2021-04-29 11:00
ที่มารูปภาพ https://www.tuniu.com/trips/12559348/
หลังจากผู้เขียนพาไปทำความรู้จัก อาผอฉา หรือ ชาอาม่าแห่งเมืองโจวจวงแล้ว วันนี้ผู้เขียนขอพาผู้อ่านไปรู้จักซูโหยวฉา (酥油茶) หรือที่คนไทยรู้กันในชื่อ ชาเนยจามรี ชาแห่งดินแดนหลังคาโลกกันบ้างนะคะ
ชาเนยจามรีเป็นชาที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวทิเบต การดื่มชาเนยจามรีเป็นเสมือนกิจกรรมอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวทิเบตที่จะขาดเสียไม่ได้ ชาวทิเบตจะดื่มชาเนยจามรีในทุกๆ เวลา ทุกๆ วันและทุกๆ ฤดูกาล ในเวลาเหน็บหนาว การดื่มชาเนยจามรีจะช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ในวันที่จัดหนักมื้อใหญ่ การดื่มชาเนยจามรีสามารถช่วยล้างไขมันจากอาหาร ในเวลาหิวโหย การดื่มชาเนยจามรีก็ช่วยรองท้องให้หายหิวได้ หรือในเวลาที่ง่วงเหงาหาวนอน การดื่มชาเนยจามรีก็ช่วยให้ตาสว่างหายง่วงได้ เช่นนี้แล้วชาเนยจามรีจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย
เมื่อกล่าวถึงที่มาของชาเนยจามรีก็ต้องย้อนอดีตไปในยุคราชวงศ์ถัง ตามบันทึกประวัติศาสตร์จีน ในรัชสมัยจักรพรรดิถังไท่จงหลี่ซื่อหมิน (唐太宗李世民) ได้ส่งองค์หญิงเหวินเฉิง (文成公主) ไปแต่งงานเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีกับราชวงศ์ถู่โป (吐蕃) ที่ปกครองทิเบตอยู่ในขณะนั้น สิ่งของที่องค์หญิงเหวินเฉิงนำติดตัวไปด้วยนอกจากเครื่องเพชรนิลจินดา ยารักษาโรค เมล็ดพันธุ์พืช หนังสือตำรา รวมถึงช่างฝีมือในแขนงต่างๆแล้ว สิ่งหนึ่งที่องค์หญิงเหวินเฉิงนำไปด้วยนั่นคือใบชา และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวทิเบตรู้จักการดื่มชา และเป็นต้นกำเนิดชาเนยจามรีในปัจจุบัน
การทำชาเนยจามรีของชาวทิเบตนั้นเริ่มจากทำเนยจามรีก่อน โดยนำน้ำนมจามรีที่รีดได้ทิ้งค้างคืนไว้สองคืนเพื่อให้น้ำนมเกิดการหมักตัวจนขึ้นฟอง ต่อมานำน้ำนมใส่ในถังไม้ (酥油桶) ที่ใช้สำหรับทำเนย จากนั้นใช้ไม้กระทุ้งน้ำนมขึ้นลงประมาณ 300 ครั้ง ระหว่างการกระทุ้ง มีการเติมน้ำอุ่นและพักเป็นระยะ การเติมน้ำอุ่นก็เพื่อช่วยทำให้น้ำนมกับเนยแยกตัวออกจากกัน เมื่อกระทุ้งไปจนเห็นเม็ดเนยเกาะตามไม้ที่ใช้กระทุ้งแสดงว่าเนยแยกออกจากน้ำนมแล้วก็ถือเป็นอันเสร็จขั้นตอนการกระทุ้ง ตักเนยใส่ถังไม้ใบใหม่แล้วเติมน้ำเย็นลงไปใช้ไม้กดเนยให้ทั่วแล้วเทน้ำทิ้ง จากนั้นเขย่าถังวนเป็นวงกลมให้เนยเป็นก้อน สุดท้ายเทน้ำเย็นลงไปอีกครั้งแช่ทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมงแล้วเทน้ำออกก็จะได้เนยจามรีสีเหลืองนวลชวนน่ารับประทาน
หลังจากเสร็จขั้นตอนการทำเนยก็มาถึงขั้นตอนการต้มชา น้ำชาที่ใช้สำหรับทำชาเนยจามรีนั้นไม่ใช่ได้จากการชงแต่ได้จากการต้ม โดยนำชาไปตำให้แหลกพอประมาณ แล้วนำไปต้ม 30 นาที ชาที่ได้จากการต้มจะมีสีแดงเข้ม ขั้นตอนสุดท้ายคือ การตีชา หรือการทำชาเนยจามรีนั่นเอง ขั้นตอนนี้เริ่มจากนำน้ำชาที่ต้มแล้วเทลงในกระบอกตีชา (打茶桶) ตักเนยจามรีลงไปผสม ใส่เกลือหรือน้ำตาลลงไป (จะเลือกใส่เกลือหรือน้ำตาลเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้หรือใส่ทั้งสองอย่างก็ได้เช่นกัน รสชาติขึ้นอยู่กับผู้ดื่มชื่นชอบ) จากนั้นตีจนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดีก็เป็นการเสร็จขั้นตอนการตีชา รสชาติของชาเนยจามรีจะมีรสมันๆ เค็มๆ หากใส่ทั้งเกลือและน้ำตาลรสชาติจะมันปะแล่มๆ มีทั้งเค็มและหวาน ดื่มครั้งแรกอาจไม่ชอบ แต่เมื่อดื่มไปนานๆ จะค่อยๆ ชินและรู้สึกอร่อยกับรสหอมมันหวานปนเค็มของชาเนยจามรี
กระบอกเล็ก(ซ้ายมือ) คือกระบอกตีชา (打茶桶) มีลักษณะยาว มีไม้ตีชาอยู่ภายใน เป็นกระบอกที่ใช้สำหรับตีชาเนยจามรีโดยเฉพาะ ส่วนถังไม้ (ขวามือ) เป็นถังที่ใช้ทำเนยจามรี
ที่มา https://baike.baidu.com/item/%e8%89%b2%e5%b0%bc%e5%8c%ba/22137605
ภาพการตีชาเนยจามรี จากภาพคือการเทน้ำชาลงไปในกระบอกตีชา
ที่มา http://3g.k.sohu.com/t/n447505870