วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีตรงกับวันแรงงานสากล ทั่วโลกมีประเทศต่าง ๆ กว่า 80 ประเทศ กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันแรงงาน โดยปีนี้ถือเป็นวันแรงงานสากลครั้งที่ 129
ที่มาของ “May Day”
“May Day” หรือ วันแรงงานสากลในภาษาอังกฤษ บางคนมักใช้ชื่อว่า “International Workers' Day” ซึ่งถูกต้องทั้งสองแบบ แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ คำว่า “May Day” ยังเป็นรหัสการสื่อสารผ่านวิทยุที่ใช้กันทั่วโลกเวลาเรือและเครื่องบินเกิดเหตุร้าย โดยจะมีการพูดคำว่า “May Day” 3 ครั้ง เพื่อเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ เราคงเคยเห็นในภาพยนตร์เวลาเครื่องบินมีฉุกเฉิน กัปตันจะส่งสัญญาณผ่านวิทยุสื่อสารว่า “Mayday Mayday Mayday” เพื่อขอความช่วยเหลือจากศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศ
อันที่จริง คำว่า “Mayday” เป็นรหัสแจ้งเหตุฉุกเฉิน ที่เริ่มใช้โดยนายเฟรเดอริค สแตนเลย์ ม็อคฟอร์ด เจ้าหน้าที่วิทยุอาวุโส ในสนามบินครอยดอน (Croydon) ของอังกฤษ ในปี ค.ศ.1923 ขณะนั้น ศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศต้องการคำง่าย ๆ คำหนึ่ง เพื่อเป็นรหัสแจ้งเหตุฉุกเฉิน เขาจึงนึกถึงคำภาษาฝรั่งเศสคำหนึ่งว่า "m'aider" ซึ่งแปลว่า "ช่วยฉันด้วย" คำนี้ออกเสียงคล้ายกับอังกฤษคำว่า “Mayday” ต่อจากนั้นมา รหัส “เมย์เดย์” จึงถูกใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการขอความช่วยเหลือจากนักเดินเรือหรือนักบินที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงตำรวจ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง และหน่วยงานเกี่ยวกับการขนส่งต่าง ๆ ก็ใช้รหัสขอความช่วยเหลือนี้เช่นกัน
วันแรงงานสากล
เราทราบความเป็นมาของ “Mayday” ในฐานะรหัสขอความช่วยเหลือฉุกเฉินกันไปแล้ว ส่วนเรื่องราวของ “May Day” ที่หมายถึง วันแรงงานสากล ต้องย้อนกลับไปอีก 34 ปี คือในปี ค.ศ.1889 ซึ่งมีความเป็นมาดังนี้
ในทศวรรษ 1980 กลุ่มชนชั้นกรรมาชีพ (Proletariat) มีจำนวนมากขึ้น เกิดการเดินขบวนแรงงานครั้งใหญ่ ช่วงเวลานั้น เพื่อทำธุรกิจให้ได้กำไรจำนวนมาก ชนชั้นนายทุนในสหรัฐฯ จึงกดขี่ชนชั้นกรรมชีพอย่างรุนแรง โดยใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น ให้ทำงานนานถึง 12 - 16 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้กลุ่มแรงงานในสหรัฐฯ หมดความอดทนและตระหนักว่า ต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1884 เป็นต้นมา สหภาพแรงงานซึ่งมีความคิดก้าวหน้าได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ต้องต่อสู้เพื่อ “ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง” และตัดสินใจให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อนัดหยุดงานในทุกพื้นที่เป็นวงกว้าง โดยมีแผนจะทำเช่นนี้ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 เพื่อเรียกร้อง “การทำงานวันละ 8 ชั่วโมง” โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นกรรมชีพในสหรัฐฯ เป็นวงกว้าง โดยแรงงานจำนวนหลายพันคนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้จัดการเคลื่อนไหวนัดหยุดงาน แต่ถูกทางการสหรัฐฯ ปราบปรามอย่างหนัก จนแรงงานจำนวนมากถูกจับกุมและถูกสังหาร
แม้การต่อสู้ของกลุ่มชนชั้นกรรมชีพต้องเผชิญกับอุปสรรคอย่างหนักหน่วง แต่พวกเขาก็ไม่เคยย่อท้อ ร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตัวเอง ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1889 ขบวนการแรงงานสากล The Second International ที่มีนายฟรีดริช เอ็งเงิลส์เป็นผู้นำ ได้จัดการประชุมที่กรุงปารีสโดยได้ประกาศให้วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1890 เป็นวันเดินขบวนของกลุ่มแรงงานสากล และกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันแรงงานสากล (International Workers' Day) หรือ เมย์เดย์ (May Day) โดยวันที่ 1 เดือนพฤษภาคม ปีเดียวกันนั้น กลุ่มแรงงานในประเทศยุโรปและสหรัฐฯ ต่างพากันเดินขบวนบนท้องถนน เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของตนเอง ต่อจากนั้นมา เมื่อถึงวันที่ 1 เดือนพฤษภาคมของทุกปี กลุ่มแรงงานทั่วโลกจึงจัดกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องใน “วันแรงงานสากล”
