2019-06-10 09:20CRI
เที่ยว “ซื่อเหอย่วน – บ้านล้อมลาน”
สัมผัสความงามสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของกรุงปักกิ่ง
“กรุงปักกิ่ง” เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมจีน มีประวัติศาสตร์การสร้างเมืองยาวนานกว่า 3,000 ปี และประวัติศาสตร์การสร้างกรุงกว่า 800 ปี โดยเริ่มเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงในสมัยราชวงศ์หยวน นำไปสู่การวางผังเมืองและสร้างกรุงขนาดใหญ่ และถือเป็นจุดกำเนิดของ “ซื่อเหอย่วน – บ้านล้อมลาน” ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง พร้อมกับกาลเวลาที่ผันผ่านไปเรื่อยๆ “ซื่อเหอย่วน” ได้กลายเป็นมนต์เสน่ห์ทางประวัติศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์ของกรุงปักกิ่ง ซึ่งความงามด้านสถาปัตยกรรมก็ไม่ได้สูญเสียคุณค่าของตนไปตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและสังคม
“ซื่อเหอย่วน” เป็นการก่อสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยแบบให้บ้าน 4 หลังร่วมกันใช้ลานบ้านเดียวกัน ดูแออัดแต่กลับมีความเป็นระเบียบในตัว โดยบ้านทั้งสี่ตั้งอยู่บนทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ล้อมลานบ้านไว้ตรงกลางพอดี จึงเป็นที่มีของชื่อเรียกว่า “ซื่อเหอย่วน” เพราะ “ซื่อ” แปลว่าสี่ “เหอ” แปลว่าล้อม “ย่วน”แปลว่าลานบ้าน การจัดโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่เป็นระเบียบและเรียบร้อยเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความงามทางสถาปัตยกรรมของ “บ้านล้อมลาน” ที่มีให้เห็นในกรุงปักกิ่งได้ชัดเจนที่สุด
แม้ว่า “ซื่อเหอย่วน” เป็นสถาปัตยกรรมด้านที่อยู่อาศัย แต่ก็มีความหมายทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งแฝงอยู่ การวาดลายและใช้สีแดงและสีเขียวประดับตกแต่ง เป็นลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของสถาปัตยกรรมโบราณของจีน ไม่ว่าจะเป็นกรอบหน้าต่างหรือตามระเบียง เป็นความโดดเด่นเฉพาะตัวท่ามกลางก้อนอิฐและะหลังคาสีเทา ทำให้เมื่อเดินเข้าสู่บ้าน “ซื่อเหอย่วน” ก็จะรู้สึกร่มรื่นและชื่นตาทันที
“สิ่งของมงคล” ถือเป็นเครื่องหมายทางวิถีชีวิตที่เห็นบ่อยมากที่สุดในบ้าน “ซื่อเหอย่วน” ของกรุงปักกิ่ง “ปลา” เป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภและมีเหลือกินเหลือใช้ทุกปี “ลิง” มีความหมายดีที่ว่า จะได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง “หงส์” เป็นสัญลักษณ์ของความกลมกลืนสมานฉันท์ระหว่างคู่สามีภรรยา มีความศิริมงคลในการใช้ชีวิต “ลูกทับทิม น้ำเต้าและองุ่น” จะมีความหมายว่า มีลูกหลานมากมายและมีความสุขสบาย ผู้คนจึงนิยมวาดสลักสิ่งสิริมงคลเหล่านี้บนผนังอิฐ หรือตัดกระดาษติดบนหน้าต่าง
ภาพวาดและลายแกะสลักสิ่งสิริมงคลที่หลากหลาย ตลอดจนดอกไม้ ต้นไม้ใบหญ้านานาชนิดในบ้าน “ซื่อเหอย่วน” ของกรุงปักกิ่ง จึงสะท้อนให้เห็นถึงความสวยงามของสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่ผสมผสานวัฒนธรรมและขนบประเพณีพื้นบ้าน
บ้านซื่อเหอย่วนของกรุงปักกิ่ง แฝงไว้ซึ่งความใกล้ชิดและอบอุ่นของครอบครัวจีน สมาชิกแต่ละบ้านมานั่งคุยกันกลางลานบ้าน ไปพร้อมกับถักเสื้อไหมพรม จัดผักสด ถือกรงนกเดินเล่น หรือนั่งเล่นหมากรุก ต่างคนต่างทำเรื่องของตน แต่ก็คุยกันอย่างสนุกสนานกันได้
บ้านซื่อเหอย่วนปักกิ่ง ถือว่าเป็นที่อยู่อาศัยที่เก็บความลับภายในไว้ได้อย่างดีมาก เนื่องจากล้อมโดยกำแพงสูง และแม้บ้านทั้งสี่ทิศต่างเป็นอิสระต่างครอบครัวกัน แต่กลับห่อหุ้มด้วยบรรยากาศที่ใกล้ชิดกลมเกลียวกัน และช่วงเวลาที่อบอุ่นสนุกสนานมากที่สุดภายในหนึ่งวัน ก็คือช่วงเวลารับประทานอาหาร เพราะจากหน้าต่างของทุกบ้าน จะมีกลิ่นหอมของอาหารโอชารสลอยออกมา บอกทุกคนว่า “ถึงเวลาแห่งความสนุกสนานที่อิ่มเอมแล้ว” นอกจากนี้ ลานบ้าน หลังคา อิฐ ต้นไม้ และเกือบทุกสิ่งอย่างในบ้านซื่อเหอย่วนล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความงามและเสน่ห์ที่ชวนค้นหาของกรุงปักกิ่ง
เมื่อเอ่ยถึงกรุงปักกิ่ง พลาดไม่ได้ที่จะต้องอธิบายถึงความพิเศษของหูท่ง!
