2021-04-08 17:12
รูปที่1: ผู้หญิงถือถุงชอปปิง
ปัจจุบันประชากรในประเทศจีนมีจำนวน 1,443,130,718 ล้านคน อ้างอิงจาก เว็บไซต์ worldometers.info นอกจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นแล้ว ประเทศจีนมีความเจริญก้าวหน้าและเป็นต้นแบบที่ควรเอาเยี่ยงอย่างในเรื่องของเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ นวัตกรรมด้านคมนาคม และอื่นๆ ในส่วนของพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาของประเทศเช่นกัน ข้อมูลจาก China Statistical Report on Internet Development (CNNIC) เปิดเผยว่า มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนจำนวน 904 ล้านคน พวกเขาใช้เวลาบนโลกออนไลน์ไปกับการเสพสื่อบันเทิง ดูไลฟ์สตรีมมิง ชอปปิง เล่นเกม จนไปถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเป็นเพราะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว จึงเป็นสาเหตุให้พฤติกรรมของพวกเขาเปลี่ยนไป บทความนี้มีความประสงค์ที่จะพาไปศึกษาพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของชาวจีน
การแทรกซึมของดิจิทัล
หากเคยไปเที่ยวหรือใช้ชีวิตในประเทศจีน คงพอนึกภาพออกกับความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าโดยไร้เงินสดผ่าน Alipay และ WeChat Pay ชาวจีนสามารถออกไปข้างนอก พร้อมกับมือถือเครื่องเดียว ขั้นตอนการชำระเงินให้ร้านต่างๆ สามารถทำได้โดยการสแกนค่าใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันที่กล่าวไปข้างต้น ในโลกออนไลน์ก็สามารถใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันได้เช่นเดียวกัน ปัจจุบันเว็บอีคอมเมิร์ซของจีนมีให้เลือกอยู่มากมาย ชาวจีนสามารถเลือกใช้ได้ตามใจชอบ เช่น Taobao, Tmall, JD.com หรือ Xiao Hong Shu การเข้ามามีบทบาทของ Alipay
และ WeChat Pay ทำให้การชอปปิงในโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ใครก็สามารถทำได้และเข้าถึงได้ง่ายเพียงแค่มี
โทรศัพท์มือถือ นอกจากเพลิดเพลินกับการสั่งซื้อ การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือก็ทำได้เช่นกัน Fintech หรือ Financial Technology ได้รับการตอบรับจากชาวจีนอย่างมหาศาล ด้วยความสะดวกของ Fintech โอน จ่าย ทำธุรกรรมได้ 24 ชั่วโมง กรณีตัวอย่าง ในช่วงตรุษจีน การแจกอั่งเปาให้ลูกหลาน ผ่าน WeChat Pay หรือเรียกอีกอย่างว่า อั่งเปาดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร หรือกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม รายงานจาก Global Times กล่าวว่า ชาวจีนมีแนวโน้มหันมาใช้ WeChat Pay จ่ายค่าบริการด้วยอัตราเงินหยวน เมื่อพวกเขาไปเที่ยวในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้เอง Fintech จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธนาคารหลายสาขาของเมืองต่างๆ ในประเทศจีนปิดตัวลง พร้อมกับการลดจำนวนของตู้เอทีเอ็ม
รูปที่2: โลโก้ WeChat และ Alipay
การเข้าถึงของผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล (Influencer)
