2019-07-23 09:56CRI
ทีแรก คำว่า PM2.5 เป็นเพียงศัพท์วิชาการที่ได้รู้จักกันเฉพาะในกลุ่มผู้ทำงานด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข แต่พอมาหลัง ๆ เห็นมีการใช้กันอยู่บ่อย ด้วยเหตุนี้ เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2013 คณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบคำนามทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของจีน จึงตั้งชื่อภาษาจีนให้ PM2.5 ว่า “ซี่เคอลี่อู้”
มาตรฐานค่า PM2.5 ไม่ใช่ข้อบังคับตายตัว แต่เป็นเพียงกรอบที่ให้ประเทศต่าง ๆ นำไปปรับใช้ตามสภาพความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยสหรัฐอเมริกากำหนดค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 ในปัจจุบันไว้ที่ 35 และ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ ส่วนสหภาพยุโรป กำหนดเพียงแค่ค่าเฉลี่ยรายปีที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
มาตรฐานค่า PM2.5 ของจีน คือ ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง หากค่า PM2.5 อยู่ระหว่าง 0~50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่า “อยู่ในเกณฑ์ดี” หากค่า PM2.5 อยู่ระหว่าง 50~100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรนั้น ถือว่า “พอใช้ได้ ไม่เป็นอันตราย” หากค่า PM2.5 อยู่ระหว่าง 100~150 ถือว่า “มีมลพิษทางอากาศในระดับเบา” หากค่า PM2.5 เพิ่มขึ้นถึงระดับ 150~200 ถือว่า “มีมลพิษทางอากาศในระดับปานกลาง” หากค่า PM2.5 แตะระดับ 200~300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าอยู่ใน “ขั้นรุนแรง” และหากว่า ค่า PM2.5 พุ่งสูงกว่า 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ถือเป็น “มลพิษทางอากาศระดับร้ายแรงมาก”
ยิ่งไปกว่านั้น ทางการจีนยังได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรมของผู้คนตามระดับความสูงต่ำของค่า PM2.5 อีกด้วย ได้แก่ เมื่อค่า PM2.5 อยู่ในเกณฑ์ดี ผู้คนทั้งหลายสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ เมื่อค่า PM2.5 อยู่ระดับไม่เป็นอันตราย ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ไวเป็นพิเศษต่อมลพิษในอากาศควรลดเวลาการอยู่กลางแจ้ง เมื่อค่า PM2.5 อยู่ในระดับไม่รุนแรง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจและผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจต้องลดเวลาการอยู่กลางแจ้งให้น้อยลง เมื่อค่า PM2.5 อยู่ระดับปานกลาง ทุกคนต้องลดเวลาการอยู่กลางแจ้งให้น้อยลงอย่างเหมาะสม เมื่อค่า PM2.5 อยู่ในระดับรุนแรง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจและผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจต้องอยู่ในห้อง สำหรับคนทั่วไปให้ลดกิจกรรมนอกอาการ และหากว่า ระดับ PM2.5 พุ่งสูงถึง 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ทุกคนต้องเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ส่วนผู้ที่ต้องใช้ชีวิตนอกบ้าน เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ พ่อค้าแม่ค้า ต้องสวมหน้ากากอนามัย
แหล่งกำเนิดของ PM2.5 มีอยู่ 2 แหล่งด้วยกัน คือ จากธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงฝุ่นละออง เกลือทะเล เกสรดอกไม้ และเถ้าภูเขาไฟ เป็นต้น อีกแหล่ง คือ เกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่ง PM2.5 ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์มีความอันตรายมากกว่าจากธรรมชาติ
PM2.5 ที่เกิดจากมนุษย์แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ แหล่งคงที่กับแหล่งไม่คงที่ แหล่งคงที่ คือ โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึง โรงไฟฟ้า โรงงานเหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น ส่วนแหล่งไม่คงที่ คือ รถยนต์ ซึ่งปล่อย PM2.5 จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงดีเซลและก๊าซโซฮอล์ เป็นหลัก
ปัญหา PM2.5 มีสาเหตุสลับซับซ้อนมาก มีทั้งปัจจัยจากการก่อสร้าง การเผาสารชีวะมวล ไปจนถึงการเผาขยะ หรือ แม้แต่การจุดธูป ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาหมอกควันทั้งสิ้น
จีนมีสุภาษิตว่า “อู๋โข่งปู๋รู่” ซึ่งนำมาพรรณาการเคลื่อนไหวของ PM2.5 ลงตัวที่สุด ก็คือ สามารถแทรกซึมเข้าทุกช่องทาง และฟุ้งกระจายอยู่ทั่วทุกสารทิศ