จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน

จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน

ปัจจุบัน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นปัญหาที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากทั่วโลก เมื่อเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่นับวันรุนแรงขึ้น มนุษย์เริ่มศึกษาจริยธรรม และปรัชญาทางสิ่งแวดล้อม  บรรดานักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า มนุษย์ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างรุนแรงมาก  จนทำให้ทุกวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เอง

หัวใจหลักของวิชาเกี่ยวกับจริยธรรมและปรัชญาทางสิ่งแวดล้อมคือ ต้องใช้แนวคิด “สิ่งมีชีวิตบนโลกเป็นองค์เดียวกัน” แทนแนวคิด “มนุษย์เป็นศูนย์กลางของโลก” กล่าวคือ มนุษย์และสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นบนโลกมีสิทธิ์เสมอภาคเท่าเทียมกันในการดำรงชีวิตและพัฒนา

วัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชาวจีนในสมัยโบราณมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับจริยธรรม และปรัชญาทางสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน    

ปรัชญาดั้งเดิมของจีนเน้นอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตทุกประเภท ในสายตาของขง จื่อ  นักคิดและนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยโบราณของจีน ฟ้าเป็นแหล่งกำเนิดสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง การสร้างชีวิตเป็นแนวทาง และวัตถุประสงค์ของฟ้า 

จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน

หนังสือ “อี้จิง” ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงได้สืบทอดแนวความคิดของขงจื่อดังกล่าว โดยอธิบายว่า การสร้างชีวิตอย่างต่อเนื่องก็เป็นการเปลี่ยนแปลง  และคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ของฟ้าและดินก็คือ การสร้างชีวิต

เมิ่งจื่อ นักปรัชญาสำนักขงจื่อ ที่เกิดหลังขงจื่อกว่า 100 ปี กล่าวว่า คนเราจะต้องรักคนในครอบครัว คนทั่วไป และสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลก

นักคิดและนักปรัชญาสำนักขงจื่อรุ่นต่อๆมา ล้วนแต่ได้ยึดแนวคิดของขงจื่อที่ว่า ฟ้าและดินเป็นต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลก คนเราต้องรักและมีเมตตาต่อสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลก  เช่น

โจว ตุนหยี นักคิดสำนักขงจื่อในสมัยราชวงศ์ซ่ง กล่าวว่า ฟ้าสร้างชีวิตจากสิ่งที่เรียกว่า “หยาง (yang)” และหล่อเลี้ยงชีวิตจากสิ่งที่เรียกว่า “หยิน (yin)”    

เฉิง หยี นักคิดสำนักขงจื่อสมัยราชวงศ์ซ่งอีกคนหนึ่งกล่าวว่า  ธรรมชาติของชีวิตคือ   มีเมตตาต่อสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลก

จาง ไจ้ นักวิชาการสมัยเดียวกันกล่าวว่า  ทุกคนบนโลกนี้เป็นพี่น้องของเขา และสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลกนี้เป็นเพื่อนร่วมเดินทางของเขา    เฉิง เฮ่า นักวิชาการสมัยราชวงศ์ซ่ง เช่นกันกล่าวว่า ผู้ที่มีเมตตาถือตัวเองเป็นประเภทเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลก  

จากถ้อยคำของชาวโบราณจีนดังกล่าวจะเห็นได้ชัดว่า นักปรัชญาสำนักขงจื่อเห็นว่า มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกนี้เป็นประเภทเดียวกัน มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ดังนั้น คนเราจึงต้องรักครอบครัว รักคนทั่วไป ตลอดจนรักสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลก

เจิ้ง ปันเฉียว นักวาดผู้มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ชิงกล่าวในจดหมายถึงครอบครัวฉบับหนึ่งว่า เขารักสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลก ไม่ว่าจะเป็นมด หรือแมลงก็ตาม   และนี่เป็นความปรารถนาของฟ้า มนุษย์ต้องเข้าใจความปรารถนาของฟ้า   เจิ้ง ปันเฉียวไม่เห็นด้วยกับการเลี้ยงนกในกรง เพราะเห็นว่า การเลี้ยงนกในกรงมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อสร้างความสนุกสนานให้แก่ตัวเราเองเท่านั้น และไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของนก จึงไม่เหมาะสม เขากล่าวอีกว่า แม้สัตว์ชนิดที่ดุร้าย เช่น หมาป่า และเสือ เราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปทำร้ายมันตามอำเภอใจ สิ่งที่เราทำได้มีเพียงไล่ให้มันห่างออกไปเท่านั้น  เพื่อป้องกันไม่ให้มันเข้ามาทำร้ายมนุษย์  เจิ้ง ปันเฉียวยังกล่าวว่า หากเรารักนกจริงๆ   ก็ต้องพยายามปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น เพื่อทำให้นกมีที่พักอาศัยมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เวลาตื่นเช้า เราจะมีโอกาสได้ยินเสียงนกร้องเพลงมากขึ้น เราและนกจะมีความสุขด้วยกันทั้งคู่   ดังนั้น เราต้องให้สิ่งมีชีวิตทุกอย่างดำรงชีวิตตามความเป็นธรรมชาติของมัน เมื่อเป็นเช่นนี้ มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกก็จะมีความสุขด้วยกัน

สุนทรียศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อมในวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับจริยธรรมและปรัชญาทางสิ่งแวดล้อมในสมัยโบราณของจีนอย่างใกล้ชิด  

นักคิดในสมัยโบราณจีนเห็นว่า ธรรมชาติเป็นโลกแห่งชีวิต  สิ่งมีชีวิตทุกประเภทมีสภาพความเป็นอยู่ของตัวเอง เฉิง เฮ่า นักปรัชญาสมัยราชวงศ์ซ่ง กล่าวว่า สภาพความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลกน่าชื่นชมที่สุด คนเราจะสามารถได้รับความสำราญอย่างมากจากการชื่นชมสภาพความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ บนโลก

นักคิดสำนักขงจื่อในสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หมิง ล้วนแต่ชื่นชอบในการสังเกตสภาพความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก เช่น โจว ตุนหยี ไม่ยอมให้ถางหญ้าข้างประตูออก เขาอธิบายเหตุผลให้ฟังว่า หญ้าเติบโตตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลก จากการเติบโตของหญ้า เขาสามารถสังเกตถึงการเกิดขึ้นและสภาพความเป็นอยู่ของชีวิตชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ สภาพความเป็นอยู่ของหญ้าคล้ายคลึงกับสภาพความเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์   จากการสังเกตสภาพความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกทำให้เขารู้สึกมีความสุขมาก

เฉิงเฮ่า นักคิดสมัยราชวงศ์ซ่งชอบสังเกตสภาพความเป็นอยู่ของปลาที่เขาเลี้ยงไว้ และลูกไก่ที่เพิ่งฟักออกมา  ในสายตาของเขา  ลูกไก่ที่เพิ่งฟักออกมาเปี่ยมด้วยชีวิตชีวาและน่ารัก  น่าชื่นชมที่สุด

งานศิลปะและวรรณคดีจำนวนมากในสมัยโบราณของจีนก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่รักสิ่งมีชีวิต และสภาพความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลก 

ต่ง ฉีชาง นักวาดผู้มีชื่อเสียงในปลายสมัยราชวงศ์หมิงกล่าวว่า นักวาดส่วนใหญ่มีอายุยืนยาว เพราะว่า สิ่งที่พวกเขาสังเกตล้วนแต่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา  

ต่ง โยว นักสะสมของเก่า ผู้มีความชำนาญด้านโบราณวัตถุ คนดังสมัยราชวงศ์ซ่ง กล่าวเน้นว่า นักวาดต้องสังเกตและเรียนรู้จากธรรมชาติ เพราะต้องวาดสภาพความเป็นอยู่ตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต  

หวัง ไก้ นักคิดสมัยราชวงศ์ชิงสรุปเคล็ดลับในการวาดปลาว่า  ต้องวาดให้ปลาเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา  ต้องทำให้คนดูภาพวาดแล้ว เกิดความรู้สึกว่า ปลากำลังว่ายอยู่ในน้ำ  เขายังได้นำความสุขของคนมาเปรียบเทียบกับความสุขของปลาที่อยู่ในธรรมชาติ   

นักวาดจีนไม่เคยวาดสัตว์ที่ปราศจากชีวิต   นก ปลา แมลงที่เกิดจากปลายปากกาของนักวาดจีนล้วนแต่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา 

วรรณคดีสมัยโบราณของจีนก็เน้นความสำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลกเช่นกัน ในบทกวีสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่กวีจีนพัฒนาถึงจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์จีน  ดอกไม้ นก ต้นไม้ที่ปรากฏอยู่ในบทกวีล้วนมีความรู้สึกด้านสุนทรียที่คล้ายคลึงกับผู้คนทั่วไป  

จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน_fororder_生态意识1 (1)_副本 

ในหนังสือรวมเรื่องสั้น “เหลียวไจจื้ออี้ - บันทึกพิสดารจากห้องหนังสือ” ที่เขียนโดย ผู่ซงหลิง นักเขียนในสมัยราชวงศ์ชิง มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นถูกพรรณนาเป็นสิ่งมีชีวิตในประเภทเดียวกัน นิทานหลายเรื่องเล่าถึงความรักระหว่างชายหนุ่มกับภูตสาว เช่น เรื่องความรักของ “เซียงอี้ว์”   สาวงามเซียง อี้ว์(xiang yu) และเจี้ยง เสวี่ย (jiang xue) ที่แปลงร่างจากดอกโบตั๋น และต้นคามิลเลีย(ต้นแต้ฮวย) ที่ปลูกอยู่ในวัดแห่งหนึ่งกลางหุบเขาเหลาซัน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิเต๋า  เซียงอี้ว์ตกหลุมรักกับหวง เซิง บัณฑิต หนุ่มที่เรียนหนังสืออยู่ในวัดดังกล่าว  ส่วนเจี้ยงเสวี่ยก็กลายเป็นเพื่อนของคู่รักดังกล่าว   แต่โชคร้าย ทั้งคู่ต้องพรากจากกันไป เมื่อมีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งเห็นดอกโบตั๋นในวัดสวยงามมาก ก็ได้ย้ายดอกโบตั๋นไปปลูกที่บ้าน  ทำให้ดอกโบตั๋นต้องเหี่ยวแห้งและตายไป  หวง เซิงรู้สึกเศร้าเสียใจมาก จึงได้เขียนกวีในหัวข้อ “ร้องไห้ต่อดอกไม้” รวม 50 บท ต่อมา เต้าสือ นักบวชในวัดมีแผนจะตัดต้นแต้ฮวยออก เพื่อใช้พื้นที่บริเวณนั้นสร้างสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม   แต่โชคดี คราวนี้ถูกหวง เซิงห้ามไว้ทัน ต่อมาไม่นาน มีพืชต้นใหม่โผล่ออกมาในจุดที่ดอกโบตั๋นเคยอยู่   พร้อมกันนั้น หวง เซิงได้ฝันถึงเซียง อี้ว์ มาขอให้หวง เซิงช่วยรดน้ำพืชต้นใหม่นี้ทุกวัน หวง เซิง ทำตามคำขอของเซียง อี้ว์  ทำให้พืชต้นใหม่นี้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ปีถัดมา   พืชต้นนี้เริ่มผลิดอกเบ่งบาน   และมีสาวน้อยน่ารักคนหนึ่งปรากฏอยู่กลางดอก  ชั่วพริบตาเดียว  สาวน้อยคนนี้ได้กระโดดลงมายังพื้น และเธอก็คือ เซียงอี้ว์นั่นเอง  หลังจากนั้น เซี่ยง อี้ว์  หวง เซิง และเจี้ยง เสวี่ย สามคนก็อยู่ร่วมกันและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข    แต่ต่อมาไม่นาน หวง เซิงป่วยหนัก เขากล่าวกับเต้าสือ ผู้สูงอายุรูปหนึ่งในวัดว่า อีกไม่นาน ท่านจะพบเห็นพืชต้นอ่อนโผล่ออกมาจากจุดที่มีการปลูกต้นดอกโบตั๋น พืชต้นอ่อนนั้นก็คือตัวเขาเอง   สองปีหลังหวง เซิง เสียชีวิต และตรงจุดที่มีการปลูกต้นโบตั๋นก็มีต้นอ่อนเกิดงอกขึ้นจริง เต้าสือนักบวชสูงอายุรูปนั้น จึงหมั่นรดน้ำให้เป็นประจำ  ต่อมาเป็นเวลา 3 ปี  พืชต้นนี้ได้เติบโตขึ้นจนมีความสูงกว่าหนึ่งเมตร แต่ไม่ได้ผลิดอก  หลังเต้าสือผู้สูงอายุรูปนั้นเสียชีวิต  ลูกศิษย์ของเขาได้ตัดพืชต้นนั้นออก เพราะไม่มีดอกที่สวยงาม  หลังจากนั้นไม่นาน ดอกโบตั๋นตายไป ต้นแต้ฮวยก็เหี่ยวแห้งลง 

นิทานเรื่อง “เซียง อี้ว์” คล้ายคลึงกับนิทานเรื่องอื่นที่แต่งขึ้นโดย ผู่ซงหลิง ที่เปี่ยมไปด้วยความรักต่อสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลก  นิทานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า  มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลกเป็นประเภทเดียวกัน จึงต้องร่วมเป็นร่วมตาย และร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน

(yim/cai)

ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face

Not Found!(404)