PM2.5 (1)

2019-06-19 09:48CRI

图片默认标题_fororder_1.1

“จินเทียนโหย่วอู้ไหม” แปลว่า วันนี้มีหมอกควันพิษ “อู้ไหม” หมายถึง หมอกควันพิษ  “อู้” หรือหมอก  คือ ไอน้ำที่กลั่นตัวและลอยตัวอยู่ใกล้พื้นดิน บดบังทัศนะวิสัย  ส่วน “ไหม” คือ ฝุ่นพิษ ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่ของฝุ่น ลม และฝน หากฝุ่นพิษมีความเข้มข้นสูงจะทำให้อากาศขุ่นมัว ทัศนะวิสัยแย่ นอกจากนี้ หมอกยังสลายตัวง่ายกว่าหมอกควันพิษด้วย

PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน PM นั้นย่อมาจาก fine particulate matter PM2.5 มีขนาดเล็กจิ๋ว มองไม่เห็นด้วยตา หรือ อาจเทียบได้ว่า มีขนาดประมาณ 1 ใน 25 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์  PM2.5 สามารถฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศเป็นเวลานาน หากความเข้มข้นของ PM2.5 มีปริมาณมากแสดงว่า มลพิษทางอากาศมีความรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้น  PM2.5 ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและทัศนะวิสัยการมองเห็น

PM2.5  มีอันตรายรุนแรงมากกว่าที่เคยคาดคิดเอาไว้  สิ่งที่น่ากลัว คือ   PM2.5 ประกอบด้วยสารพิษต่าง ๆ รวมถึง ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)  สารประกอบไนโตรเจนออกไซด์ ( NOx) สารปรอท (Hg) แคดเมียม (Cd) และสารหนู หรือ อาร์เซนิก (As) เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์

图片默认标题_fororder_1.2

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า  ยิ่งฝุ่นละอองมีขนาดเล็ก  ยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ขนาดของ  PM2.5 ที่เล็กมาก ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ทำให้แม้แต่ขนจมูกของมนุษย์ก็ไม่สามารถกรองได้ ฝุ่นละอองชนิดนี้จึงสามารถเดินทางเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมเข้าสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายได้  ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จึงได้กำหนดให้ PM2.5 อยู่ในสารก่อมะเร็ง กลุ่มที่ 1

ทุกวันนี้  PM2.5 ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเรามากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้ชีวิตของคนเราเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย  ทุกเช้า หลังตื่นนอน  เราต้องเช็กดูก่อนว่า มีค่า PM2.5 เท่าไร แล้วจึงสามารถตัดสินใจได้ว่า  วันนี้จะเปิดหน้าต่างระบายอากาศได้หรือไม่  จะขับรถไปทำงานได้หรือไม่ จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่  เด็กเล็กและผู้สูงอายุจะสามารถออกไปข้างนอกได้หรือไม่ หรือแม้กระทั่งอารมณ์ของเราจะดีหรือไม่ในวันนั้น

มีคนบอกว่า  อารมณ์ของเราจะดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับระดับของ PM2.5 เนื่องจากหมอกควันพิษไม่เพียงแต่ทำลายระบบต่าง ๆ ในร่างกายของเรา หากยังทำลายสุขภาพจิตของเราอีกด้วย  จากการสำรวจพบว่า วันที่อากาศมีหมอกควัน ผู้คนจะรักษาสมาธิได้ยาก โกรธง่าย  ตลอดจนมีความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้

ประเทศจีนมีปริมาณ  PM2.5 สูงมาหลายปีแล้ว  แต่ที่กลายเป็นประเด็นการรณรงค์กันมากคือช่วงปี ค.ศ. 2012 - 2013  เพราะช่วงนั้นมีหมอกควันพิษเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว และอยู่ค่อนข้างนาน  โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 2013 ชาวจีนลงคะแนนเสียงเลือกคำว่า“霾”หรือ หมอกควันพิษ เป็นคำเฉพาะในปี 2013 นอกจากนั้น จีนยังมีบันทึกไว้ว่า ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2013 หมอกควันพิษได้ปกคลุมเขตบริหารต่าง ๆ ถึง 30 เขตจากทั้งหมด 31 เขต เว้นแต่มณฑลไห่หนาน ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ทางใต้สุดของจีน ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2013   มีแค่ 4 วันเท่านั้นจากจำนวน 31 วัน ที่ไม่มีหมอกควันพิษ ที่เหลืออีก 27 วันล้วนแต่มีหมอกควันพิษทั้งหมด  มีรายงานว่า  ตามเมืองใหญ่จำนวน 500 เมืองทั่วประเทศจีน เมืองที่มีคุณภาพอากาศได้มาตรฐานมีจำนวนไม่ถึง 50 เมือง  นอกจากนี้  ในบรรดา 10 เมืองแรกที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดในโลก 7 เมืองต่างอยู่ในประเทศจีน

