2021-04-17 11:44
“...เหมือนจิตรกรรมที่ฟ้าไม่เจตนา วาดกนกมาเปรียบดอกโบตั๋น งามสวยทั้งคู่ แต่ไม่อยู่รวมกัน...” สำหรับบทความนี้ เพื่อนๆ ผู้อ่านคงแอบคิดในใจว่า ผู้เขียนอารมณ์ดีมาจากไหนกัน? หรือเพราะว่าช่วงนี้ได้หยุดสงกรานต์ กลับบ้านกลับช่องหรือไปเที่ยวเกาะแก่งช่วงหยุดยาวมา จึงมีแก่ใจมาร้องเพลง (แอบ) เก่าแต่คลาสสิคอย่างเพลง “กนกลายโบตั๋น” ก็ต้องบอกว่าช่วงโควิดระบาดแบบนี้ คนเขียนได้แต่เที่ยวทิพย์ (เที่ยวเสมือนจริง) ทางออนไลน์เท่านั้นแหละค่ะ แต่ที่ร้องเพลงนี้เพราะอยากจะพูดถึงเทศกาลดอกโบตั๋นต่างหาก สำหรับคนไทยแล้วหากพูดถึง “ดอกโบตั๋น” ก็คงอดคิดถึงอะไรที่เกี่ยวข้องกับเมืองจีนเสียไม่ได้ เนื่องจากว่าดอกโบตั๋นเป็นหนึ่งในดอกไม้ที่เป็นเสมือนตัวแทนของประเทศจีน ก็คล้ายกับในนิยายที่เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อดัง “กนกลายโบตั๋น” ที่เปรียบตัวเอกฝ่ายหญิงไว้ว่าเป็น “ลายกนก” ที่งามสูงศักดิ์ของไทย และเปรียบตัวเอกชายที่มีเชื้อสายจีนว่า เป็น “ดอกโบตั๋น” ที่มีความบริสุทธิ์และคงทนนั่นเอง
ดอกโบตั๋นที่สวนในเมืองลั่วหยาง ถ่ายเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2021
ที่มาภาพ: CFP via https://bit.ly/2QsxFqb
ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี หากว่าไม่ติดเรื่องโรคระบาด เงินในกระเป๋าเบาหวิวหรือว่าวันลาหยุดหมดเกลี้ยงไปซะแล้ว เพื่อนๆ คนไหนที่ชื่นชอบการเที่ยวชมเทศกาลดอกไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกโบตั๋น ก็น่าจะวางแพลนไปเที่ยวเมืองจีนกันสักหน่อย นอกจากเหตุผลที่ว่าอากาศช่วงนี้ก็ดี๊ดี ย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ ไม่หนาวไปไม่ร้อนไปแล้ว การไปเยือนเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ในช่วงนี้คุ้มค่าสุดๆ เพราะที่นี่ขึ้นชื่อลือชานักว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกโบตั๋นที่เก่าแก่มากกว่า 1,500 ปี - มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน
ทุกฤดูใบไม้ผลิ ประมาณช่วงเมษายน - พฤษภาคม ที่เมืองลั่วหยางจะจัดงานเทศกาลดอกโบตั๋น งานนี้เป็นงานมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ระดับชาติ และเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของเมือง สำหรับปี ค.ศ. 2021 นี้ เทศกาลดอกโบตั๋นครั้งที่ 39 ก็เริ่มเปิดฉากกันตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมาและจะสิ้นสุดลงวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ และเนื่องจากเป็นยุคนิวนอร์มัลในช่วงยังมีโรคระบาด งานก็จะจัดทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นงานสังสรรค์ในสวน การแสดงโคมไฟ ขบวนพาเหรดดอกไม้ การประกวดดอกไม้ การประกวดอ่านกวีในหัวข้อดอกโบตั๋น ฯลฯ เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าร่วมกันอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ในวันที่ 10-11 เมษายนที่ผ่านมายังมีการไลฟ์สด 24 ชั่วโมงจากภายในงานให้ชมกันอย่างจุใจถึง 2 วันติด
ดอกโบตั๋นที่ลั่วหยาง
ที่มาภาพ: https://bit.ly/3dkPgcm
เมืองลั่วหยาง (洛阳) หรือ ลกเอี๋ยง มีที่มาจากชื่อของแม่น้ำลั่วเหอ (洛河) ที่ไหลผ่านตัวเมือง ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของมณฑลเหอหนาน พื้นที่มากกว่า 86 เปอร์เซ็นต์ของเมืองเป็นภูเขาและเนินเขา มีแม่น้ำหลักอยู่ 5 สาย ซึ่งนอกจากแม่น้ำลั่วเหอที่นำไปตั้งเป็นชื่อเมืองแล้ว ยังมีแม่น้ำอีเหอ ฉานเหอ เจี้ยนเหอ และหวงเหอ (หรือที่คนไทยคุ้นกันในชื่อ “ฮวงโห” ) ลั่วหยางมีดอกไม้ประจำเมืองที่ได้รับเลือกโดยการโหวตเมื่อปี ค.ศ.1982 ก็คือ “ดอกโบตั๋น” ประวัติเล่าว่า ดอกโบตั๋นเริ่มปลูกตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย แต่เฟื่องฟูมากที่สุดในช่วงราชวงศ์ถัง ดอกโบตั๋นของที่นี่มีหลากหลายสายพันธุ์และสีสัน ถูกเพาะและผสมพันธุ์ส่งขายทั้งในและต่างประเทศรวมแล้วมากกว่า 1,200 สายพันธุ์
