2020-08-13 15:06
สื่อโซเชียลจีนเผยว่า ตอนแรกที่ก่อตั้งบริษัท นายจาง อีหมิง เจ้าของTikTok (ติ๊กต๊อก) เคยเข้าพบผู้บริหารธนาคารเพื่อการลงทุนการพัฒนาแห่งชาติจีน ขอกู้เงิน 50 ล้านหยวน แต่ถูกปฏิเสธด้วยคำตอบว่า “ดูหน้าตาของคุณไม่เหมือนคนที่จะสามารถทำอะไรใหญ่ ๆ ได้”
ปีนี้นายจาง อีหมิง อายุ 37 ปี เกิดที่เมืองหรงเหยียน มณฑลฝูเจี้ยน เป็นชาวแคะ คุณแม่เป็นพยาบาล คุณพ่อทำงานในหน่วยงานบริหารกิจการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น เมื่อมีเพื่อนของพ่อมาดื่มชาที่บ้าน มักจะคุยกันเรื่องการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ นายจาง อีหมิง ได้ฟังจนเพลิน
ปี 2006 หลังจบจากมหาวิทยาลัยหนานไค นายจาง อีหมิงไปทำงานบริษัท “คู่สวี้น” บริษัทค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยว (Search Engine) มีครั้งหนึ่งเขาจะซื้อตั๋วรถไฟกลับบ้าน แต่เวลานั้นตั๋วรถไฟซื้อยาก เขาจึงใช้เวลา 1 ชั่วโมงเขียน app ใหม่และใส่เข้าระบบค้นหา ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็ได้รับตั๋วมือสองใบหนึ่ง
ต่อจากนั้น นายจาง อีหมิงได้เข้าไปทำงานหาประสบการณ์ในบริษัทไมโครซอฟต์ (Microsoft) อยู่พักหนึ่ง แต่รู้สึกไร้สาระจึงลาออก และเพื่อนเชิญไปเป็นซีอีโอบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเช่าบ้าน ทั้งนี้ ล้วนไม่ใช่ความฝันสมัยเด็กของเขา
ปี 2012 ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ณ กรุงปักกิ่ง นายจาง อีหมิงเขียนผังบริษัทในกระดาษเช็ดปากใบหนึ่ง และโชว์ให้เพื่อนดู ชื่อบริษัทคือ “จื้อเจี๋ยเที่ยวต้ง” ( Byte Dance ) เวลานั้น เขาคงไม่คาดคิดว่า อีก 8 ปีให้หลัง ลูกคนหนึ่งของ Byte Dance ที่ชื่อ TikTok จะทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ต้องใช้กำลังแห่งรัฐออกคำสั่งบังคับซื้อ TikTok ให้กับบริษัทของสหรัฐฯ ในราคาประมาณ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไมโครซอฟต์ (Microsoft) จะเป็นบริษัทที่ซื้อ หาไม่ก็จะปิด TikTok ในสหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าที่แท้จริงของ TikTok จะอยู่ที่ประมาณ 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์บอกว่าต้องมีค่าคอมมิชชั่นให้กับกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพราะเขาเป็นผู้ที่ทำให้เกิดดีลการซื้อขายนี้
ย้อนไปเดือนมีนาคมปี 2012 นายจาง อีหมิงจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทจื้อเจี๋ยเที่ยวต้ง ( Byte Dance ) ที่กรุงปักกิ่ง ตั้งแต่นั้นมา ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้เริ่มแพร่จากจีนไปสู่ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
โชคดีที่กระบวนการพัฒนาบริษัทของนายจาง อีหมิงได้รับการสนับสนุนและการลงทุนจากเพื่อนบางคน และบริษัทเอกชนบางแห่งที่สนใจแนวคิดของเขา ซึ่งรวมถึงสถาบันการลงทุนระหว่างประเทศ อาทิ ซอฟต์แบงก์ (SoftBank) และ KKR เป็นต้น
