2019-05-16 11:39CRI
สถานีวิทยุซีอาร์ไอรายงานว่า วันที่ 15 พฤษภาคม นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวกลุ่มสื่อวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีนว่า ข้อเสนอของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในการกล่าวสุนทรพจน์ในการเปิดประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชียในครั้งนี้นั้นถือว่า เป็นพื้นฐานหลักการในการที่คนทั่วโลกจะร่วมกันศึกษา ร่วมกันแลกเปลี่ยน และร่วมกันค้นคว้าอารยธรรมซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ วันเดียวกัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชีย โดยมีการเสนอข้อเสนอ 4 ประการได้แก่ 1.ประเทศต่างๆ ต้องเคารพซึ่งกันและกัน และปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน 2.ต้องยกย่องส่งเสริมอารยธรรมของประเทศอื่น และพัฒนาอารยธรรมของตนให้พัฒนาพร้อมกัน 3.ต้องยืนหยัดในการเปิดประเทศสู่ภายนอก มีการเกื้อกูลกัน แลกเปลี่ยนกัน และศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และ4. ต้องพัฒนาตามกระแสของยุคสมัย และมีการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา
โดยนายพินิจ จารุสมบัติ กล่าวว่า ข้อเสนอของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในการกล่าวสุนทรพจน์ในการเปิดประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชียในครั้งนี้นั้น ถือว่าเป็นข้อเสนอที่กว้างไกลและมีความลึกซึ้ง มีความหมายและความสำคัญต่อการพัฒนาอารยธรรมของเอเชียและของโลกร่วมกัน เป็นพื้นฐานหลักการในการที่คนทั่วโลกจะร่วมกันศึกษา ร่วมกันแลกเปลี่ยน และร่วมกันศึกษาอารยธรรมซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอารยธรรมในชนชาติเอเชียด้วยกัน เขาเห็นว่า คำกล่าวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงนั้น เป็นคำกล่าวที่เป็นรูปธรรม มีความหมาย และมีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติในการร่วมกันพัฒนาศึกษาค้นคว้า แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน
นายพินิจ จารุสมบัติ ยังกล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ การประชุมใหญ่ทางด้านวัฒนธรรม อารยธรรมขนาดนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และก็เป็นการแลกเปลี่ยนที่นำเอาชนชาติ วิถีของชุมชนนานาประเทศมาแลกเปลี่ยนกัน มาร่วมกันศึกษา แล้วก็ผนึกกำลังในการแสวงหาความสงบสุข ความร่วมมือในด้านต่างๆ ร่วมกัน ไม่ว่าในด้านการท่องเที่ยว การค้า เศรษฐกิจ การลงทุนและการกีฬา การแลกเปลี่ยนทุกอย่างมาจากการร่วมมือด้านอารยธรรมซึ่งกันและกัน การจัดประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ของโลก ทำให้โลกเกิดสันติสุข เกิดความขัดแย้งน้อยลง ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศต่างๆ
นายพินิจ จารุสมบัติ ทิ้งท้ายว่า จีนกับไทยนั้น มีวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานของความแข็งแกร่งมาก มั่นคงมาก เพราะว่าผู้นำจีนและไทยได้มีความเห็นชอบด้วยกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนเป็นความสัมพันธ์พิเศษ คือเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นพี่น้องกัน ฉะนั้น การแลกเปลี่ยนทางด้านอารยธรรม วัฒนธรรม การศึกษาและด้านอื่นๆ ระหว่างจีนไทยมีมาช้านานมาก ในยุคประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนนั้น ก็มีเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศหลายเรื่อง จนถึงปัจจุบันนี้ ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม การศึกษา การแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับจีนมีเพิ่มมากขึ้นทุกระดับ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีนพัฒนาในขั้นสูงมากในปัจจุบันนี้ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ตนเองจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับศักยภาพของจีนในการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมกับของประเทศไทยที่เชื่อมโยงกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีนมีความใกล้เคียงหรือเหมือนกันในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าเรื่องอาหาร การกินอยู่ ภาษา การต้อนรับแขก ระหว่างไทยกับจีนนั้นมีความใกล้เคียงกันมาก
(yim/cai)