2019-11-05 08:27ไชน่ามีเดียกรุ๊ป
วันที่ 2 – 5 พฤศจิกายน นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเดินทางถึงประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุมผู้นำจีน-อาเซียน (10+1) ครั้งที่ 22 การประชุมผู้นำอาเซียน จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ (10+3) ครั้งที่ 22 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ 14 ที่กรุงเทพฯ และเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ก่อนที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง จะออกเดินทางไปเยือนไทย นายหลวี่ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำไทย ได้เขียนบทความในหัวข้อ “จีน-ไทยจับมือกันพัฒนา ยุคสมัยแห่งความร่วมมือในเอเชียตะวันออก” โดยระบุว่า ปีนี้เป็นปีครบรอบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทำให้ทั้งสองประเทศเข้าสู่ยุคการพัฒนาใหม่ ความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนรอบด้านของสองประเทศก็มีโอกาสการพัฒนามากขึ้น
นายหลวี่ เจี้ยน ระบุว่า ปัจจุบัน ผู้นำทั้งสองประเทศมีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด ล่าสุดสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รับการทูลเกล้าฯ ถวายอิสริยาภรณ์ รัฐมิตราภรณ์จากนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในโอกาสการฉลองครบรอบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ระดับสูงสุดที่จีนมอบให้ชาวต่างประเทศที่สร้างคุณูปการสำคัญในการส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกัน แสดงให้เห็นว่าผู้นำสองประเทศนำร่องและผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีโดยตรง
จีนและไทยกำลังส่งเสริมการสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ให้เดินหน้า โดยทางรถไฟจีน-ไทย รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการอื่นๆ ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว สองประเทศกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยจีนเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยต่อเนื่องกัน 6 ปี เมื่อปี 2018 ยอดการค้าทวิภาคีมีมูลค่า 875,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.2% ครึ่งแรกปี 2019 มูลค่าที่จีนลงทุนในไทยโดยตรงเพิ่มขึ้น 420% นอกจากนี้ จีนและไทยกำลังยกระดับความร่วมมือด้านนวัตกรรมและการผลิต โดยเศรษฐกิจดิจิทัล การขนส่งสมัยปัจจุบัน เทคโนโลยี 5จี เป็นต้น กลายเป็นจุดเด่นในความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย ทางด้านการบริหารประเทศและวัฒนธรรม สองประเทศก็ได้ขยายความร่วมมือ และแบ่งปันผลประโยชน์ในด้านการขจัดความยากจน การรักษาสภาพแวดล้อม เป็นต้น ทั้งสองประเทศเผยแพร่แนวคิดอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อำนวยประโยชน์ร่วมกันเพื่อประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มีการปรึกษาหารือกัน สร้างสรรค์และแบ่งปันประสบการณ์ต่อกัน เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนสองประเทศ
ส่วนนายกรัฐมนตรีทั้งสองก็ได้แสดงความปรารถนาดีต่อการเยือนในครั้งนี้ ก่อนหน้านี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวซินหวาของจีนว่า การมาเยือนของนายหลี่ เค่อเฉียง ในครั้งนี้ จะส่งเสริมยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนรอบด้านของสองประเทศ โดยกล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาทั้งสองประเทศเคารพ เชื่อถือกัน และอำนวยประโยชน์ต่อกัน เชื่อว่า การมาเยือนของนายกฯ จีนในครั้งนี้จะสามารถส่งเสริมความสัมพันธ์ของสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ผลักดัน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ของไทย และ “ไทยแลนด์ 4.0” พร้อมช่วยให้ไทยรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างของโลก
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายหลี่ เค่อเฉียง ได้เขียนบทความในหัวข้อ ร่วมแรงร่วมใจร่างพิมพ์เขียวความร่วมมือในเอเชียตะวันออกที่ดีงาม เผยแพร่ลงในหนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ BANGKOK POST ซิงเสียนเยอะเป้า โดยกล่าวว่า ขณะที่กำลังเผชิญกับการท้าทายใหม่ ประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น จะป้องกันและต้านความเสี่ยงอย่างไร จะรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจ และลงลึกความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์แก่กันด้วยวิธีการใด เพื่อเพิ่มพูนความผาสุกของประชาชนนั้น จึงเป็นประเด็นปัญหาที่ข้าพเจ้าไตร่ตรองอยู่ตลอดเวลา
จากประสบการณ์ความร่วมมือและกระบวนการพัฒนาในเอเชียตะวันออก นายหลี่ เค่อเฉียงได้ให้ข้อสรุปชี้แนะ 4 ประการได้แก่ ประการแรก ต้องรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองจึงจะมีหลักประกัน ประการที่ 2 ต้องขับเคลื่อนการเปิดสู่ภายนอกและความร่วมมือ จึงสามารถอำนวยประโยชน์แก่กัน และมีชัยชนะร่วมกัน ประการที่3 ส่งเสริมการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชน และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจะสามารถทำให้ความสัมพันธ์มีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ประการที่4 ต้องยืนหยัดในการพูดคุยเจรจากันและปรึกษาหารือกัน จึงจะสามารถบรรลุความเห็นพ้องต้องกันได้
นายหลี่ เค่อเฉียงยังกล่าวว่า ปีหน้าเป็นวาระครบรอบ 45 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเดินทางมาอย่างยาวไกลจากอดีต มุ่งสู่อนาคต เราจะต้องใช้ความพยายามหลายเท่า เน้นกระชับความร่วมมือด้านสำคัญๆ เช่น การเชื่อมโยงด้านต่างๆ นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การประสานทักษะของภาคการผลิต และความร่วมมือกับฝ่ายที่สาม เพื่อเติมพลังขับเคลื่อนให้กับการพัฒนา และสร้างประโยชน์มากขึ้นแก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน นายหลี่ เค่อเฉียง เดินทางถึงกรุงเทพฯ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีไทย เป็นผู้ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 3 พจ ได้เข้าร่วมการประชุมจีน-อาเซียนครั้งที่ 22 และกล่าวสุนทรพจน์ นอกจากเข้าร่วมการประชุมต่างๆ แล้ว นายหลี่ เค่อเฉียง ยังมีกิจการต่าง ๆ เช่น พบกับพล.อ. ประยุทธ์ เพื่อลงนามในเอกสารความร่วมมือ พบกับสื่อมวลชนของทั้งสองประเทศ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลในแวดวงต่างๆ ของไทย
นายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า จีนไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ความสัมพันธ์ของสองประเทศพัฒนาอย่างมั่นคง หวังว่าการเยือนไทยในครั้งนี้จะสามารถส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น ทำให้ประชาชนสองประเทศมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น และผลักดันความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนรอบด้านให้ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
Bo/Chu/Patt