วันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ การประชุมผู้นำอาเซียน-จีน (10+1) ครั้งที่ 21 จัดขึ้นที่สิงคโปร์ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนและผู้นำประเทศอาเซียนต่างร่วมกันอภิปรายและรับรองเอกสาร “วิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน ค.ศ. 2030 (2030 Vision of China-ASEAN Strategic Partnership)” ซึ่งจีนกลายเป็นประเทศหุ้นส่วนแรกของอาเซียนที่ร่วมอภิปรายเกี่ยวกับอนาคตด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในระยะกลางและระยะไกล
นอกจากกฎบัตรอาเซียนแล้ว เอกสารหลักๆ ที่ชี้นำการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียนรวมถึง “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 (The ASEAN Community Vision 2025)” “แผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน ค.ศ. 2025 (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025)” ฯลฯ ซึ่งเอกสารดังกล่าวได้วางแผนอนาคตถึงปี 2025 ส่วนเอกสาร “วิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน ค.ศ. 2030” ที่ผ่านการรับรองในที่ประชุมสิงคโปร์ครั้งนี้ ได้วางแผนถึงปี 2030 แสดงให้เห็นว่า ผ่านทศวรรษแห่งทองและทศวรรษแห่งเพชรของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนแล้ว สองฝ่ายจะต้องร่วมมือกันเร่งการพัฒนาอีก โดยอาศัยแรงกระตุ้นจาก
1 - สองฝ่ายมีความปรารถนาและความเชื่อมั่นร่วมกันเกี่ยวกับการพัฒนาในอนาคต
2 - ปฏิบัติการที่เด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของทั้งสองฝ่ายในการยืนหยัดการค้าเสรีและแนวคิดพหุภาคี
3 - ความมั่นใจที่เกิดจากความร่วมมืออย่างลึกซึ้งในวงการต่างๆ ระหว่างสองฝ่าย
การที่จีนกับอาเซียนจะจูงมือกันวิ่งสู่ปี 2030 นั้น ยังแสดงให้เห็นอีกว่า อาเซียนมีความเชื่อมั่นในจีนด้านการพัฒนาและการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแสดงว่าอาเซียนยอมรับว่า จีนเป็นประเทศใหญ่ที่มีความรับผิดชอบด้วย ถึงปี 2030 มีความเป็นไปได้ที่อาเซียนจะกลายเป็นองค์เศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 4 ของโลก การรักษาและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนนั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นแรงกระตุ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของจีนและอาเซียนเท่านั้น อีกทั้งยังจะช่วยให้จีนและอาเซียนขยายบทบาทที่ใหญ่ขึ้นในกิจการระหว่างประเทศและส่วนภูมิภาคด้วย
Yim/Ldan/Zhou