3.15 เลขดีของการคุ้มครองผู้บริโภค 消费者权利日 (2)

รายการพิเศษซานเยาอู่ (3.15) หรือ รายการในวันสิทธิผู้บริโภคสากลกลับมาอีกแล้วค่ะ หนึ่งปีมีแค่หนึ่งครั้ง เป็นรายการที่ผู้บริโภคทั่วๆ ไปอย่างเราๆ ท่านๆ น่าจะชอบดูและลุ้นไปด้วยว่าปีนี้จะมีรายชื่อหรือเคสตัวอย่างอะไรมา “เปิดโปง” บ้าง แต่สำหรับบรรดาบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้ให้บริการน้อยใหญ่อาจจะหนาวๆ ร้อนๆ อยู่ไม่น้อย แว่วมาว่าฝ่ายประชาสัมพันธ์หรือดูแลภาพลักษณ์องค์กรของหลายบริษัทได้มีการเตรียมการเพื่อรายการพิเศษในวันพิเศษเช่นนี้ไว้เป็นอย่างดี

สำหรับรายการซานเยาอู่ (3.15) นี้ เป็นรายการพิเศษความยาวประมาณสองชั่วโมงที่ออกอากาศทาง CCTV เริ่มออกอากาศมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 และได้รับความนิยมมากขึ้นทุกปี เท่าที่คนเขียนทราบ ในบางท้องที่ก็จะมีหน่วยงานท้องถิ่นจัดรายการ 3.15 ของตัวเองด้วย เช่น กว่างตง 3.15 ในปี 2021 จัดโดย Guangdong Economic Science and Education Channel (广东经济科教频道) โดยเลือกที่จะจัดขึ้นก่อนวันที่ 15 หนึ่งวัน (คิดว่าเลี่ยงไม่ให้ชนกับเจ้าใหญ่ต้นตำรับอย่าง CCTV) จุดประสงค์และกิจกรรมหลักก็เหมือนกัน แต่จะเน้นลงมาที่ท้องถิ่นมากขึ้น แต่ยังคง Concept คือ ไม่เปิดเผยชื่อแบรนด์ก่อนวันงานจริงเหมือนเดิม ที่น่าสนใจคือนอกจากจะมา “แฉ” แล้ว ในงานยังมีการเชิดชูประกาศสิบรายชื่อองค์กรที่มีผลงานดีเด่นในการปกป้องสิทธิผู้บริโภคและความปลอดภัยในการดำรงชีวิตอีกด้วย (อันนี้เข้าท่า ทำไม่ดีก็ “ฉะ” ทำดีก็ต้อง “ชม”)

3.15 เลขดีของการคุ้มครองผู้บริโภค 消费者权利日 (2)_fororder_20210318-1

รายการซานเยาอู่ - กว่างตง 3.15 ปี 2021

ที่มาภาพ: http://www.gd.xinhuanet.com/newscenter/2021-03/14/c_1127209081.htm

ต้องบอกว่าจากช่วงปีแรกๆ ที่ทางตัวผู้บริโภค ผู้ผลิตหรือให้บริการ รวมถึงสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคก็ยังไม่ค่อยเชี่ยวชาญนักในการ “ติดตามและเปิดโปง” การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค จนมาถึงปัจจุบันนี้ พ่อค้าร้านขายแบรนด์น้อยใหญ่ต่างๆ ก็เริ่มตระหนักและตื่นตัวกับวันซานเยาอู่มากขึ้น อย่างที่เคยเกริ่นไว้ว่าไม่ว่าจะเป็นแบรนด์นอกหรือแบรนด์จีนเอง หากไม่ได้มาตรฐานหรือเอาเปรียบผู้บริโภคก็ต้องโดน “แฉ” กันสักหน่อย แบรนด์กีฬาชื่อดังอย่าง Nike โดนเคสเรื่องโฆษณาเกินจริง เมื่อปีค.ศ. 2017 รองเท้าไนกี้รุ่น Hyperduk ไม่ได้มีระบบ Zoom Air อย่างที่กล่าวไว้ในโฆษณา มีการผ่าตัดแกะรองเท้าของจริงมาพิสูจน์ด้วย หลังจากที่โดนแฉ ทางไนกี้รีบออกประกาศสำนึกผิดกับผู้บริโภคและกล่าวว่าจะมีการติดต่อผู้บริโภคที่ซื้อรุ่นนี้ไป (ข่าวว่าขายไปแล้ว 300 คู่) เพื่อทำการชดเชย ขอโทษที่ทำให้เข้าใจผิด สับสน และอื่นๆ

3.15 เลขดีของการคุ้มครองผู้บริโภค 消费者权利日 (2)_fororder_20210318-2

NIKE Hyperdunk มีหรือไม่มี Zoom Air ??

