“ชุนยุ่น” ปรากฏการณ์สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมจีน (1)

CRI2019-01-23 11:07:05

图片默认标题_fororder_1.1

“ชุนยุ่น” หรือการขนส่งผู้โดยสารในช่วงตรุษจีนของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนและหลังตรุษจีนต่อเนื่องมายาวเกือบ 40 ปีแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 เดือนสิบสองตามปฏิทินจันทรคติจีน ถึงวันที่ 25 เดือนอ้ายของปีถัดไป รวมแล้วประมาณ 40 วันด้วยกัน ซึ่งหนังสือพิมพ์เหรินหมินเป็นผู้เริ่มใช้คำว่า “ชุนยุ่น” เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1980 ภายหลังจีนเริ่มดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นต้นมา

สืบเนื่องจากผู้ที่เดินทางออกจากบ้านเกิดไปทำงานหรือศึกษาต่อในต่างเมืองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่จะเดินทางกลับบ้านเกิดของตนในช่วงตรุษจีน จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ชุนยุ่น ซึ่งนับเป็นการโยกย้ายประชากรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ช่วงเกือบ 40 ปีมานี้ การขนส่งผู้โดยสารปรากฏการณ์ชุนยุ่น เพิ่มขึ้นจากปีละ 100 ล้านคนเป็นกว่า 3,700 ล้านคน เทียบได้กับจำนวนประชากรทวีปแอฟริกา รวมกับยุโรป สหรัฐอเมริกา และโอเชียเนีย ออกเดินทางย้ายบ้านครั้งหนึ่งพร้อมกัน

“ชุนยุ่น” ในปี 2019 จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 มกราคมและสิ้นสุดในวันที่ 1 มีนาคม รวม 40 วันพอดี คาดว่าช่วงชุนยุ่นปีนี้ จะขนส่งผู้โดยสารมากถึง 2,990 ล้านคน ช่วง 40 ปีแห่งชุนยุ่นของจีนมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน ซึ่งสะท้อนถึงพัฒนาการของสังคมจีนด้วย

การเปลี่ยนแปลงประการแรก—ขนส่งผู้โดยสารมากขึ้น 30 เท่า

“ชุนยุ่น” เริ่มเป็นประเด็นร้อนในสังคมจีนตั้งแต่จีนดำเนินการปฏิรูปเปิดประเทศ เพราะการปฏิรูปเปิดประเทศของจีนทำให้ชาวจีนอพยพย้ายถิ่นไปทำงานหรือเรียนต่อเพิ่มมากขึ้น รายได้ที่สูงขึ้นก็ทำให้ชาวจีนมีเวลาว่างๆ ไปเที่ยวมากขึ้น แต่ละปีเมื่อถึงช่วงตรุษจีน คนที่ไปทำงานหรือเรียนต่อต่างเมืองก็จะเดินทางกลับบ้านเกิดเยี่ยมพ่อแม่ครอบครัว บางคนก็จะถือโอกาสวันหยุดยาวเดินทางไปท่องเที่ยว

เพราะฉะนั้น ช่วงตรุษจีนจึงมีการขนส่งผู้โดยสารจำนวนมาก ปี 1979 จำนวนคนที่เดินทางในช่วงตรุษจีนทะลุ 100 ล้านคน สร้างสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ การซื้อตั๋วเครื่องบิน รถไฟหรือรถโดยสาร จะซื้อได้ยากมากในช่วงชุนยุ่น จึงกลายเป็นประเด็นร้อนของสังคมจีน และในปี 2018 ที่ผ่านมา จีนขนส่งผู้โดยสารในช่วงตรุษจีนมากถึง 2,980 ล้านคน เมื่อเทียบกับ 40 ปีก่อน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 30 เท่า

图片默认标题_fororder_1.2

การเปลี่ยนแปลงประการที่สอง—รถไฟความเร็วสูงทำให้ระยะทาง “หดสั้น” ลง

ชาวจีนที่มีประสบการณ์เดินทางช่วงตรุษจีนเมื่อ 10 ปีก่อน ส่วนใหญ่ประทับใจกับรถไฟตู้สีเขียวเพราะเป็นสิ่งบันทึกความคิดถึงบ้านเกิดของตน และก็เป็นการบันทึกความลำบากในการเดินทางสมัยก่อน เพราะรถไฟตู้สีเขียวนั้นมีความเร็วช้ามาก ความเร็วต่อชั่วโมงไม่ถึง 40 กิโลเมตร ภายในรถไฟก็บรรทุกคนมากมายจนแน่นขนัด

จนกระทั่งวันที่ 18 เมษายน ปี 2007 รถไฟความเร็วสูงที่มีความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เริ่มให้บริการที่นครเซี่ยงไฮ้ เป็นสัญลักษณ์ว่าจีนเข้าสู่ยุคแห่งรถไฟความเร็วสูงแล้ว ทุกวันนี้ จีนมีเส้นทางรถไฟให้บริการยาวถึง 127,000 กิโลเมตร ซึ่งรถไฟความเร็วสูงที่มีความเร็วมากกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีระยะทางยาวถึง 25,000 กิโลเมตร มากเป็นอับดับแรกของโลก แม้รถไฟที่มีความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็มีขบวนรถมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆแล้ว

สมัยก่อนการเดินทางจากปักกิ่งถึงเซี่ยงไฮ้ระยะทางกว่า 1,300 กิโลเมตร จะต้องใช้เวลาทั้งวันและทั้งคืน แต่ทุกวันนี้ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงก็ถึงปลายทางแล้ว รถไฟความเร็วสูงได้ช่วยลดระยะทางระหว่างท้องที่ต่างๆให้หดสั้นลงได้อย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงประการที่สาม—ปรับวิธีการซื้อตั๋วโดยสิ้นเชิง

การซื้อตั๋วโดยสารนับเป็นประเด็นร้อนในช่วงชุนยุ่นของทุกปี แต่วิธีการซื้อตั๋วมีการปรับเปลี่ยนอย่างมากในช่วงหลายสิบปีมานี้ ในสมัยก่อนผู้คนต้องเข้าคิวซื้อตั๋วที่เคานท์เตอร์ ซึ่งเป็นคิวที่ยาวมากถึงหลายกิโลเมตร เมื่อถึงกลางคืนผู้คนก็ยังไม่กลับ ยังคงจะเข้าคิวต่อ และเพื่อคลายหนาวก็ต้องเอาผ้าห่มมาด้วย การซื้อตั๋วช่วงชุนยุ่นในอดีตจึงนับเป็นเรื่องใหญ่และลำบากมาก

แต่ทุกวันนี้ พร้อมไปกับการพัฒนาของระบบอินเตอร์เน็ตและแอพลิเคชั่นบนมือถือ ผู้คนสามารถซื้อตั๋วผ่านแอพฯต่างๆบนมือถือได้อย่างสะดวกมาก แม้ว่าการซื้อตั๋วให้ได้จะยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำนวนความต้องการมีมากเกินไป ยังต้องชิงตั๋วกันผ่านแอพฯมือถือ แต่ก็ถือว่าช่วยให้ไม่ต้องเหนื่อยกายเพื่อเข้าคิวซื้อตั๋วกันแล้ว สถิติแสดงว่า ผู้ที่ซื้อตั๋วผ่านแอพฯ เป็นเกือบ 80% ของยอดจำหน่วยตั๋วทั้งหมด

(Yim/cici)

—  ข่าวที่เกี่ยวข้อง  —

Not Found!(404)