2019-03-20 15:05CRI
แรงบันดาลใจเกิดขึ้นไม่ยาก แต่ในทางปฏิบัติไม่ง่าย หลังจากเดินทางไปหารือกับเขตชุมชนต่างๆ เป็นเวลา 4 เดือนกว่า ไม่มีเขตชุมชนใด ที่ยอมให้ทีมนักศึกษาอาสาสมัครของจาง เจียซินไปให้บริการ แต่เยาวชนที่มีใจรักกลุ่มนี้ก็ไม่ท้อ เริ่มประชาสัมพันธ์ออกไปในชุมชนที่กว้างขึ้น ในที่สุด เขตชุมชนโหย่วซื่อในเขตไห่เตี้ยนในกรุงปักกิ่ง เห็นถึงความตั้งใจจริงของบรรดาหนุ่มสาวกลุ่มนี้ กลายเป็นเขตชุมชนแรกที่ยินดีต้อนรับพวกเขามาให้บริการ จาง เจียซินกับลูกทีมสี่ห้าคน ขี่จักรยานนานกว่า 1 ชั่วโมงจากมหาวิทยาลัยมาถึงเขตชุมชน ติดตั้งโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมสอนผู้สูงอายุใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน รณรงค์ให้อากงอาม่าเข้าร่วมกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในทุกวันเสาร์-อาทิตย์
ครั้งแรกที่นักศึกษาอาสาเหล่านี้นำผลไม้และดอกทานตะวันที่ซื้อมาฝากผู้สูงอายุ มาถึงห้องกิจกรรมในเขตชุมชนโหย่วซื่อตามนัด จาง เจียซินรู้สึกใจหายเพราะไม่มีผู้สูงอายุสักคน เข้ามารอการสอนของพวกเขา พวกเขาจึงต้องกางโปสเตอร์กลางถนนในเขตชุมชนเพื่อโน้มน้าวใจผู้สูงวัยที่เดินผ่าน ให้เรียนทักษะการใช้คอมฯ ใช้มือถือกันในห้องกิจกรรม พวกเขาบอกว่า สอนบ้างสาธิตบ้าง เรียนไม่ยากแถมยังมีผลไม้ให้ทานด้วย แต่ตลอดช่วงบ่ายที่พวกเขาอยู่ที่ห้องกิจกรรมในเขตชุมชน มีผู้สูงอายุเพียง 5 – 6 คนมาเรียนใช้คอมฯ และมือถือกับพวกเขาเท่านั้น
เมื่อกลับถึงมหาวิทยาลัย จาง เจียซินกับเพื่อนๆ คิดว่า ต้องมีกลยุทธ์ในการดึงความสนใจจากคนชราให้ได้ก่อน ถึงจะมี “นักเรียน” มาเข้าชั้นเรียน ดังนั้น ครั้งที่ 2 ที่พวกเขาไปถึงเขตชุมชน ลูกทีมหลายคนที่เก่งเรื่องศิลปวัฒนธรรมได้แสดงการเล่นกีตาร์และการเขียนศิลปะพู่กันจีนที่ห้องกิจกรรม จำนวนคนชราที่เข้ามาชม ส่วนใหญ่กลายเป็นนักเรียนของพวกเขา เมื่ออากงอาม่ารู้สึกว่าเรียนจนเหนื่อยเมื่อยตาแล้ว ก็มีนักศึกษาอาสาสมัครพาไปเล่นยิมออกกำลังกายนอกห้อง ตั้งใจไม่ให้อากงอาม่ารู้สึกเบื่อในกระบวนการเรียนการสอน
ที่สำคัญคือ จาง เจียซินกับลูกทีมคิดวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ โดยสอนแบบ “ตัวต่อตัว” ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เน้นสาธิตการปฏิบัติทุกอย่างช้าๆ จำง่าย แล้วให้คนชราลงมือทำ ฝึกกี่ครั้งก็ไม่เบื่อจนกว่านักเรียนเหล่านั้นจะทำได้จริงๆ ต่อมา จำนวนผู้สูงวัยในชุมชนที่มาเรียนก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความพยายามอย่างไม่ลดละของนักศึกษาอาสากลุ่มนี้ ขณะนี้ผู้สูงอายุนับร้อยคนในเขตชุมชนสามารถใช้สมาร์ทโฟนคุย wechat นัดพบหมอผ่านแอพลิเคชั่น (App) ของ โรงพยาบาล และชำระเงินออนไลน์ได้อย่างคล่องแคล่ว