ดอกโบตั๋น ในภาษาจีน เรียกว่า “มู่ตัน” (牡丹) ชาวจีนได้ยกย่องดอกโบตั๋นว่าเป็นราชาแห่งดอกไม้ (花中之王 หรือ百花之王) แต่ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยสีสันและความงดงามในขณะที่ดอกกำลังเบ่งบาน มีการนำไปเปรียบเปรยว่า งามเหมือนสตรีที่งามสง่าเพียบพร้อม ในสมัยโบราณมีการนำดอกโบตั๋นไปเปรียบเทียบ ผู้หญิงที่พรั่งพร้อมไปด้วยอำนาจและสูงส่งดังเช่น หวงโฮ่ว (ฮองเฮา หรือ พระราชินี) นอกจากนี้ ดอกโบตั๋นยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่ำรวย สูงส่ง เจริญรุ่งเรือง บางคนจึงเรียกดอกโบตั๋นว่า “ฟู่กุ้ยฮวา” (富贵花) แปลเป็นไทยได้ว่า “ดอกไม้แห่งความร่ำรวย” หากย้อนอดีตไปส่องดูในปราสาทราชวังก็นิยมปลูกดอกโบตั๋นเป็นอย่างมาก มีกวีหรือศิลปินชาวจีนมากมายได้รังสรรค์ผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจหรือเกี่ยวข้องกับดอกโบตั๋น ยามที่มีการกล่าวชมความงามของโบตั๋น เขาจะชมทั้ง 3 มิติอันได้แก่ กลิ่น สี และสัมผัส นอกจากนี้ ดอกโบตั๋นเองก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมในแบบจีน
ดอกโบตั๋น ณ ลั่วหยาง
ที่มาภาพ: https://bit.ly/3dlzUo8
ไหนๆ เราก็พูดถึงลั่วหยางและดอกโบตั๋นแล้ว ขอส่งท้ายกันด้วยเรื่องเล่าในตำนานที่เกี่ยวข้องกับดอกโบตั๋นว่า ในสมัยที่บูเช็กเทียนเรืองอำนาจ พระนางมีบารมีล้นพ้น มีวันหนึ่งในหน้าหนาวนางเห็นดอกไม้ในสวนเหี่ยวเฉาไม่สดชื่น จึงมีรับสั่งว่าพรุ่งนี้ให้ดอกไม้ทั้งหลายในสวนบานให้ชื่นพระทัยสักหน่อย ตามปกติแล้ว ดอกไม้แต่ละชนิดแต่ละสายพันธุ์ก็มีเวลาและฤดูกาลสำหรับผลิบานอยู่ แต่ด้วยความเกรงกลัวพระนาง ดอกไม้ในสวนจึงพร้อมใจกันเบ่งบาน ยกเว้นชนิดเดียวที่ไม่ยอมบานก็คือ “ดอกโบตั๋น” พระนางบูเช็กเทียนโมโหมากเลยสั่งให้ย้ายเจ้าโบตั๋นไปปลูกให้ไกลๆ สายตาที่เมืองลั่วหยาง แต่เมื่อย้ายโบตั๋นไปแล้วแทนที่พระนางจะใจเย็นลง กลับยิ่งหัวเสียหนักเพราะได้ข่าวว่า เมื่อย้ายไปปลูกที่ลั่วหยาง โบตั๋นก็หยั่งรากลงดิน เจริญงอกงามเบ่งบานดี พระนางจึงตัดสินใจสั่งให้เผาต้นโบตั๋นซะเลย ตำนานเล่าว่า ต้นและก้านของโบตั๋นก็มอดไหม้เพราะฤทธาแห่งพระเพลิงแต่ทว่าดอกก็ยังบานสวยสง่าสู้เปลวไฟ แต่นั้นมาดอกโบตั๋นจึงได้ชื่อว่า เป็นตัวแทนแห่งความงดงามและเด็ดเดี่ยวไม่ยอมก้มหัวให้ใคร เรื่องราวนี้จะจริงหรือไม่นั้นก็ยากจะเดา แต่ ณ ตอนนี้ ดอกโบตั๋นก็กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์และสร้างรายได้ให้กับเมืองลั่วหยางไปเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้วล่ะค่ะ
แหล่งที่มาข้อมูล:
1. CGTN (2021). Peony festival opens in central China's Henan. https://news.cgtn.com/news/2021-04-02/Peony-festival-opens-in-central-China-s-Henan-Z7NylUzPzO/index.html
2. 百科百度 (2019). 牡丹(双子叶植物纲芍药科植物). https://baike.baidu.com/item/%E7%89%A1%E4%B8%B9/6080#6
3. XinhuaThai (2021). ลั่วหยางเปิดฉากเทศกาลดอกโบตั๋นด้วยสารพัดกิจกรรม. https://www.xinhuathai.com/china/190317_20210401
4. ChinaTalks (2021). เทศกาลดอกโบตั๋น ลั่วหยาง. http://www.chinatalks.co/chinatalkstravel/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%8B%E0%B8%99-%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87/
5. เสี่ยวเฉิน: อาศรมสยาม-จีนวิทยา (2020). เมืองลั่วหยาง - ราชธานีเก่าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดของจีน. https://www.arsomsiam.com/luoyang/