เดือนสิงหาคมปี 2014 บริษัท Byte Dance ของนายจาง อีหมิงออกแอพพลิเคชั่นแรกชื่อ “จินรึโถวเถียว” (今日头条) แปลว่า “พาดหัวข่าววันนี้” (Today's headlines) เป็น APP ที่เสนอข่าวและข้อมูลที่น่าสนใจ
สิ่งที่แปลกคือ บริษัทไม่มีผู้สื่อข่าว ไม่มีนักเขียน และไม่มีบรรณาธิการ ไม่ผลิตข่าวเอง แต่จะใช้เทคโนโลยีพิเศษ คัดเลือกข่าวและข้อมูลสำคัญหรือน่าสนใจ ที่สื่อต่าง ๆ นำขึ้นเน็ตอินเตอร์เน็ตไม่ถึง 10 วินาที ก็สามารถนำมาเผยแพร่ใน APP“จินรึโถวเถียว” ผ่านไปแค่ 3 เดือน มีผู้ใช้บริการกว่า 10 ล้านคน
ช่วงครึ่งหลังของปี 2014 นายจาง อีหมิงมีงานสำคัญอย่างหนึ่งคือขึ้นศาลฟังการฟ้องร้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์จากสื่อจีนทั่วประเทศ เขาจึงต้องเซ็นสัญญาความร่วมมือกับสื่อจีนหลายพันแห่ง จึงทำให้ยุติปัญหานี้ได้ จนถึงปัจจุบัน ในจีนมีผู้ใช้ APP นี้ กว่า 600 ล้านคน
ปี 2016 นายจาง อีหมิงตัดสินใจออก APP “โต่วอิน” ผู้ใช้บริการสามารถใช้สมาร์ทโฟนถ่ายทำวิดีโอสั้นที่โชว์ฝีมือการร้องนำทำเพลง เรื่องราวที่สนุกสนานหรือออกแนวติงต๊อง ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นจีนอย่างมาก ปี 2018 สำนักข่าวซินหวาและหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า ที่เป็นสื่อหลักของทางการจีนต่างออกบทวิเคราะห์ว่า “โต่วอิน” ทำให้เด็กจีนหลงในเรื่องที่ไร้สาระ เสียเวลาอ่านหนังสืออย่างมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน จีนมีผู้ใช้ APP “โต่วอิน” กว่า 500 ล้านคน
ปี 2017 APP “โต่วอิน”ฉบับต่างประเทศชื่อ TikTok (ติ๊กต๊อก) เริ่มเข้าสู่ตลาดโลก มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินส์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา ฯลฯ จนถึงเดือนมกราคมปี 2020 ยอดดาวน์โหลด TikTok แซงหน้า What’sApp, Facebook ,Youtube ,Instagram, จัดอยู่อันดับ 1 ของโลก จนถึงเดือนกันยายนปีนี้ ยอดดาวน์โหลด TikTok เกินกว่า 2,000 ล้านครั้ง เฉพาะที่สหรัฐฯก็มีผู้ใช้กว่า 100 ล้านคน
นายทรัมป์ ไม่เป็นอันกินอันนอนอีกแล้ว ก็เลยโชว์แสนยานุภาพอีกลูกกล่าวหา TikTok “เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯ” และใช้กำลังอำนาจแห่งชาติมาจัดการอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ มีเพียงบริษัทจีนแห่งหนึ่งที่ได้รับเกียรตินี้คือหวาเหว่ย
แม้ว่านายจาง อีหมิงสร้างสำนักงานใหญ่ TikTok ที่เมืองลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ผู้จัดการใหญ่เป็นชาวอเมริกัน พนักงานส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน และยอมเปิดเผยเทคโนโลยีสำคัญของ TikTok ต่อรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ก็ไม่รอด ถูกนายทรัมป์ ขย้ำซะแล้ว