2021-01-31 10:14
ชนชาวไต(傣族) เป็นกลุ่มชนที่นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวไทย ก่อนที่จะอพยพลงใต้มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน อาศัยอยู่ในบริเวณเขตปกครองตนเองเผ่าไตสิบสองปันนา และเขตปกครองตนเองเผ่าไต เผ่าจิ่งโพ เมืองเต๋อหง มณฑลยูนนาน เอกลักษณ์สามอย่างที่ผูกพันกับวิถีชีวิตชาวไตคือ ไผ่หางหงส์ นกยูง และน้ำเต้า
ไผ่หางหงส์ เป็นพืชตระกูลไผ่ชนิดหนึ่ง คล้ายต้นหมากประดับของไทย ลักษณะใบเป็นแฉกริ้วๆเหมือนอย่างทางมะพร้าวแต่เล็กกว่า มองดูลักษณะคล้ายกับหางของพญาหงส์ จึงเรียกชื่อว่า ไผ่หางหงส์ ต้นไม้ชนิดนี้เกิดและเจริญงอกงามได้ดีปกคลุมไปทั่วพื้นที่ดินแดนชาวไตในเมืองสิบสองปันนาและเมืองเต๋อหง จึงนับว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำชนเผ่าไต
นกยูง เป็นสัตว์ที่พบมากในบริเวณสิบสองปันนา มีทั้งที่เป็นนกยูงป่าและนกยูงเลี้ยง ชาวไตนับถือนกยูงว่าเป็นนางพญาแห่งนก และนับถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำชนเผ่า จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของชาวไตสิบสองปันนาอีกอย่างหนึ่ง จนได้รับขนานนามว่า “ดินแดนแห่งนกยูง” ชาวไตจึงมีตำนานความเกี่ยวข้องของนกยูงกับไผ่หางหงส์ ตำนานเล่าว่า
“ผู้ใดสามารถเด็ดขนพญาหงส์มาได้ ก็จะกลายร่างงดงามดุจพญาหงส์ ต้นไผ่อัปลักษณ์เมื่อรู้ข่าว คิดอยู่ในใจว่า แม้ว่าฉันจะได้รับขนานนามร่วมกับพี่ต้นสน และน้องดอกเหมยว่าเป็น ผู้เฒ่าแกร่งแห่งเหมันต์ แต่ฉันอยากจะงดงามเหมือนอย่างน้องดอกเหมยบ้าง ก็เลยขอร้องให้น้องเหยี่ยวไปขอเด็ดขนพญาหงส์มาให้ น้องเหยี่ยวรับคำ ก็บินข้ามภูเขาเก้าลูก แม่น้ำเก้าสาย จนในที่สุดก็บินไปจนพบพญาหงส์ พญาหงส์ผู้มีจิตใจเมตตากรุณา ก็สลัดขนให้กับเหยี่ยว เหยี่ยวก็รีบเก็บขนพญาหงส์แล้วรีบบินถลาร่อนลมเอาไปให้เจ้าไผ่อัปลักษณ์โดยทันที ไผ่อัปลักษณ์เมื่อได้ขนพญาหงส์มาก็ดีอกดีใจโบกสะบัดใบโยกย้ายโลดเต้น ทันใดนั้นเอง สายฟ้าแปลบปลาบวาบส่องมาที่ต้นไผ่อัปลักษณ์นั้น ต้นไผ่ก็สูงระหงขึ้นในทันใด ใบที่เคยแห้งเฉาห่อเหี่ยวหนาเตอะ ก็กลับเรียวบาง ตั้งใบชูช่อ ดุจดั่งหางพญาหงส์ ผู้คนจึงเรียกต้นไผ่นี้ว่า ไผ่หางหงส์”
น้ำเต้า เกี่ยวข้องกับตำนานการสร้างโลกของชาวไต ตำนานเล่าว่า
“นานมาแล้ว เกิดเหตุน้ำป่าทะลักไหลบ่า เด็กหนุ่มชาวไตคนหนึ่งเกาะน้ำเต้าลอยคอฝ่าคลื่นยักษ์ไปช่วยคนรักของตน ความรักอันบริสุทธิ์ยังความประทับใจกับเทพคีตา จึงบันดาลให้พายุน้ำป่าสงบลง มวลบุปผาเบ่งบาน นกยูงรำแพน อวยพรอันประเสริฐแด่คู่รักทั้งสอง นับแต่นั้น น้ำเต้าจึงสืบทอดในมนุษย์ที่มีเชื้อสายชาวไตเรื่อยมา”
