วโลก หลาง ผิง เผยเคล็ดลับในการฝึกสอนทีมชาติจีนของนายหยวน เหว่ยหมินว่า ตอนนั้น บรรดานักกีฬาส่วนใหญ่มีอาการเวียนหัวขณะโดยสารรถยนต์และเครื่องบิน นายหยวน เหว่ยหมิน จึงนำทีมชาติจีนไปฝึกที่สหรัฐฯ ระหว่างการเดินทางครั้งนั้น ทีมจีนต่อเครื่องบินหลายครั้ง รวมเวลาเดินทางกว่า 30 ชั่วโมง พอถึงสหรัฐฯ นายหยวน เหว่ยหมิน ก็สั่งให้นักกีฬารีบเปลี่ยนเสื้อผ้าลงสนาม เริ่มฝึกซ้อมการเล่นเหมือนเป็นปกติ ผลปรากฏว่า บรรดานักกีฬาเหนื่อยล้ามาก หลายคนมีอาการอาเจียน แม้แพทย์ประจำทีมยังรู้สึกว่าเป็นการฝึกซ้อมที่มากไป แต่นายหยวน เหว่ยหมิน ให้เหตุผลว่า เราไม่มีทางมาถึงสถานที่แข่งขันในต่างประเทศได้ล่วงหน้าเกินหนึ่งสัปดาห์เพื่อจะได้มีเวลาปรับตัวและเปลี่ยนเขตเวลา บางที เราเดินทางถึงสถานที่แข่งขันแล้ว วันรุ่งขึ้นก็ต้องเข้าร่วมการแข่งขัน ไม่มีใครสนใจว่าคุณจะแพ้การเดินทางด้วยเครื่องบินหรือคุณจะเปลี่ยนเขตเวลาไม่ทัน อย่างไรก็ตามคุณก็ต้องไปเข้าร่วมการแข่งขัน
หลาง ผิง ยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง คือ หลาง ผิง พร้อมกับเพื่อนร่วมทีมไม่ชอบอาหารฝรั่ง เวลาเดินทางไปแข่งในต่างประเทศ พวกเธอนิยมกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่นำติดตัวมาจากบ้าน นายหยวน เหว่ยหมิน เห็นแล้วจึงบังคับให้พวกเธอฝึกกินสเต็กเนื้อคนละชุด ใครกินเสร็จก่อนไปก่อน ส่วนนายหยวน เหว่ยหมิน จะนั่งรออยู่ข้าง ๆ จนคนสุดท้ายกินหมด หลาง ผิง บอกว่า ตอนนั้นรู้สึกสเต็กเนื้อไม่ถูกปาก กลืนไม่ลง จำเป็นต้องผสมกับผักดองหรือพริกไทยเพื่อให้ทานได้ แต่ปัญหาเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับทีมนักกีฬาจีนแล้วตอนนี้
ทีมจีนสามารถคว้าแชมป์เอชียเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1979 คือ ปีที่ 2 ที่หลาง ผิงเข้าร่วมทีมชาติจีน ในการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย ทีมจีนชนะทีมญี่ปุ่น 3 ต่อ 1 ได้คว้าแชมป์เอเชียเป็นครั้งแรก
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1981 ประชาชนจีนทั่วประเทศพากันรีบทำงานให้เสร็จ เพื่อที่จะกลับบ้านไปรอชมถ่ายทอดสดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ วอลเลย์บอลเวิลด์คัพ ครั้งที่ 3 ทางโทรทัศน์ในช่วงหัวค่ำ ระหว่างทีมชาติจีนและทีมชาติญี่ปุ่น การแข่งขันเป็นเวลา 2 ชั่วโมง 5 นาทีสิ้นสุดลง ในที่สุดทีมจีนสามารถเอาชนะญี่ปุ่นได้อย่างหวุดหวิด ด้วยคะแนน 3 ต่อ 2 คว้าแชมป์โลกครั้งแรกเป็นผลสำเร็จ ในขณะที่หลาง ผิง ได้รับการคัดเลือกเป็นนักกีฬาดีเด่นในแข่งขันครั้งนี้ด้วย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลาง ผิง จึงเป็นที่รู้จักกันดีของประชาชนจีน
หลาง ผิง สูง 1.84 เมตร เป็นนักกีฬาสูงที่สุดในทีมชาติจีน เธอสามารถกระโดดแตะถึงระดับความสูง 3.17 เมตรได้ ในทีม หลาง ผิง รับตำแหน่งตัวตีด้านนอก หรือ ตัวตีหัวเสา ทำหน้าที่บุกจากเสาอากาศด้านซ้าย เธอมักจะเป็นตัวตบที่คงเส้นคงวาที่สุดของทีม โดยจะไม่เปิดโอกาสให้คู่แข่งทำคะแนนได้ ลูกบอลที่ตีมาจากมือของหลาง ผิง แรงจนไม่มีใครรับได้ เธอจึงได้ฉายาว่า “ค้อนเหล็ก”