ที่มาภาพ: https://radiichina.com/why-consumer-rights-day-has-companies-quaking-in-china/

และในปีเดียวกันนั้นเอง แบรนด์มินิมัลสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Muji ก็โดนแฉเรื่องของที่นำมาวางขายในร้านมีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น ตรงบริเวณที่เคยมีการประกาศว่ามีปริมาณการแผ่รังสีในระดับสูงเมื่อ 2 ปีก่อน ในกรณีนี้แพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง Tmall และ JD ก็โดนหางเลขไปด้วยว่าเป็นแหล่งวางขายสินค้าปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี สำหรับเคสนี้ ทางมูจิได้ออกแถลงการณ์ผ่าน Official Weibo นำเอาพวกเอกสารการนำเข้าต่างๆ มายืนยันว่าสินค้าตนได้คุณภาพผ่านมาตรฐานของประเทศจีน ฟังๆ ดูแล้ว เราก็จะพอเห็นได้ว่า การรับมือกับการถูกเอ่ยชื่อในรายการ 3.15 นั้นแต่ละองค์กรก็วางแผนรับมือแตกต่างกันไป

ข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ทาง CCTV เปิดเผยว่าพวกเขาจับผิดหรือติดตามเฝ้าสังเกตพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภคของแบรนด์น้อยใหญ่ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ  ผู้เกี่ยวข้องกับรายการซานเยาอู่ท่านหนึ่งซึ่งไม่อาจเปิดเผยตัวตนได้เสริมว่า เดี๋ยวนี้แบรนด์เขาฉลาดหลบหลีกขึ้นมาก บางบริษัทมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นครึ่งปีเพื่อไม่ให้ชื่อขององค์กรตนมาอยู่ในลิส “แฉ” ของรายการซานเยาอู่ ด้าน SCMP –South China Morning Post ก็ระบุถึงรายการซานเยาอู่ว่า มันไม่ได้เรียบง่ายเหมือนกับในช่วงแรกอีกแล้ว บางแบรนด์ก็อาศัยช่วง “แฉ” นี้แหละเป็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์ของตน และนั่นก็ไม่ได้หมายความ สิทธิผู้บริโภคในประเทศนั้นจะยกระดับขึ้นตามไปด้วย ลิสรายชื่อสินค้าและบริการที่จะถูกนำมาพูดถึงในรายการซานเยาอู่จะถูกปกปิดเป็นความลับสูงสุด อย่างไรก็ตาม CCTV เคยให้สัมภาษณ์กับ The Mirror ไว้ว่า เขาเก็บหลักฐานข้อมูลต่างๆ จาก Weibo และ Wechat เป็นหลัก โดยจะมีการ “พรีวิว” เนื้อหาเป็นแนวทาง หรือ เตือนแบบทางอ้อม ในการพรีวิวที่ว่านี้จะไม่มีการเอ่ยถึงชื่อแบรนด์ใดออกมาเลย แต่จะมีคีย์เวิร์ด อย่างเช่น ผู้ให้บริการ 4G  เป็นต้น (ด้านบริษัทที่เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดที่ถูกพูดถึงก็ไปประเมิน ร้อนๆ หนาวๆ และเตรียมตัวกันเอง เผื่อหวยจะออกที่ตน) ด้านข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐบาลจีนเปิดเผยว่า เมื่อปี ค.ศ. 2017 มีตัวเลขผู้บริโภคที่มาร้องเรียนเพิ่มขึ้นถึง 44% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคสที่เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ตัวเลขคนร้องเรียนเพิ่มขึ้นมากถึง 184.4 เปอร์เซ็นต์

3.15 เลขดีของการคุ้มครองผู้บริโภค 消费者权利日 (2)_fororder_20210318-3

MUJI ในประเทศจีน ออกมาอธิบายหลังจากถูกเอ่ยถึงในรายการ 3.15 เมื่อปี 2017

ที่มาภาพ: https://radiichina.com/why-consumer-rights-day-has-companies-quaking-in-china/

