เหตุใดพรรคคอมมิวนิสต์จีนแซงหน้าพรรคก๊กมิ่นตั๋งกลายเป็นทางเลือกของประชาชน

2021-05-31 08:50CMG

เหตุใดพรรคคอมมิวนิสต์จีนแซงหน้าพรรคก๊กมิ่นตั๋งกลายเป็นทางเลือกของประชาชน_fororder_活动标识

ค.ศ. 2021 เป็นวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน การทำความเข้าใจสาเหตุที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนแซงหน้าพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ซึ่งเดิมมีพลังเหนือกว่าเป็นอย่างมากและกลายเป็นทางเลือกในที่สุดของประชาชนจีนนั้น มีทั้งคุณค่าทางวิชาการและความหมายในปัจจุบัน

เพื่อฉลองการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนครบรอบหนึ่งศตวรรษ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาสตราจารย์ เซ่า เว๋ยเจิ้ง ผู้มีประสบการณ์ทำงานศึกษาค้นคว้ามีส่วนในการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พรรคฯ และประวัติศาสตร์การปฏิวัติจีนมาอย่างยาวนาน ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเหตุผลที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนแซงหน้าพรรคก๊กมิ่นตั๋งจีนและกลายเป็นทางเลือกในที่สุดของประชาชนจีนอย่างน่าสนใจ

ศาสตราจารย์ เซ่า เว๋ยเจิ้ง กล่าวว่า พรรคการเมืองเป็นตัวแทนแบบรวมศูนย์ของชนชั้นหรือผลประโยชน์ของชนชั้น เป็นผลจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเข้าสู่ขั้นตอนที่แน่นอน ภารกิจหลังการปฏิวัติซินไฮ่ (ขบวนการปฏิวัติทั่วประเทศที่มีวัตถุประสงค์โค่นล้มระบอบเผด็จการกษัตริย์แห่งราชวงศ์ชิงและสถาปนาระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1911 - 1912) จีนได้เดินบนหนทางแห่งระบอบสาธารณรัฐแบบประชาธิปไตย จึงได้เกิดกระแสร้อนแรงแห่งการก่อตั้งพรรคการเมืองตั้งแต่ ค.ศ. 1912 โดยในช่วงเวลาหนึ่งเคยมีพรรคการเมืองมากถึงราว 300 พรรค ทั้งยังได้เกิดปรากฏการณ์ “สลับผลัดเปลี่ยนกันแสดงบทบาท” ของพรรคการเมือง แต่บรรยากาศอันคึกคักเช่นนี้ดำรงอยู่สักพักเท่านั้น สุดท้ายความใฝ่ฝันในระบอบรัฐสภาก็ได้ดับลง

ควบคู่ไปกับดอกผลของการปฏิวัติซินไฮ่ถูกหยวนซื่อไข่ (ขุนศึกผู้ทรงอิทธิพลในเวลานั้น) ชิงไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม ซึ่งนำจีนเข้าสู่ยุคการปกครองของรัฐบาลเป่ยหยาง และในขณะเดียวกันยังเป็นช่วงเวลาที่บรรดาขุนศึกแยกกันเป็นผู้ปกครองดินแดนที่ตนเองยึดครอง (รัฐบาลเป่ยหยาง หมายถึง รัฐบาลกลางของจีนในช่วงต้นของสาธารณรัฐจีน ซึ่งมีขุนศึกเป่ยหยางที่เติบใหญ่ในปลายราชวงศ์ชิงและนำโดยหยวนซื่อไข่มีบทบาทนำในโครงสร้างการเมืองจีน เกิดขึ้นหลังจากหยวนซื่อไข่ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1913 รัฐบาลเป่ยหยางเป็นระบอบการปกครองแรกในประวัติศาสตร์จีนที่สืบทอดดินแดนของราชวงศ์ก่อนอย่างสมบูรณ์ด้วยสันติวิธี และยังเป็นรัฐบาลจีนชุดแรกที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกหลังจากการล่มสลายของราชวงศ์ชิง) “การโค่นล้มจักรวรรดินิยมผู้รุกรานจีน และกำจัดขุนศึก” ได้กลายเป็นความปรารถนาร่วมกันของประชาชนทั้งประเทศ พรรคก๊กมิ่นตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ได้เริ่มความร่วมมือครั้งแรกระหว่างสองพรรคเมื่อปี ค.ศ. 1924 โดยได้ทำการปฏิวัติครั้งใหญ่อย่างเข้มข้นและสามารถล้มล้างการปกครองที่สวนทางกับกระแสทางประวัติศาสตร์ของขุนศึกเป่ยหยาง แต่ทว่าในเดือนเมษายน ค.ศ. 1927 เจียงไคเช็คได้ทรยศต่อการปฏิวัติ เป็นเหตุให้เวลานั้นคุณลักษณะของพรรคก๊กมิ่นตั๋งได้เปลี่ยนจากพันธมิตรของ 4 ชนชั้นในช่วงการปฏิวัติครั้งใหญ่มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของขุนศึกใหม่ จึงนำไปสู่การแยกทางกันเดินของทั้งสองพรรค