"หูท่ง” เป็นตรอกซอยโบราณที่มีเอกลักษณ์ของกรุงปักกิ่ง หูท่งเหล่านี้ส่วนใหญ่สร้างในสมัยราชวงศ์หยวน หมิงและชิง โดยสร้างอยู่รายรอบบริเวณพระราชวังโบราณหรือวังต้องห้าม แรกเริ่มนั้นการจัดที่พักอาศัยในหูท่งจะกำหนดตามฐานะทางสังคม ยิ่งอยู่ใกล้พระราชวังต้องห้ามมากเท่าไหร่ ก็แสดงถึงฐานะทางสังคมที่สูงมากขึ้นเท่านั้น
หูท่งที่ตั้งอยู่ในแนวทิศตะวันออกจรดตะวันตกของพระราชวังต้องห้าม จะเป็นที่พักอาศัยของขุนนางและชนชั้นสูง ส่วนหูท่งที่ตั้งอยู่ในแนวทิศเหนือจรดใต้นั้นจะเป็นที่พักอาศัยของสามัญชน
หูท่งแต่ละเส้นจะมีชื่อเรียกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะตั้งชื่อตามชื่อตามสถานที่สำคัญใกล้เคียง เช่น หน่วยงานของราชสำนัก วัง วัด คลังพัสดุ โรงงาน สะพาน แม่น้ำ ตลาดนัด บ้านเรือนของตระกูลใหญ่ เป็นต้น ชื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังใช้เรียกอยู่จนถึงทุกวันนี้ เช่น หยางโร่วหูท่ง(ซอยเนื้อแพะ) เว่ยเจียหูท่ง(ซอยตระกูลเว่ย) จินหยูว์หูท่ง(ซอยปลาทอง) จี๋ว์เอ๋อร์หูท่ง(ซอยดอกเก๊กฮวย
เมื่อก่อน ในหูท่งของกรุงปักกิ่ง ไม่เพียงแต่มีบ้านซื่อเหอย่วนของคนธรรมดาเท่านั้น หากยังมีบ้านใหญ่ของเชื้อพระวงศ์ชนชั้นสูงและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ต่างๆ เช่น กงหวังฝู่(ตำหนักอ๋องกง) ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลสาบสือช่าไห่ เป็นตำหนักที่คงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ในปัจจุบัน ภายในประกอบด้วยบ้านซื่อเหอย่วนหลายแห่ง ถือเป็นตัวอย่างบ้านซื่อเหอย่วนของกรุงปักกิ่ง
“ตำหนักอ๋องกง” มีความสง่างามภูมิฐานและมีโครงสร้างที่สมส่วนกัน ทางเดินหลักตรงกลางเป็นแนวแบ่ง เรือนพักห้องหับที่อยู่ด้านข้างและสวนดอกไม้แยกอยู่เป็นสัดส่วน เรือนพักรับรองหลักมีความภูมิฐาน ห้องที่อยู่ด้านข้างสวยและเรียบร้อย ประกอบเป็นตำหนักที่มีบ้านเรือนหลายหลังอยู่รวมกัน สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของชาวจีนในสมัยโบราณที่มีการเลียงลำดับตามตำแหน่งงานและฐานะทางสังคม แบ่งส่วนหลักกับส่วนรองอย่างชัดเจน ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงฐานะอันสูงของเจ้าของตำหนักด้วย เมื่อเดินในบริเวณตำหนัก ไม่เพียงจะได้สัมผัสถึงความสง่างามของตำหนัก หากยังจะทึ่งกับการออกแบบและจัดแผนผังอันพิเศษด้วย
