ค่านิยมชาวจีนรุ่นใหม่ในเรื่องการแต่งงาน

เชื่อว่าหลายคนเวลากลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัวที่ต่างจังหวัด หรือไปพบปะเพื่อนบ้าน ผู้อาวุโสที่นานๆ ทีได้เจอกัน จะต้องเจอกับคำถามว่า “แต่งงานหรือยัง” หรือ “เมื่อไหร่จะแต่งงาน”  หลายคนลำบากใจที่จะตอบ อาจจะพูดทีเล่นทีจริงว่ารอเนื้อคู่อยู่ หรือบางทีก็แค่ยิ้มเจื่อนๆ กลับไปแทนคำพูด หัวข้อเรื่องการแต่งงานนี้เป็นอะไรที่หยิบมาเล่าได้ทุกยุคทุกสมัย แถมอาจจะเป็นเรื่องที่บางบ้านกังวลใจ เป็นเรื่องที่หนุ่มสาวสมัยใหม่ลำบากใจที่จะปรึกษากับที่บ้าน ส่วนมากจึงได้แค่จับกลุ่มปรับทุกข์เม้าท์มอยกันในกลุ่มเพื่อน หรือบ่นลอยๆ ตามโซเชียล บ่นกับตัวเอง กับลมกับฟ้าไปเรื่อยๆ

ในฐานะที่เป็นวัยทำงานและก็ถูกถามคำถามทำนองเดียวกันมาบ้าง อยากจะให้กำลังใจกับผู้อ่านทุกคนที่กังวลกับเรื่องนี้ เราไปส่องที่ประเทศจีน -  ประเทศที่เขามีประชากรมากมายมหาศาล - มากกว่า 1,400 ล้านคนกัน ตอนนี้สถิติการแต่งงานของที่นั่นเป็นอย่างไร

ค่านิยมของชาวจีนก็เป็นไปตามเทรนด์ของโลกเช่นกัน ไม่เหมือนย้อนไปสมัยถังที่วัยรุ่นอายุ 15-20 ปีก็เข้าพิธีแต่งงานกันแล้ว รุ่นอายุที่ว่าถ้าสมัยนี้ ยังคงเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัย เรียกว่าอยู่ในวัยเรียนยังไม่พร้อมที่จะมีครอบครัว ยิ่งสมัยนี้คนจีนก็นิยมเรียนสูงๆ ผู้หญิงก็ได้โอกาสในการเรียนและการทำงานมากขึ้น ทำให้ตัวเลขอายุของคู่แต่งงานสูงขึ้นไปเรื่อยๆ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนมีการเปิดเผยว่า เมื่อปี 2017 มีประชากรจีนเพียงแค่ 7.2 คนจาก 1,000 คนที่จดทะเบียนสมรส ถือเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดในรอบหลายปี สำหรับสาวๆ วัยทำงานในช่วงอายุ 30-34 ปี มีอยู่ราว 6 % ที่ยังคงครองความโสด ตัวเลขนี้เทียบกับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สูงมากกว่าเป็น 10 เท่า นี่ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าค่านิยมชาวจีนส่วนใหญ่เริ่มแต่งงานช้าลง มาดูเหตุผลที่เขาให้กันบ้าง เกือบ 30 % ของกลุ่มที่ไปสำรวจให้เหตุผลคลาสสิกว่า “ยังไม่เจอคนที่ใช่” ในขณะที่เกือบ 1 ใน 4 ของกลุ่มสำรวจบอกเหตุผลที่อิงกับเศรษฐกิจและสังคมว่า “ยังไม่พร้อมจะมีภาระในการสร้างครอบครัว” และอีกหนึ่งเหตุผลที่น่าจะโดนใจหลายๆ คนก็คือ “ชีวิตโสดแบบนี้ก็ดีอยู่แล้วนี่นา”

สังคมและสภาพแวดล้อมก็เป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน ที่จีนในเมืองใหญ่ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้คือมาวินเลย มีอัตราการแต่งงานต่ำที่สุดในจีนด้วยตัวเลข 4.4 คนต่อพันคน ตามมาด้วยเทียนจิน กว่างโจว ปักกิ่ง ส่วนเมืองที่อัตราการแต่งงานสูงที่สุดในจีนก็คือกุ้ยโจว สถิติอยู่ 11.1 คนต่อพันคน ส่วนที่เมืองไทยของเราก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่าเมื่อปี 2017 อายุเฉลี่ยของผู้หญิงแรกสมรส (แต่งงานเป็นครั้งแรก) ในเมืองสูงกว่าชนบท  และผู้หญิงในช่วงวัย 35-39 ปีมีแนวโน้มที่จะไม่แต่งงานและอยู่เป็นโสดอย่างสุขๆ เพิ่มขึ้น แถมค่านิยมในการมีบุตรก็ยังน้อยลงไปเรื่อยๆ ด้วยเทรนด์ที่ว่านี้ เรามองเห็นอนาคตที่กำลังมาแล้วว่าเมื่อแต่งงานช้าลงหรือคู่แต่งงานน้อยลง อยู่เป็นโสดมากขึ้น ประชากรเด็กที่เกิดใหม่ก็ลดลงด้วย ส่วนจำนวนผู้สูงอายุก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกัน หลายประเทศพยายามบาลานซ์หรือทำให้เรื่องเหล่านี้มันสมดุล อย่างจีนเองก็มีการผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียวให้โอกาสประชากรเขามีทางเลือกมีลูกได้มากขึ้น เพราะเด็กเหล่านี้นี่แหละจะเป็นแรงงานขับเคลื่อนอนาคตของชาติและถ้าพูดในแง่ใกล้ตัวที่สุด ก็คือมาช่วยดูแลเราๆ ท่านๆที่กำลังจะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะคิดยาวๆ ไปถึงเรื่องจะมีลูกหรือไม่ จะมีกี่คนดี คุณผู้อ่านคงร้องเพลง “โปรดส่งใครมารักฉันที” ก่อน  เอาเนื้อคู่มาก่อนแล้วเรื่องอื่นค่อยมาคุยกัน เอาเป็นว่าขอแนะนำอย่าเพิ่งใจร้อน เพราะเมื่อถึงเวลาที่ใช่ คนที่ใช่ก็จะมาเองไม่ต้องไปดิ้นรนพยายามอะไรมากมาย ยังไงก็ขอให้สมหวังกันทุกคนนะคะ

แหล่งข้อมูลที่มา

  1. MRG Online (2019). ค่านิยมคนรุ่นใหม่ทำอัตราการแต่งงานในจีนลดต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี. https://mgronline.com/china/detail/9620000028313
  2. ประจิตร ป้อมอรินทร์ (2021). เพศสัมพันธ์และการแต่งงานของชาวตุนหวงสมัยราชวงศ์ถัง.  https://www.arsomsiam.com/wedding-sex-dunhuang/?fbclid=IwAR11IbfwOv0dBXLEEtYzPLwWL3sjPuF67A5E8ZjrFqeTa1BLwOrOPZL_n4E
  3. Arphawan Sopontammarak (2018). คนไทยโสด-มีลูกน้อยแนะรับมือสังคมสูงวัย. https://www.thaihealth.or.th/Content/40854-%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%AA%E0%B8%94-%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2.html
  4. Voice TV (2018). อัตราการเกิดในเอเชียต่ำ เพราะคนแต่งงานช้าลง. https://voicetv.co.th/read/HyVQvGEAX
ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face

Not Found!(404)