ในช่วง 22 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1927 - 1949 บนเวทีการเมืองจีนยังมีพรรคการเมืองอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นหรือกลุ่มต่าง ๆ แต่พรรคที่สำคัญที่สุดต้องยกให้พรรคก๊กมิ่นตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ การศึกษาค้นคว้าและเปรียบเทียบสองพรรคการเมืองนี้มีความหมายสำคัญอย่างยิ่งต่อทิศทางการพัฒนาและชะตากรรมทางประวัติศาสตร์ของจีน

พรรคก๊กมิ่นตั๋งเคยมีอดีตอันรุ่งเรือง ครองฐานะเป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติจีนช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และถึงจุดสูงสุดในช่วงการปฏิวัติครั้งใหญ่ หลังจากการปฏิวัติรัฐประหาร “12 เมษายน“ คุณลักษณะของพรรคก๊กมิ่นตั๋งได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และได้เสื่อมถอยลงตั้งแต่ช่วงปลายของสงครามต่อต้านญี่ปุ่นไปจนถึงช่วงสงครามปลดปล่อยทั่วประเทศจีน แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะก่อตั้งขึ้นช้ากว่าและเผชิญความพลิกผันหลายครั้งในช่วงเริ่มต้นก็ตาม แต่มีแนวโน้มโดยรวมที่เติบโตขึ้นจากเล็กสู่ใหญ่ จากอ่อนแอสู่เข้มแข็ง จนคว้าอำนาจการปกครองทั่วประเทศด้วยความสำเร็จ พรรคก๊กมิ่นตั๋งเดินบนหนทางสู่ความตกต่ำในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเติบใหญ่อย่างคึกคัก ทำให้แนวโน้มการพัฒนาของทั้งสองพรรคแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายที่แตกต่างกันอย่างมหาศาลของทั้งสองพรรค

ในช่วงเวลา 22 ปีดังกล่าว แม้พรรคก๊กมิ่นตั๋งอยู่ในฐานะผู้ปกครองทั่วประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคนี้มีความแข็งแกร่ง ระหว่างพรรคก๊กมิ่นตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์พรรคใดจะชนะหรือแพ้นั้นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติเฉพาะตัวของทั้งสองพรรค เราอาจลองทำการเปรียบเทียบสองพรรคการเมืองนี้อย่างเป็นระบบ

หนึ่ง คือ ระบบทฤษฎี พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดถือลัทธิมาร์กซ์–เลนินและแนวคิดเหมาเจ๋อตุงเป็นแนวคิดชี้นำ พรรคก๊กมิ่นตั๋งใช้ลัทธิไตรราษฎร์หรือสามหลักการแห่งประชาชนในระยะเริ่มต้น (ลัทธิไตรราษฎร์ หมายถึง ประชาชาติ ประชาสิทธิ์ และประชาชีพ เป็นหลักนโยบายของการปฏิวัติประชาธิปไตยที่ริเริ่มโดยซุน ยัตเซ็น รวมทั้งเป็นแก่นแท้และบทสรุปสาระสำคัญที่สุดตามแนวคิดประชาธิปไตยของซุน ยัตเซ็น) ภายหลังเจียง ไคเช็คทรยศต่อการปฏิวัติ พรรคก๊กมิ่นตั๋งใช้ลัทธิปฏิบัตินิยมและแนวคิดระบบเครือญาติแบบศักดินาเป็นแนวคิดชี้นำ