นอกจากนี้ ตำหนักอ๋องกงยังมีลักษณะเด่นที่สุดประการหนึ่งคือ มีตัวหนังสือจีนคำว่า “福(ฝู)”หรือที่คนไทยเรียกว่า “ฮก”ตามสำเนียงแต้จิ๋ว อันมีความหมายว่า “โชคลาภ ความผาสุก สิริมงคล” อยู่ในทุกหนทุกแห่งทั่วบริเวณตำหนัก และภายในตำหนักยังมีภาพวาดหรือลายแกะสลักเป็นรูปค้างคาวประดับอยู่ในจุดต่างๆทั้งหมด 9,999 ตัว เนื่องจากค้างคาวภาษาจีนเรียกว่า “เปียนฝู” ที่พ้องเสียงกับคำว่า “ฝูหรือฮก(福)” ส่วนตัวเลข 9 ก็พ้องเสียงกับคำจีนที่มีความหมายว่า “ยั่งยืน ถาวร” ดังนั้น การมีค้างคาว 9 พันกว่าตัวนั้น จึงแฝงความหมายดีๆว่าให้ตำหนักแห่งนี้ เปี่ยมไปด้วยความสุขและสิริมงคล
และนอกจากตำหนักอ๋องกงแล้ว ในหูท่งของกรุงปักกิ่ง ยังมีบ้านเก่าของบุคคลที่มีชื่อเสียงของจีนอีกมากมาย ทั้งนักเขียน ศิลปิน นักแสดง นักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์ เช่น “หลู่ซวิ่น” - นักคิด นักเขียนและนักการศึกษายุคใกล้ “เหมยหลานฟาง” - นักแสดงงิ้วปักกิ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดัง “ฉีไป๋สือ” นักวาดภาพและนักเขียนพู่กันที่มีชื่อเสียงของจีน ก็ล้วนเป็นบ้านแบบซื่อเหอย่วนทั้งสิ้น
“บ้านซื่อเหอย่วน” คงอยู่คู่กับปักกิ่งมายาวนาน แต่ช่วงไม่กี่ปีมานี้ การพัฒนาเมืองให้ทันสมัย ทำให้ซื่อเหอย่วนที่ทรุดโทรมจำนวนมากถูกรื้อถอนไป และซอยโบราณหูท่งจำนวนมากก็ถูกขยายให้กว้างขึ้นหรือสร้างใหม่ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหูท่งก็ต้องย้ายไปอยู่ที่ใหม่ แต่ฝ่ายบริหารของกรุงปักกิ่งก็เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ และได้กำหนดให้หูท่งจำนวน 20 กว่าสายเป็นเขตอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทำให้ทัศนียภาพของเมืองเก่าและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าได้รับการรักษาไว้ต่อไป
ปัจจุบัน ตรอกซอยโบราณ “หูท่ง” ยังคงกินเนื้อที่ส่วนใหญ่ของใจกลางกรุงปักกิ่ง และมีประชากรจำนวน 1 ใน 3 ของเขตเมืองอาศัยอยู่ ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหูท่งยังคงรักษารูปแบบการดำเนินชีวิตแบบเก่าไว้
“ซอยโบราณหูท่ง” ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายร้อยปี จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของปักกิ่งเก่า ทั้งรูปแบบและมนต์เสน่ห์ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะของสิ่งปลูกสร้างในหูท่ง โดยเฉพาะบ้านซื่อเหอย่วน ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้แวะเวียนมาเยี่ยมชมมากขึ้นทุกปี
“บ้านซื่อเหอย่วน” ของกรุงปักกิ่ง จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนภาพความเป็นเมืองหลวงโบราณ และก็เป็นสัญลักษณ์ของกรุงปักกิ่งที่ทันสมัยขึ้นทุกวัน หากมีโอกาสมาเยือนปักกิ่ง....อย่าลืมมาเที่ยว มาชม มานั่งพักในบ้านซื่อเหอย่วน สัมผัสความงามและวิถีชีวิตดั้งเดิมของกรุงปักกิ่ง!