ขนมไหว้พระจันทร์

ขนมไหว้พระจันทร์_fororder_WechatIMG14

วันนี้เป็นวันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันชาติของจีน และวันชาติปีนี้พิเศษมาก เพราะตรงกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ตามปฏิทินจันทรคติของจีน

เทศกาลไหว้พระจันทร์ของจีน ภาษาจีนคือ จงชิวเจี๋ย(中秋节) เป็นวันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน เดือนที่ 8 เป็นเดือนที่สองในฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า “จ้งชิว” (仲秋) เพราะชาวจีนเรียกพี่อายุมากที่สุดเป็น โป๋ (伯) พี่คนรองคือ จ้ง (仲) ส่วนวันที่ 15 เดือน 8 ก็อยู่ตรงกลางของ “จ้งชิว” จึงตั้งชื่อว่า “จงชิว”(中秋)

ในวันนี้ ดวงจันทร์จะมีความกลมสมบูรณ์ที่สุด ชาวจีนจึงถือว่า เทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นเทศกาลที่ครอบครัวอยู่ครบหน้าครบตา ญาติพี่น้องจะต้องเยี่ยมเยือนกัน ลูกจะกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่

ในเทศกาลที่มีความหมายเป็นสิริมงคลแบบนี้ ต้องเตรียมอาหารที่อร่อยๆ ให้ครอบครัว ที่สำคัญที่สุดก็คือ ขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งในสมัยโบราณ ใช้มาเซ่นไหว้พระจันทร์ และสืบทอดจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีในเทศกาลไหว้พระจันทร์ของจีน มีความหมายว่า “ทั้งครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา”

ขนมไหว้พระจันทร์_fororder_WechatIMG15

ขนมไหว้พระจันทร์มีหลายอย่าง โดยในแต่ละพื้นที่ ชาวบ้านจะนิยมกินขนมไหว้พระจันทร์ที่ต่างกัน ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมี 5 ชนิด

  1. ขนมไหว้พระจันทร์ของมณฑลกวางตุ้ง เรียกว่า ขนมไหว้พระจันทร์แบบกวางตุ้ง เป็นขนมไหว้พระจันทร์ที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางมากที่สุดของจีน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจะใช้วัตถุดิบและฝีมือที่ละเอียดประณีต แป้งข้างนอกจะนุ่มนวล ไส้มีหลายอย่าง เช่น ถั่วแดง เม็ดบัว ไข่แดงเค็ม ผลไม้ เป็นต้น รสชาติค่อนข้างหวาน รูปทรงและภาพลายสวย ขนมแบบนี้แตกยากและทำแพ็คเกจง่าย จึงนิยมใช้มาเป็นของฝาก
  2. ส่วนขนมไหว้พระจันทร์ของภาคเหนือ แป้งข้างนอกหนากว่าแบบกวางตุ้งและไม่นุ่มนวล เหมือนเป็นคุ๊กกี้มากกว่า ไส้ก็ไม่หวานเท่ากับแบบกวางตุ้ง จะมีไส้ถั่ว 5 ชนิด(ถั่วลิสง เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ เมล็ดพีชและงา)  ไส้เซียงจา(ผลซันจา) และอื่นๆ
  3. ขนมไหว้พระจันทร์แบบมณฑลเจียงซู มีแหล่งมาจากขนมของเมืองซูโจว ได้รับความนิยมจากประชาชนของมณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง แป้งข้างนอกทำเป็นหลายชั้นและกรอบ สีสวยและมีกลิ่นหอมมาก ขนมไหว้พระจันทร์แบบมณฑลเจียงซูนอกจากมีไส้หวานแล้ว ยังมีไส้เนื้อ แต่ชาวเจียงซูชอบกินรสหวาน จึงจะใส่ทั้งเกลือและน้ำตาลเข้าในไส้เนื้อ ทำให้มีรสชาติพิเศษ
  4. ส่วนมณฑลหยุนหนานก็มีขนมไหว้พระจันทร์ของตน โดยข้างนอกเหมือนของภาคเหนือ แต่ข้างในเป็นไส้ดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นไส้หวาน และมีไส้แฮม ที่รสชาติผสมผสานหวานและเค็ม ขนมแบบนี้ไดรับความนิยมในมณฑลหยุนหนานและพื้นที่รอบข้าง
  5. ขนมไหว้พระจันทร์แบบซัวเถาและแต้จิ๋ว มีอีกชื่อหนึ่งว่า “เหลาปิ่ง” จะเป็นขนมที่ทำด้วยน้ำมันหมู ข้างนอกมีหลายชั้นกรอบเหมือนขนมของมณฑลเจียงซู ไส้หวานนุ่มนวล มีไส้ถั่วเขียว เผือก เป็นต้น ชาวซัวเถาและแต้จิ๋วชอบกินขนมไหว้พระจันทร์กับน้ำชา เพื่อแก้เลี่ยนและช่วยย่อยอาหาร

นอกจากนี้ ร้านขายขนมต่างๆ ยังพยายามออกสินค้าใหม่ เพื่อดึงดูดสายตาของผู้บริโภค อย่างเช่น จะทำไส้รสชา ข้าวเหนียว มะพร้าว เนยแข็ง ทุเรียน ข้างนอกก็จะทำเป็นรสชาติต่างๆ เช่น รสชา ข้าวเหนียว และยังมีขนมไหว้พระจันทร์ชอกโกแล็ตและขนมไหว้พระจันทร์ไอศครีม ภาพลายบนขนมก็มีหลายอย่าง โดยจะเป็นภาพดอกไม้ ตัวอักษรที่มีความหมายดีๆ และตัวสัตว์ที่น่ารัก เป็นต้น

ร้านอาหาร ร้านกาแฟต่างๆ ตลอดจนยี่ห้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหาร ก็พากันทำขนมไหว้พระจันทร์ด้วย อย่างเช่น พระราชวังต้องห้ามก็ร่วมมือกับ KFC ออกขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งจะเน้นความแปลกใหม่ทางรสชาติ รูปทรงก็ไม่เพียงมีรูปกลม แต่จะทำเป็นสิ่งที่มีความหมายเป็นสิริมงคล เช่น ดอกไม้และสัตว์ เป็นต้น ขนมไหว้พระจันทร์แบบนี้ได้รับความนิยมจากหนุ่มสาว

นอกจากนี้ เนื่องจากปีนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เรียกร้องให้ประชาชนกินอยู่อย่างประหยัด ขนมไหว้พระจันทร์ก็ได้ลดขนาดลงด้วย โดยตามปกติแล้ว จะมีน้ำหนัก 80 กรัม เพราะการทำขนมไหว้พระจันทร์จะใส่น้ำตาลและน้ำมันเยอะ คนเดียว โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กๆ ไม่สามารถกินให้หมดในครั้งเดียว ปีนี้ ร้านต่างๆ ได้ทำขนมขนาด 50 กรัม ซึ่งได้คงรักษาประเพณีเก่าแก่ และยังสอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงของปัจจุบัน

ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face

Not Found!(404)