คุณป้าแซ่ซุนคนหนึ่งในเขตชุมชนโหย่วซื่อเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อน ถึงวันที่ไปหาหมอ ฉันต้องตื่นแต่เช้า รีบเดินทางไปถึงโรงพยาบาลก่อนฟ้าสาง เพื่อแย่งชิงคิวในการพบหมอที่มีอยู่จำกัดในแต่ละวัน ที่หน้าต่างบริการของโรงพยาบาล ลำบากมาก เพราะตอนนั้นยังไม่รู้จักการใช้สมาร์ทโฟนนัดพบหมอออนไลน์ แต่หลังจากเรียนรู้วิธีการทำกับนักศึกษาอาสาเหล่านี้แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างง่ายและสะดวกมาก ไม่ต้องกลัวไม่ได้คิว และยังสามารถเลือกหมอและโรงพยาบาลที่เหมาะสมด้วย ส่วนคุณลุงอายุ 70 อีกคนหนึ่งบอกว่า จาง เจียซินกับทีมงานกลายเป็นแขกประจำของชุมชนไปนี้แล้ว ทุกครั้งที่พวกเขามาสอน ห้องกิจกรรมในเขตชุมชนจะเต็มไปด้วยนักเรียนสูงวัย
หลังจากประสบความสำเร็จจากเขตชุมชนโหย่วซื่อ ซึ่งเป็นเขตชุมชนแรกแล้ว จาง เจียซินกับอาสาสมัครทั้งหลายเริ่มค้นหาเขตชุมชนแห่งที่ 2 และแห่งที่ 3 เพื่อให้โครงการช่วยเหลือผู้สูงอายุ “ซีหยางไจ้เฉิน” ดำเนินการต่อ ตั้งแต่ปี 2012 ทีมงานก็พยายามหาเงินทุนในการดำเนินกิจการ โดยร่วมกันแจกโฆษณาริมถนน และขายไอศกรีมในย่านการค้า สร้างรายได้กว่า 3,000 หยวน และใช้เงินจำนวนนี้ในการจัดกิจกรรมอาสาทั้งหมด
ต่อมา โครงการช่วยเหลือผู้สูงอายุ “ซีหยางไจ้เฉิน” ของจาง เจียซินกับเพื่อนๆ ได้รับการรับรองและเงินสนับสนุนจากมูลนิธิพัฒนาเยาวชนแห่งประเทศจีน ทำให้เครือข่ายการบริการของพวกเขาก็ขยายตัวกว้างขึ้นจนครอบคลุม 4 เขตชุมชนในปักกิ่ง หลังจากนั้นไม่นาน รูปแบบการให้ความช่วยเหลือกับผู้สูงอายุของพวกเขาก็ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน
พร้อมๆ ไปกับสังคมปักกิ่งยอมรับ “รูปแบบ” และเนื้อหาจิตอาสาของ “ซีหยางไจ้เฉิน” มากขึ้น จำนวนเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่เข้าร่วมทีมก็เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในปักกิ่งและอีกหลายพื้นที่ของจีน เช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยประชาชน วิทยาลัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง มหาวิทยาลัยการเมืองและกฎหมายภาคตะวันออกของจีน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ภาคกลางของจีน พากันสมัครเข้าร่วมโครงการ “ซีหยางไจ้เฉิน” จนถึงสิ้นปี 2018 มี สถาบันอุดมศึกษากว่า 100 แห่งจาก 19 เมืองที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางและมณฑลได้จัดตั้งทีมนักศึกษาอาสาสมัครช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อยู่ใต้สังกัดของโครงการ “ซีหยางไจ้เฉิน”
จาง เจียซินกล่าวว่า มีแต่เดินเข้าถึงเชตชุมชน พวกเราจึงจะรับทราบความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง ช่วงแรกเริ่มการสอนผู้สูงวัยที่เขตชุมชนโหย่วซื่อ นักศึกษาอาสมัครส่วนใหญ่รู้จักแต่อ่านตามเนื้อหาที่เขียนไว้ใน PPT ยกตัวอย่าง graphics card คืออะไร คอมพิวเตอร์มีส่วนประกอบอะไรบ้าง แต่คนชราไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ แต่เมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ นักศึกษาอาสาสมัครก็ค่อยๆ รับทราบว่า สิ่งที่คนชราอยากเรียนจริงๆ เช่น ทำอย่างไรจึงจะดาวน์โหลดเพลงกับดนตรีผ่านอินเตอร์เน็ต ใช้ซอฟท์แวร์ธนาคารอินเตอร์เน็ตโอนเงินหรือชำระเงินอย่างไร เป็นต้น