2019-08-08 15:23CRI
เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จัดให้จีนเข้าอยู่ในประเทศควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน การกระทำนี้เป็นการคว่ำมาตรฐานเกี่ยวกับประเทศควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนที่สหรัฐฯกำหนดไว้เอง และแสดงให้เห็นว่า จุดยืนพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของจีนทำให้ชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งกระวนกระวายมาก จนต้องนำประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนมากดดันจีนอย่างสุดขีดต่อไป เพื่อรังแกข่มขู่จีนทางด้านเศรษฐกิจ การกระทำของสหรัฐฯดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้แก่ทั้งประเทศอื่นและสหรัฐฯเอง
เมื่อย้อนรอยในประวัติศาสตร์จะพบได้ว่า การกดดันและยับยั้งคู่แข่งด้วยประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนเป็นวิธีการที่สหรัฐฯใช้บ่อย เช่น เมื่อต้นทศวรรษ 1980 ญี่ปุ่นได้พัฒนาเป็นประเทศที่เจริญขึ้นใหม่ด้านอุตสาหกรรมการผลิตและการค้า ทำให้ญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯมองว่า เป็นคู่แข่งที่ท้าทายถึงอำนาจด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในโลก ช่วงเวลานั้น ตัวเลขแดงการคลังของสหรัฐฯขยายตัว การขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ สหรัฐฯเริ่มวางแผนให้ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า เพื่อพลิกสถานการณ์รายรับและรายจ่ายระหว่างประเทศของสหรัฐไม่สมดุล เมื่อเดือนกันยายนปี 1985 ภายใต้การผลักดันของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษทำข้อตกลงพลาซ่ากับสหรัฐฯ ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมากในสกุลเงินหลักของโลก และยังทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะถดถอยเป็นเวลานานถึง 20 ปี
นอกจากนี้ ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ถึงทศวรรษ 1990 สหรัฐฯได้วินิจฉัยให้เกาหลีใต้และอีกหลายประเทศเป็นประเทศควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน บังคับให้ประเทศเหล่านี้ ต้องเพิ่มความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยน และผ่อนปรนในการควบคุมเงินทุน รวมทั้งพยายามให้เงินตราของประเทศเหล่านี้แข็งค่าขึ้นต่อดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สหรัฐฯยังเคยจัดให้เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์เข้าอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องเฝ้าติดตามเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมให้ประเทศใดที่เป็นคู่แข่งมีความเข้มแข็งกว่า แม้ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯก็เช่นกัน
เมื่อปี 2005 มีสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯเสนอญัตติเกี่ยวกับกฎหมายเงินตราต่อรัฐสภาสหรัฐฯ โดยกล่าวหาจีนควบคุมค่าเงิน และขู่ว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีน ทั้งนี้ มีเป้าประสงค์ที่จะบังคับให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นอย่างมาก แต่หลังจีนปฏิรูปกลไกอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อปี 1994 เป็นต้นมา อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนเป็นไปตามความต้องการในตลาดมากขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศก็ประกาศว่า อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนโดยรวมสอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ หลังรัฐบาลสหรัฐฯชุดปัจจุบันเข้าบริหารประเทศ กระทรวงการคลังสหรัฐฯเคยยื่นรายงานเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนในระยะเวลาครึ่งปี 5 ฉบับต่อรัฐสภา ก็ไม่เคยจัดให้จีนเข้าอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน
ช่วงที่ผ่านมานี้ เนื่องจากสหรัฐฯเร่งผลักดันนโยบายเอกภาคีนิยมตามอำเภอใจ และยกระดับความขัดแย้งทางการค้ากับจีน ทำให้ตลาดการเงินโลกเกิดความปั่นป่วน อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนเกิดการขึ้นลงในระดับหนึ่งตามความต้องการของตลาดและการคาดการณ์ เมื่อเร็วๆ นี้ เงินหยวนเคยอ่อนค่าทะลุ 7 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในตลาด แต่ชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งกลับคิดว่า นี่เป็นโอกาสดีที่จะกดดันจีน จึงได้เลือกมองข้ามผลการประเมินอัตราแลกเปลี่ยนขององค์การวิชาชีพ ตราหน้าให้จีนเป็นประเทศควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อกดดันจีนมากขึ้น และผลประโยชน์ทางการเมืองภายในประเทศ
การกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯไม่เพียงจะสร้างอุปสรรคใหม่ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯเท่านั้น หากยังจะทำให้ตลาดการเงินโลกเกิดความปั่นป่วนมากขึ้น และขัดขวางการฟื้นฟูทางการค้าระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจโลกด้วย จึงเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่ทั้งประเทศอื่นและประเทศตน
(yim/cai)