วันแรงงานในประเทศจีน
วันแรงงานในประเทศจีนกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นค่อนข้างช้า โดยมีจุดเริ่มต้นในช่วงการเคลื่อนไหวของขบวนการวัฒนธรรมใหม่ (New Culture Movement) ในขณะนั้น สังคมจีนเริ่มมีแนวคิดให้ความเคารพต่อแรงงานเกิดขึ้น ต่อมาในปีค.ศ. 1920 นิตยสารฉบับต่าง ๆ ของจีน ทยอยตีพิมพ์บทความของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายคนเกี่ยวกับปัญหาของแรงงาน โดยนักวิชาการเหล่านี้ได้นำความรู้เกี่ยวกับขบวนการแรงงานของโลกตะวันตกมาสู่สายตาของชาวจีน ทำให้ชาวจีนตระหนักถึงสิทธิผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงานมากขึ้น หลังจากนั้น วันที่ 1 พฤษภาคมปีเดียวกัน กลุ่มแรงงานในกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกว่างโจว เมืองเจี่ยวเจียง และเมืองถังซาน ต่างพากันออกมาเดินขบวนกลางถนน ถือเป็นกิจกรรมวันแรงงานสากลครั้งแรกในประเทศจีน อีกทั้งยังเป็นวันแรงงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีนอีกด้วย
ภายหลังการสถาปนาประเทศจีนใหม่ขึ้น ในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1949 รัฐบาลจีนได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันแรงงาน โดยเป็นวันหยุดทั่วประเทศ ประชาชนจีนต่างแต่งตัวอย่างสวยงาม พากันออกมาเดินชมสวนสาธารณะ ไปโรงละคร หรือสถานที่ต่าง ๆ โดยมีกิจกรรมหลากหลายเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล พร้อมประกาศรางวัลแก่บุคคลที่ได้ทำคุณประโยชน์อย่างโดดเด่น ปัจจุบัน วันหยุดวันแรงงานของประเทศจีนได้กลายเป็นวันหยุด 3 วัน โดยจะติดกับวันเสาร์และวันอาทิตย์ โดยชาวจีนส่วนใหญ่จะใช้เวลา 3 วันนี้ไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือ สถานที่ที่ไม่ไกลจนเกินไป ถือเป็นการพักผ่อน โดยเฉพาะในปีนี้ ช่วงวันแรงงานของจีนมีวันหยุดต่อเนื่องยาวถึง 4 วัน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ออกเดินทางท่องเที่ยวน่าจะทำสถิติใหม่
วันแรงงานในต่างประเทศ
ดังที่เกริ่นไปข้างต้น บนโลกใบนี้มีประเทศต่าง ๆ กว่า 80 ประเทศที่กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันแรงงาน แล้ววันแรงงานของประเทศเหล่านี้เป็นอย่างไรกันบ้าง
ในทวีปยุโรป ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส กำหนดให้วันแรงงานเป็นวันหยุดหนึ่งวัน ส่วนในประเทศอิตาลี แม้ว่าจะกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันแรงงาน และรัฐบาลก็ให้ความสำคัญต่อแรงงาน แต่อย่างไรก็ตามวันนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นวันหยุด
ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของวันแรงงานสากล แต่สหรัฐฯ เองกลับไม่ร่วมฉลองวันแรงงานในวันที่ 1 เดือนพฤษภาคม เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดวันแรงงานของตนเองเป็นทุกวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนและถือเป็นวันหยุดหนึ่งวัน ดังนั้น ชาวอเมริกันจึงจะเฉลิมฉลองวันแรงงานในเดือนกันยายน โดยมีการชุมนุม เดินขบวน จัดงานเลี้ยง และหลายพื้นที่ยังมีการแสดงดอกไม้ไฟในกลางคืน
ด้านประเทศรัสเซียให้ความสำคัญอย่างมากต่อวันแรงงานมาโดยตลอด โดยจะถือเป็นวันหยุดเช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศ นอกจากนี้ยังจะมีการชุมนุม เดินขบวน กิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของกลุ่มคนใช้แรงงาน
ส่วนประเทศไทยได้กำหนดวันที่ 1 เดือนพฤษภาคมเป็นวันแรงงานในปี ค.ศ. 1932 เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณและความเคารพต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยจะเป็นวันหยุดทั่วประเทศและมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่าง ๆ ขึ้นด้วย
(Tim/Zi)