สอง คือ แนวทางการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีนดำเนินการปฏิวัติต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม ระบบศักดินา และทุนนิยมพวกพ้อง ซึ่งนำโดยชนชั้นกรรมาชีพและมีปวงประชาเข้าร่วม นำจีนไปสู่แสงสว่าง ส่วนพรรคก๊กมิ่นตั๋งเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของจักรวรรดินิยมอเมริกาและอังกฤษ ตลอดจนเจ้าของที่ดินและเจ้าขุนมูลนายผู้ทรงอิทธิพล ปกป้องการปกครองระบอบเผด็จการ นำจีนไปสู่ความมืดมน

สาม คือ คุณลักษณะและวัตถุประสงค์ พรรคคอมมิวนิสต์เป็นตัวแทนของผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชน รับใช้ประชาชนด้วยความบริสุทธิ์ใจ กลายเป็นแกนกลางของความสามัคคีและนำประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ส่วนพรรคก๊กมิ่นตั๋งเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของขุนศึกใหม่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนักการเมือง โดยอาศัยการใช้อำนาจเผด็จการและความรุนแรงในการรักษาการปกครอง

สี่ คือ สภาพองค์กรจัดตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับการจัดตั้งอย่างแน่นหนา มีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด มีการรวมศูนย์และเอกภาพในระดับสูง ส่วนพรรคก๊กมิ่นตั๋งมีการจัดตั้งอย่างหลวม ๆ ที่เป็นแบบระบบราชการ ประกอบด้วยกลุ่มและฝ่ายที่ทรงอิทธิพลและมีความเป็นตัวของตัวเอง ภารกิจของพรรคถูกยกเลิกหรือไม่ได้รับการปฏิบัติตามและไม่สามารถรวมตัวเป็นกำลังร่วมได้

ห้า คือ คุณภาพผู้นำ พรรคคอมมิวนิสต์รวบรวมบุคลากรหัวกะทิของประชาชาติจีน ทีมผู้นำมีคุณภาพสูงและมีความสามารถที่เข้มแข็ง พวกเขามีความโดดเด่นในการต่อสู้อย่างหนัก ส่วนพรรคก๊กมิ่นตั๋งมีองค์ประกอบของผู้นำที่ซับซ้อน เช่น ขุนศึกใหม่ ข้าราชการเก่า ผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่น และกลุ่มนายทุนผูกขาด ซึ่งแม้รวมตัวอยู่ด้วยกันแต่ไร้ซึ่งความร่วมแรงร่วมใจกัน กลับแทนที่ด้วยการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างกัน

หก คือ พื้นฐานมวลชน พรรคคอมมิวนิสต์มีรากฐานมาจากกรรมกรและชาวนา มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมวลชน ได้รับการสนับสนุนอย่างมากและจริงใจจากมวลชน ส่วนพรรคก๊กมิ่นตั๋งไม่สามารถเข้ากันได้กับบรรดากรรมกรและชาวนา ทั้งยังมีการกระทำที่สวนทางกับความปรารถนาของประชาชน

การเปรียบเทียบและคัดเลือกพรรคการเมืองจากทั้ง 6 ด้านดังกล่าว หลังผ่านการทดสอบและแยกแยะเป็นเวลากว่า 20 ปี ประวัติศาสตร์ได้ให้การตัดสินว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนเหนือกว่าพรรคก๊กมิ่นตั๋งอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ กล่าวได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยผ่านวิกฤตหลายครั้ง สามารถเอาชนะความยากลำบากต่าง ๆ นานาได้พร้อมไปกับการอุทิศความสูญเสียเหลือคณานับ จนได้กลายเป็นแกนกลางผู้นำของการปฏิวัติจีน นี่คือการตัดสินใจประวัติศาสตร์และประชาชนซึ่งสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้คนทั้งหลายอย่างแท้จริง

TIM/LU

ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face
404 Not Found

404 Not Found


nginx