ในขณะที่ประเทศจีนให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคและพยายามรณรงค์ให้คนของเขารู้จักสิทธิของตน คนเขียนก็ไปได้ความรู้เพิ่มเติมมานิดหน่อยในฐานะผู้บริโภคที่หากได้กลับไปเมืองจีนก็ต้องไปใช้บริการหรือซื้อสินค้าเช่นกัน ศาลของอำเภอหลู มณฑลเสฉวน (泸县法院) ได้เผยแพร่คลิปให้ความรู้ด้านกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคไว้อย่างเข้าใจง่ายและใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน ข้อมูลจากในคลิปที่ว่าทำให้คนเขียนเพิ่งทราบว่า ยามที่เราเข้าร้านอาหาร เขามีอุปกรณ์ภาชนะในการรับประทานอาหารที่ผ่าการฆ่าเชื้อแล้ว (ปกติจะอยู่ในห่อพลาสติก) ให้เลือกใช้ (บางทีก็เหมือนบังคับใช้กลายๆ) สุดท้ายตอนคิดเงิน ทางร้านอาหาร “ไม่มีสิทธิ” จะคิดราคาค่าบริการของภาชนะที่ฆ่าเชื้อแล้วเหล่านี้ เอาจริงๆ ปกติคนเขียนจะจ่ายตลอดเลย แบบแค่ไม่กี่หยวน (น่าจะ 1-5 หยวน) ซึ่งในกรณีนี้ หลายคนจะคิดว่าเงินนิดหน่อยไม่เป็นไร จ่ายก็ได้หรอกจะได้จบๆ แต่ถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้วทางร้านไม่มีสิทธิคิดเงินเรา (การจัดเตรียมภาชนะให้สะอาดปราศจากเชื้อโรคเป็นขั้นตอนพื้นฐานที่ร้านอาหารต้องทำอยู่แล้วค่ะ) และหากร้านไม่ยินยอมเราก็สามารถฟ้องกลับได้เช่นกัน สำหรับคลิปที่ว่านี้ นอกจากเรื่องคิดค่าอุปกรณ์ภาชนะฆ่าเชื้อต่างหากแล้ว ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ถ้าเพื่อนๆ สนใจก็ลองเข้าไปที่ https://bit.ly/3bRkbfN    (เนื้อหาเป็นภาษาจีนและอ้างอิงกฎหมายจีน) เผื่อใครอยากทดสอบความรู้ในฐานะผู้บริโภคเล่นๆ  หัวข้อคลิปชื่อ “消费选择题, 你选对了吗?” หรือ “คำถามถึงผู้บริโภค คุณเลือกตอบได้ถูกหรือไม่?” ใครไปลองเล่นแล้วเป็นอย่างไรบ้างก็มาเล่าสู่กันฟังได้ค่ะ ขอให้เพื่อนๆ ผู้อ่านทุกคนสนุกและฉลาดกับการบริโภคเพื่อการจับจ่ายใช้สอยที่คุ้มค่านะคะ

3.15 เลขดีของการคุ้มครองผู้บริโภค 消费者权利日 (2)_fororder_20210318-4

คลิปให้ความรู้ด้านกฎหมายผู้บริโภค “消费选择题, 你选对了吗?” โดย泸县法院

ที่มาภาพ: https://www.163.com/dy/article/G57HMHG305390E0A.html

แหล่งที่มาข้อมูล:

  1. Reuters Staff (2021). Explainer: What is China's Consumer Rights Day? https://www.reuters.com/article/us-china-consumerday-explainer/explainer-what-is-chinas-consumer-rights-day-idUSKBN2B403G?il=0
  2. Jake Newby (2018). Why Consumer Rights Day has Companies Quaking in China. https://radiichina.com/why-consumer-rights-day-has-companies-quaking-in-china/
  3. C. Custer (2015). Chinese state TV to take aim at the internet industry for Consumer Rights Day. https://www.techinasia.com/chinese-state-tv-aim-internet-industry-consumer-rights-day
  4. TodayOnline (2017). Muji, Calbee, Nike put in hot seat by China’s name-and-shame TV show
  5.  
  6. 西安城市资讯via 163.com (2021).  国际消费者权益日丨消费选择题,你选对了吗?https://www.163.com/dy/article/G57HMHG305390E0A.html
  7. 新华网 (2021. ) 关注消费者权益,传递广东正能量——2021广东3·15晚会将播. http://www.gd.xinhuanet.com/newscenter/2021-03/14/c_1127209081.htm
  8. ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. 15 มีนาคม วันสิทธิผู้บริโภคสากล (WORLD CONSUMER RIGHTS DAY). https://www.consumerthai.org/data-storage/consumers-law/3802-consumer-rights-day.html
  9. ไทยรัฐออนไลน์ (2020). วิธีร้องเรียน สคบ. ออนไลน์ ง่ายใน 2 นาที. https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1890884
ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face
404 Not Found

404 Not Found


nginx