ปัญหามลพิษทางอากาศจาก PM2.5 ของจีนถือว่าหนักหนาสาหัสจริง ๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่า คนจีนจึงเล่ากันแบบขำขันว่า เมื่อก้าวออกไปจากบ้านเพียงไม่กี่ก้าว หันกลับมามองอีกที ปรากฏว่า บ้านได้หายไปแล้ว  ยังมีคนบอกด้วยว่า ขณะที่มีหมอกควันพิษปกคลุมหนาแน่น  การปั่นจักรยานก็เหมือนกับการขับเครื่องบิน โดยมี “เมฆมงคล” ห้อมล้อมอยู่รอบตัว เพียงแต่เมฆหมอกที่อยู่รอบข้างกลับมีฝุ่นและกลิ่นสารเคมีเข้มข้น

สภาพเช่นนี้ฉุกให้คนจีนคิดสร้าง “สูตรรับมือหมอกควันพิษ” ต่าง ๆ มากมาย โดยสูตรสำหรับคนทั่วไป  คือ ให้กินหัวไชเท้าและเห็ดหูหนูดำ  สูตรสำหรับครอบครัว คือ แนะนำให้ใช้เครื่องฟอกอากาศ สูตรสำหรับคนที่มีเงินและเวลาว่าง คือ แนะนำให้หนีไปต่างจังหวัด และสำหรับคนรวย แนะนำให้อพยพไปอยู่ต่างประเทศ 

สูตรรับมือหมอกพิษ อีกชุดหนึ่ง คือ สำหรับคนทั่วไป แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย สำหรับสมาชิกครองครัว  แนะนำให้ซื้อประกันชีวิต สำหรับคนที่มีเงินและเวลาว่าง แนะนำให้ไปกับทัวร์ล้างปอดที่ขั้วโลกใต้ รออากาศดีขึ้นค่อยกลับมา  สำหรับผู้ที่ไม่มีทางเลือกหนีไปที่อื่นนั้น ให้รอลมพัดมา เพราะลมจะเป็นสิ่งที่ช่วยพัดพาหมอกควันพิษให้ลอยออกไปได้  แน่นอนว่า  สูตรเหล่านี้สร้างขึ้นมาเพื่อความสนุกสนานและบรรเทาความเครียดที่เกิดจากหมอกควันพิษมากกว่า

ลมมีบทบาทในการพัดพาควันพิษให้ลอยออกไปจริง ๆ   เนื่องจากสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันพิษ คือ อากาศนิ่ง และสภาพอากาศปิด จึงทำให้ปริมาณการสะสมของ PM2.5 ในอากาศเพิ่มขึ้น เมื่อมีลมพัดมาจึงเป็นการช่วยบรรเทาความเข้มข้นของ PM2.5 ให้ลดลงได้ นอกจากนี้  หมอกควันพิษโดยปกติแล้วมักจะมีความเข้มข้นสูงสุดในเวลากลางคืน แล้วค่อย ๆ ลดลงในช่วงสายถึงบ่าย

การพัฒนาการผลิตแบบอุตสาหกรรมทั่วโลก  ส่งผลให้ชาวโลกตื่นตัวมากขึ้น PM2.5 ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์และมีความสำคัญนับวันยิ่งมากขึ้น  ประกอบกับการดูแลระดับ PM2.5 มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในปี ค.ศ. 1997 สหรัฐฯ ได้เสนอให้กำหนดมาตรฐาน PM2.5 เป็นค่าชี้วัดคุณภาพอากาศก่อนประเทศอื่น ๆ ต่อมาในปี ค.ศ. 2005 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่น PM2.5 ไว้ที่ 25 และ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ  นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังระบุด้วยว่า ความเข้มข้นของ PM2.5 ในระดับต่ำกว่า 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถือว่าปลอดภัย

ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face

Not Found!(404)