2020-08-29 09:02CMG
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากคำปราศรัยสำคัญของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับความเข้าใจและการมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อประเด็นสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะกลางและระยะยาวของจีน ในที่ประชุมสัมมนาเกี่ยวกับงานด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้รับการเผยแพร่ออกไป ผลปรากฏว่าคำปราศรัยดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในประชาคมโลก ชาวไทยที่ติดตามข่าวสารจีนอย่างใกล้ชิด ได้แสดงมุมมองที่น่าสนใจต่อคำปราศรัยของ ปธน.สี จิ้นผิง ขณะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน(CMG)
พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมาทำให้ประเทศจีนประสบความสำเร็จในทางด้านการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันนี้ประเทศจีนมีความเป็นผู้นำโลกมากขึ้นด้วยกำลังการผลิตที่เติบโตและนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี การแสดงสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทำให้เราเห็นว่า ประเทศจีนไม่ประมาทในการแสวงหาความจริงทางด้านการพัฒนาประเทศโดยใช้แนวคิดกล้าขับเรือทวนกระแสน้ำ และยังสนับสนุนทางด้านนวัตกรรมและการปฏิรูป จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนในช่วงเวลาแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14
นายภูวนารถ ณ สงขลา นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน แสดงความคิดเห็นว่า ในวันนี้ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ประเทศจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำของโลกทั้งทางด้านสังคม และเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันกับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ สี จิ้นผิง ก็ถือเป็นผู้นำระดับโลกที่สำคัญอย่างยิ่งคนหนึ่ง ที่ทั่วโลกจับตามองในเรื่องของนโยบายและยุทธศาสตร์ผลักดันให้ประเทศจีนพัฒนาและเดินหน้าต่อไป ดังนั้นกรณีที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจัดการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับงานด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอต่อการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะเวลา 5 ปี ฉบับที่ 14 ซึ่งมีการระดมสมองจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมวิทยา จึงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
เนื้อหาคำปราศรัยของท่านสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจและการมีทัศนคติที่ถูกต้อง ต่อประเด็นสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะกลางและระยะยาว โดยเฉพาะประโยคที่ว่า
"ช่วงปฏิบัติตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมระยะเวลา 5 ปี ฉบับที่ 14 เป็นช่วง 5 ปีแรกที่จีนเริ่มกระบวนการใหม่แห่งการสร้างสรรค์สังคมนิยมที่มีความทันสมัยอย่างรอบด้าน และก้าวไปสู่เป้าหมายบากบั่นต่อสู้ 100 ปีรอบที่ 2 หลังประเทศเราได้สร้างสังคมมั่งคั่งระดับปานกลางอย่างรอบด้าน และได้บรรลุเป้าหมายบากบั่นต่อสู้ 100 ปีรอบแรก ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ตาม หากมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าด้วยดี ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ มิฉะนั้น ก็คงต้องประสบความล้มเหลว เราจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ตระหนักถึงแนวโน้มที่ต้องเป็นไป รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ระดมภูมิปัญญาจากฝ่ายต่าง ๆ และศึกษาวิจัยสถานการณ์ใหม่ เพื่อจัดวางแผนการพัฒนาฉบับใหม่ที่ดี " นี่เป็นเสมือนคำยืนยันที่ไม่เพียงสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนชาวจีน แต่ยังเป็นการบอกให้โลกได้รับรู้ถึงการมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไปของประเทศจีน
ที่สำคัญ เนื้อหาของแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมระยะเวลา 5 ปี ของจีนในครั้งนี้ ความครอบคลุมมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมองถึงโอกาสใหม่ๆ การเรียนรู้และการตระหนักถึงสภาวะของโลก และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง มีการบริหารความเสี่ยง วางแผนทิศทางอย่างระมัดระวัง ทั้งเรื่องความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรม การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงส่งเสริมการวิจัยขั้นพื้นฐาน ในการส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อการก้าวไปถึงจุดที่จะบรรลุถึงการพัฒนาที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความเที่ยงธรรม ความถาวร และความมั่นคงมากขึ้น โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
และประโยคที่ว่า "ในยุคใหม่แห่งการพัฒนา สภาพแวดล้อมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง ได้นำมาทั้งโอกาสใหม่ และการท้าทายใหม่ต่าง ๆ วิกฤตและโอกาสจะมาพร้อมกัน กล่าวคือ ท่ามกลางวิกฤตจะมีโอกาส และเราสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ " ซึ่งในฐานะสื่อมวลชนมองว่าเป็นสิ่งที่ประเทศต่าง ๆ ควรผนึกความร่วมมือระดับโลกให้เกิดขึ้น เพื่ออนาคตของทุกประเทศในโลกนี้นั่นเอง