หลังจากทีมจีนคว้าชัยชนะในการแข่งขันทั้งหมด 28 นัดใน 7 รอบของการแข่งขันวอลเลย์บอลเวิลด์คัพ ครั้งที่ 3 ประชาชนทั่วประเทศเห็นกับตาว่า แชมป์โลกได้มายากเพียงไร ทีมจีนต่อสู้กันอย่างอดทนและเต็มที่ ตั้งรับบอลที่มาจากทุกทิศโดยไม่คำนึงถึงความบาดเจ็บเพื่อพยายามทำทุกคะแนน น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ เมื่อทีมจีนคว้าแชมป์โลกได้แล้ว ประชาชนจีนทั้งประเทศจึงรู้สึกภูมิใจ ตื่นเต้น และเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ เสียงเชียร์ดังสนั่นเมือง ชาวปักกิ่งออกไปชุมนุมกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมินใจกลางกรุงปักกิ่ง บรรดานักศึกษาเดินขบวนและส่งเสียงเรียกตะโกนว่า สามัคคีกันเพื่อสร้างสรรค์ประชาชาติจีนให้เจริญรุ่งเรือง ตั้งแต่นั้นมา หลาง ผิง ได้ ตระหนักว่า การเล่นกีฬาของเธอไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องใหญ่ของบ้านเมือง
ภายในเวลาหนึ่งเดือนหลังจากทีมจีนคว้าแชมป์โลก ทีมวอลเลย์บอลหญิงของจีนได้รับโทรเลขแสดงความยินดี จดหมายยกย่อง และของขวัญจากทั่วประเทศกว่า 30,000 ชิ้น ด้านไปรษณีย์จีนได้ออกสแตมป์ที่ระลึกให้ทีมจีนด้วย หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของทางการจีนรายงานข่าวนี้ในหน้าแรก โดยพาดหัวข่าวว่า เจตนารมณ์ของนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีนสร้างความทันสมัยแก่บ้านเมือง อีกทั้งยังมีคอลัมน์โดยเฉพาะว่า “ปฏิบัติการที่รูปธรรมในการเข้าใจเจตนารมณ์ของทีมวอลเลย์บอลหญิงจีน” ด้วยเหตุนี้ แวดวงต่าง ๆ ในจีนต่างพากันใช้รูปแบบอันหลากหลายในการเรียนรู้จากทีมนักกีฬาจีนที่ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น กรรมกรในโรงงานต่างสมัครทำงานนอกเวลา นอกจากนี้ ในทุกวันจะเร่งผลิตให้มากกว่าและก่อนกว่าที่กำหนดไว้
สำหรับจีน วอลเลย์บอลไม่ใช่เพียงเรื่องกีฬา หากแต่ซึมซับเข้าไปในแง่มุมต่าง ๆ ของสังคม หลังจากจีนคว้าแชมป์วอลเลย์บอลเวิลด์คัพเมื่อปี ค.ศ.1981 แล้ว ต่อมาปี ค.ศ.1982 ในการแข่งขันวอลเลย์บอลแชมป์ชิงโลก ครั้งที่ 9 ทีมจีนสามารถเอาชนะเปรู คว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 2 ปี 1984 ในงานกีฬาโอลิมปิกที่เมืองลอสแอนเจลิส ทีมจีนสามารถเอาชนะสหรัฐฯ เจ้าภาพไปด้วยคะแนน 3 ต่อ 0 เซต คว้าเหรียญทอง ต่อมาในการแข่งขันเวิลด์คัพ ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นที่ญี่ปุ่นใน ค.ศ.1985 และในการแข่งขันวอลเลย์บอลแชมป์โลก ครั้งที่ 10 ที่เชโกสโลวาเกีย ในปี ค.ศ.1986 ทีมจีนสามารถคว้าแชมป์ สร้างประวัติศาสตร์การเป็นแชมป์โลกติดต่อกัน 5 สมัย ด้วยเหตุนี้ ทีมวอลเลย์บอลหญิงของจีน จึงถือเป็นสัญลักษณ์แห่งทศวรรษปี 1980 ของจีน
ในช่วงนี้ หลาง ผิง ได้แสดงบทบาทสำคัญในทีมอย่างที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน นอกจากนี้ เธอยังพัฒนาตัวเองจากสมาชิกธรรมดาจนกลายเป็นหัวหน้าทีมชาติ ขณะทบทวนวันเวลาในทีมชาติจีน หลาง ผิง บอกว่า ความกล้าสู้ เป็นจิตวิญญาณของทีมชาติจีน การที่ทีมจีนสามารถคว้าแชมป์โลกได้ก็เพราะว่า สมาชิกในทีมทุกคนร่วมมือกันสู้ เจตนารมณ์ของทีมวอลเลย์บอลหญิงของจีนเป็นสิ่งที่หลอมรวมจิตใจของประเทศอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในเวลาที่ประสบความยากลำบากหรืออุปสรรคต่าง ๆ การที่ทีมจีนไม่ยอมแพ้ต่ออะไรง่าย ๆ หรือถึงแม้จะแพ้ ก็ต้องแสดงให้เห็นถึงฝีมือและเทคนิคของเรา ไม่ว่าเมื่อใด ทีมวอลเลย์บอลหญิงของจีนจะไม่หยุดนิ่งไปตลอด