2021-05-14 20:23
ภาพไอศกรีมซานซิงตุยที่วางขาย ณ พิพิธภัณฑ์ซานซิงตุย มณฑลเสฉวน
หลังจากข่าวขนมพระเครื่องของไทยเป็นที่ฮือฮาในโซเชียล ผู้เขียนก็บังเอิญอ่านเจอข่าวสารที่จีนในช่วงวันหยุดวันแรงงาน ซึ่งเป็นกระแสในโซเชียลจีนเช่นเดียวกัน นั่นคือ กระแสไอศกรีมซานซิงตุย (三星堆)
ซานซิงตุยเป็นหนึ่งในการค้นพบทางโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่และยังคงเป็นปริศนา กรุสมบัติซานซิงตุยมีการค้นพบที่บริเวณมณฑลเสฉวน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 ซึ่งในเวลานั้นมีการค้นพบหลุมบูชายันต์จำนวนสองหลุม และพบซากโบราณวัตถุมากกว่า 1,700 ชิ้น โดยโบราณวัตถุที่ถูกพูดถึงกันมาก ได้แก่ ประติมากรรมสัมฤทธิ์รูปมนุษย์ขนาดใหญ่ ประติมากรรมศีรษะมนุษย์สวมหน้ากากทองคำ เครื่องหยก ไม้เท้าทองคำ กงล้อดวงตะวัน และเครื่องสัมฤทธิ์ต่าง ๆในหลุมศพบูชายันต์ โบราณวัตถุเหล่านี้ล้วนเป็นที่สนใจของนักโบราณคดีและบุคคลทั่วไป เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกค้นพบนี้แตกต่างจากบันทึกประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมก่อนยุคราชวงศ์ฉิน
หลังจากการค้นพบครั้งแรก ระยะเวลาผ่านมากว่า 35 ปี ก็ได้มีการค้นพบหลุมบูชายันต์และวัตถุที่มีลักษณะคล้ายกับการค้นพบครั้งแรก ในวันที่ 20 มีนาคม ปี ค.ศ. 2021 คณะนักโบราณคดีจีนได้จัดแถลงความคืบหน้าการขุดค้นโบราณวัตถุ โดยวัตถุที่ค้นพบมีมากกว่า 500 ชิ้น ถูกค้นพบในหลุมบูชายันต์จำนวน 6 หลุม ภายในหลุมบูชายันต์มีการค้นพบเสี้ยวของหน้ากากมนุษย์ที่ทำจากทอง แผ่นทอง ประติมากรรมที่มีการใช้สีระบายบริเวณดวงตา งาช้าง และหยก เป็นต้น หากนับรวมการค้นพบหลุมบูชายันต์ในปี ค.ศ. 1986 และปี ค.ศ. 2021 นี้ พบหลุมบูชายันต์รวมแล้วทั้งสิ้นจำนวน 8 หลุม ซึ่งทั้งหมดต่างมีลักษณะเป็นหลุมแนวยาว มีทิศทางการหันเหมือนกัน โบราณวัตถุที่ถูกค้นพบก็มีลักษณะคล้ายกัน ในการค้นพบซากโบราณวัตถุที่มีลักษณะแตกต่างจากการค้นพบโบราณวัตถุอื่น ๆ ในประเทศจีนนี้ ทำให้ซานซิงตุยเป็นที่สนใจและยังคงมีคนพยายามค้นหาปริศนาการค้นพบนี้ เกิดเป็นกระแสแนวคิดต่าง ๆ เช่น “ซานซิงตุยเป็นอารยธรรมของมนุษย์ต่างดาว” “การค้นพบโบราณวัตถุรูปร่างคล้าย Small Pig เป็นที่มาของ Small Pig ในเกมแองกรีเบิร์ดส์” เป็นต้น
จากกระแสข่าวการค้นพบซานซิงตุยอีกครั้ง ทำให้นำมาสู่ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวของพิพิธภัณฑ์ซานซิงตุย มณฑลเสฉวน ประเทศจีน โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้สร้างสรรค์ซานซิงตุยออกมาในรูปแบบของไอศกรีมรูปประติมากรรมศีรษะมนุษย์สวมหน้ากากทองคำ ปัจจุบันมีวางขายอยู่สองรสชาติด้วยกัน รสชาติแรกคือรสชาติชาเขียว ซึ่งออกแบบให้มีสีเหมือนกับเครื่องสัมฤทธิ์ และรสชาติที่สองคือรสช็อกโกแลตที่ออกแบบให้เหมือนกับสีของดิน เป็นการบ่งบอกถึงการค้นพบทางโบราณคดี ความคิดสร้างสรรค์นี้ก็ได้รับความนิยมมากในช่วงวันหยุดวันแรงงาน ทำให้ไอศกรีม 1,200 กว่าแท่งถูกขายหมดในเวลาไม่ถึงครึ่งวัน โดยในอนาคตผู้ออกแบบแนวคิดนี้วางแผนว่าจะทำไอศกรีมในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย เช่น ไอศกรีมรูปประติมากรรมสัมฤทธิ์รูปมนุษย์ ไอศกรีมรูปประติมากรรมศีรษะนก และจะเพิ่มรสชาติของไอศกรีมให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
และจากความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ที่ถูกแชร์ไปในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในเวลาไม่ถึงหนึ่งวัน ไอเดียการนำจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวมาทำไอศกรีม หรือขนมต่าง ๆ ก็ถูกนำไปใช้ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ ของจีน ซึ่งก็ได้รับความนิยมจากชาวจีนในช่วงวันหยุดที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก นับว่าเป็นการสร้างรายได้ และส่งเสริมวัฒนธรรมไปในเวลาเดียวกัน
ที่มาข้อมูล บัญชีทางการ CGTN https://mp.weixin.qq.com/s/oZYIMNOjNF2TCHTqVb0IDA