อาจารย์กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า แผนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมระยะเวลา 5 ปี ของจีน ตามคำปราศรัยของท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีความครอบคลุมมิติต่างๆ มีการบริหารความเสี่ยง วางแผนทิศทางอย่างระมัดระวัง และเน้นในจุดที่สำคัญหลายอย่าง ทั้งเรื่องความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ทั้งเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงส่งเสริมการวิจัยขั้นพื้นฐาน ในการส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจภายในประเทศก็เป็นหนึ่งในการหาโอกาสใหม่ในช่วงวิกฤติ ซึ่งน่าจะสนับสนุนพื้นที่ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้
นายเอกพงษ์ ทองปั้น ผู้จัดการฝ่ายเครือข่าย ซิโนไทยคอมมูนิเคชั่น มองว่า เศรษฐกิจของจีนได้ก้าวย่างเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด ในด้านการผลิต การบริโภค การลงทุนและการค้าคระหว่างประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว นับจากการปฏิรูปในปี 1979 จีนมีความโดดเด่นในเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเอเชีย คำปราศรัยของท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แผนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมระยะเวลา 5 ปี ของจีน เป็นสาระสำคัญอันจะนำพาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ โดยมีแกนหลักสำคัญคือ การสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยฝ่าวิกฤตต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยต่อเศรษฐกิจได้อย่างรอบคอบ รวมทั้งปิดช่องโหว่กระจายรายได้ระหว่างเมืองและชนบท
นายวรณัฐ สายบัว ผู้ทำงานด้านสื่อไทย มองว่า คำปราศรัยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สะท้อนให้เห็นถึงการวางแผนพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบระเบียบ ซึ่งครอบคลุมในทุกด้านและทุกระดับของสังคม ทั้งเศรษฐกิจระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เทคโนโลยี ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ การวางแผนของจีนนั้นไม่ได้มีขึ้นโดยตั้งเป้าเร่งรัดให้เสร็จในเร็ววัน หากแต่เป็นการวางแผนพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป และปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัดและรอบคอบ ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองหาโอกาสใหม่ ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ
นางสาวอนัญญา ประดิษฐ์ทัศนีย์ นักแปลข่าวต่างประเทศอาวุโส กล่าวถึงคำปราศรัยของ ปธน. สีจิ้นผิงว่า อันดับแรกเป็นสุนทรพจน์ของผู้นำที่เรียบเรียงโดยใช้ภาษาเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ชัดเจน และจริงใจ อธิบายให้ประชาชนเห็นภาพใหญ่ของการพัฒนาประเทศ ย้ำถึงเป้าหมายใหญ่ในระยะยาว ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต อันเป็นวาระแห่งชาติที่ชาวจีนต่างมีส่วนร่วมกัน
แม้บทความจะได้กล่าวถึงความสำเร็จของจีนในช่วงที่ผ่านมา แต่เนื้อหามุ่งเน้นถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศไปพร้อมกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ชาวจีนไม่ประมาทและพยายามมองหาโอกาสในวิกฤต ทั้งยังชี้ถึงจุดบกพร่องบนเส้นทางแห่งการสร้างชาติอย่างตรงจุดนั่นก็คือความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข
อีกสิ่งที่ย้ำถึงคือเรื่องทิศทางเศรษฐกิจ ที่หันมาพึ่งพาการบริโภคในประเทศมากขึ้นโดยที่มิได้ปิดประตูสู่เวทีโลก แต่กลับยิ่งเปิดกว้างมากขึ้นในเวลาเดียวกัน เพราะจีนรู้ดีว่าจีนและโลกไม่สามารถแยกออกจากกันได้ นับเป็นอีกสิ่งที่สะท้อนแนวคิดสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน
สุดท้ายบทความย้ำถึงความสำคัญของพื้นฐานทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองลัทธิมาร์กซ รวมถึงวิถีในการปฏิบัติจริงที่ต้องยึดโยงกับสถานการณ์ของประเทศ ตอกย้ำถึงแนวคิดสังคมนิยมอัตลักษณ์จีนที่เป็นหัวใจของจีนในยุคปัจจุบัน แสดงถึงความปรารถนาของจีนที่จะแสวงหาหนทางแห่งการพัฒนา ด้วยใจที่มุ่งมั่น เปิดกว้าง เปิดรับสิ่งใหม่โดยไม่ละทิ้งอุดมการณ์ และต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นับเป็นการส่งสัญญาณให้ชาวจีนทั้งประเทศเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและโอกาสอย่างมีแผนงานและมีเป้าหมายภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
นางสาวกัญญารัตน์ โทมุลา นักข่าวสายเศรษฐกิจ กล่าวว่า รู้สึกเห็นด้วยและชื่นชมในวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของท่านสี จิ้นผิงที่มีต่อแผนการพัฒนาในระยะกลางและระยะยาวในด้านของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากประชาคมโลกจำต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันและจีนก็เป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่มีส่วนในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของโลกใบนี้ หากเศรษฐกิจจีนดีอันเนื่องมาจากวิสัยทัศน์อันล้ำเลิศของผู้นำจีน คาดว่าประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ก็จะดีตามไปด้วย และประเทศไทยอาจจะสามารถยึดเอาหลักแนวคิดนี้เป็นแบบอย่างและนำมาปรับใช้ให้เข้ากับประเทศได้