ในปี 1979 คณะสำนักศิลปากรแห่งเมืองเทียนจิน เดินทางสำรวจศิลปะดนตรีที่เมืองเต๋อหง มณฑลยูนนาน นักประพันธ์ในคณะที่เดินทางไปในครั้งนั้น ชื่อ หนี เหวยเต๋อ (倪维德) เห็นภาพหนุ่มสาวชาวไตพลอดรักรำพันเกี้ยวพาราสีกันใต้เงาป่าไผ่ในคืนจันทร์เพ็ญ ฝ่ายชายเป่าขลุ่ยน้ำเต้าเกี้ยวสาว ลมรำเพยพัดโชยใบไผ่พลิ้วไหวโอนเอนแผ่วเบา สร้างแรงบันดาลใจให้ หนี เหวยเต๋อ เขียนกลอนขึ้นมาหนึ่งบท ตั้งชื่อกลอนบทนี้ว่า “ไผ่หางหงส์ใต้แสงจันทร์” ผู้ประพันธ์ทำนองคือ ซือ กวางหนาน (施光南) บทกลอนนี้มีใจความว่า
月光啊下面的凤尾竹哟 轻柔啊美丽像绿色的雾哟 竹楼里的好姑娘 光彩夺目像夜明珠听啊 多少深情的葫芦笙 对你倾诉着心中的爱慕 哎金孔雀般的好姑娘 为什么不打开哎你的窗户 月光下的凤尾竹 轻柔啊美丽像绿色的雾哟 竹楼里的好姑娘 歌声啊甜润像果子露 痴情的小伙子 野藤莫缠槟榔树 姑娘啊我的心已经属于人 金孔雀要配金马鹿 月光下面的凤尾竹哟 轻柔啊美丽像绿色的雾哟 竹楼里的好姑娘 为谁敞开门又开窗户 哦是农科站的小岩鹏 摘走这颗夜明珠 哎金孔雀跟着金马鹿 一起啊走向那绿色的雾哎
ไผ่หางหงส์ใต้แสงจันทร์เจ้าเอย พลิ้วไหวราวเมฆคราม สาวน้อยในเรือนไผ่งาม ดั่งแก้วมณีวับวามยามราตรี ฟังซิฟังพี่ส่งสำเนียงเสียงขลุ่ย ฝากเพลงแทนใจมาให้โฉมศรี พญาหงส์ยังงามบ่เทียมน้องพี่ ใยไม่แง้มวจีรับพี่ยา ไผ่หางหงส์ใต้แสงจันทร์เจ้าเอย พลิ้วไหวราวเมฆคราม สาวน้อยในเรือนไผ่งาม ขับเพลงหวานดั่งน้ำตาลกล่อมโฉมสุดา พี่นี้มีใจเปี่ยมรัก ดั่งเถาวัลย์ร้อยเกี่ยวพันพฤกษา สาวเจ้าเอยใจพี่เป็นของน้องยา ดั่งยูงรำแพนคล้องใจม้าอัศวิน ไผ่หางหงส์ใต้แสงจันทร์เจ้าเอย พลิ้วไหวราวเมฆคราม สาวน้อยในเรือนไผ่งาม โอ้นงรามเจ้าเปิดหน้าต่างรับใครหรือไร หรือจะเป็นพญาอินทรีย์เหินทุ่ง เด็ดดาวประกายรุ้งไปจากพี่ชาย โอ้.....อัศวินยูงทองคล้องใจมิวาย ไปกับพี่เถิดนะโฉมฉายที่ “ไผ่หางหงส์ใต้แสงจันทร์”
เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงเพลง “ไผ่หางหงส์ใต้แสงจันทร์” คือ “ขลุ่ยน้ำเต้า” ภาษาจีนเรียกชื่อว่า หูหลูซือ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าชนิดหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชาวไต มีเสียงที่หวานใส และกังวาน ราวกับจะบอกให้รู้ว่าเป็นเสียงจากกลุ่มชนที่มีจิตใจซื่อตรง งดงามและบริสุทธิ์ของผู้คนเผ่าไต หากมีโอกาสเดินทางไปที่มณฑลยูนนานอันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไต ก็จะได้ยินเสียงขลุ่ยน้ำเต้าอบอวนไปทั่วทุกมุมเมือง
ความผูกพันของหูหลูซือ เพลงไผ่หางหงส์ใต้แสงจันทร์ และชาวไตหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เมื่อได้ยินเสียงหูหลูซือคราใด เพลงที่ได้ยินต้องเป็นเพลงไผ่หางหงส์ใต้แสงจันทร์ และเมื่อได้ยินเสียงหูหลูซือเป่าเพลงไผ่หางหงส์ใต้แสงจันทร์คราใด ก็จะต้องนึกถึงชาวไตอย่างแยกกันไม่ออก
คัดลอกรูปภาพมาจาก https://www.vjshi.com/watch/3168542.html