网红 หรือผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล เป็นตัวแปรสำคัญทำให้ชาวจีนตัดสินใจซื้อสินค้า โดยพวกเขาสามารถแนะนำ Product ผ่านการไลฟ์สตรีมมิงหรือการถ่ายคลิปสั้นๆ และสร้างคอนเทนต์บอกเล่าเรื่องราวของสินค้าตัวนั้น มีรายงานเผยออกมาว่า ชาวจีนกว่า 70% ซื้อสินค้าตาม Influencer ที่พวกเขาชื่นชอบ หากพูดถึงปรากฎการณ์ที่โด่งดังอย่างมากในประเทศจีนจากการไลฟ์สตรีมมิงของ Li Jiaqi (หลี่ เจียฉี) ในวันคนโสดที่โกยเงินไปกว่า 4.5 พันล้าน ภายใน 1 วัน นอกจาก Influencer ที่มีอิทธิพลต่อชาวจีนแล้ว พวกเขายังเชื่อรีวิวจากผู้ใช้สินค้านั้นจริง โดยดูรีวิว อ่านคอมเมนต์ ประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้า ข้อมูลเหล่านี้เองเป็นข้อบ่งชี้ว่า การบอกเล่าเรื่องราวผลิตภัณฑ์สินค้าผ่านเหล่าคนดัง ดารา นักร้อง หรือนักแสดง อาจไม่ตอบโจทย์ในแง่กระตุ้นการขาย เนื่องมาจากพฤติกรรมของชาวจีนได้เปลี่ยนไปเพราะ Influencer และ รีวิวหรือคอมเมนต์ที่มีอยู่ตามสื่อโซเชียลมีเดีย
การมีตัวเลือกที่หลากหลาย
หากพูดถึงราคาอาจเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อสินค้าของชาวจีนยุคเก่า แต่สำหรับชาวจีนยุคใหม่ยินดีซื้อสินค้าในราคาสูงพร้อมคุณภาพที่เหมาะสมกับราคา พวกเขาเชื่อว่าซื้อทั้งทีต้องได้ของที่ดีที่สุด และพวกเขามีความกล้าที่จะใช้จ่ายเงิน เนื่องมาจากความมั่นใจในรายได้ที่สูงและความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของจีนที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น ประกอบกับการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างง่ายดายในปัจจุบัน ทำให้ชาวจีนยุคใหม่มีทางเลือกที่หลากหลาย และเลือกสิ่งที่ดีให้แก่ตนเองและคนรอบข้าง ข้อมูลจาก เว็บไซต์ Mckinsey&Company เปิดเผยว่า ชาวจีนยุคใหม่มีแนวโน้มบริโภค Luxury Brand เพิ่มขึ้น เนื่องมาจาก เชื่อว่า Luxury Brand มีคุณภาพ คุ้มราคา และทำงานมาเหนื่อย อยากมอบรางวัลให้กับตนเองบ้าง ปัจจุบันชาวจีนยุคใหม่มีช่องทางหาเงินหลากหลายช่องทาง จึงไม่แปลกใจหากพฤติกรรมของพวกเขาจะเปลี่ยนไป และกล้าที่จะจ่ายเงินเพื่อแลกกับคุณภาพของสินค้าที่ดี
รูปที่3: ผู้คนต่อคิวซื้อสินค้า Luxury Brand
ถ้าติดตามข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีนมาอย่างสม่ำเสมอ และนำมาเปรียบเทียบกับประเทศจีนในปัจจุบัน ดินแดนมังกรแห่งนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยี แต่เป็นประเทศที่มีความพร้อมและตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงที่อยู่รอบตัวเสมอ สืบเนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของประเทศจีน ซึ่งมี 3 ปัจจัยหลักดังนี้ การแทรกซึมของดิจิทัล การเข้าถึงของผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล และการมีตัวเลือกที่หลากหลาย
ที่มาของเนื้อหา
https://www.blockdit.com/posts/5ef3633b8e47eb5846d760ba
https://www.parklu.com/why-influencer-marketing-works-with-chinese-consumers/
https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648519
https://www.reddigitalchina.com/blog/2020-chinese-digital-marketing-trend-latest-china-internet-report/
https://www.marketingoops.com/reports/behaviors/the-power-of-modern-chinese-consumers/
https://chozan.co/chinese-consumer-behavior-overview/
ที่มาของรูป
รูปที่1: https://www.traveldailymedia.com/crazy-rich-chinese-fits-wegogo/
รูปที่2: https://en.setopati.com/market/148631
รูปที่3: http://www.china.org.cn/business/2013-02/16/content_27967707.htm