ช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมา มีข่าวดังในอินเตอร์เน็ตจีน คือสถาปนิกโมเดิร์นนิสต์ชื่อก้องโลก "ไอ. เอ็ม. เพ" เสียชีวิตในวัย 102 ปี จริง ๆ แล้ว ผู้คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักชื่อของเขา เพราะเขาเป็นสถาปนิกชื่อดังมาก เขาเป็นผู้ออกแบบพีระมิดลูฟวร์ ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ใจกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของยุคปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2019 นาย Sandi Pei บุตรชายของ ไอ. เอ็ม. เพ ได้กล่าวกับ The New York Times ถึงการเสียชีวิตของบิดาเมื่อคืนวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในบ้านพักของเขาในแมนฮัตตัน อายุ 102 ปี ต่อมาโฆษกส่วนตัวของ ไอ. เอ็ม. เพ ได้ยืนยันข่าวความสูญเสียครั้งนี้กับสื่อทั่วโลก ทำให้บุคคลในแวดวงสถาปัตยกรรมต่างไว้อาลัยและรำลึกถึงผลงานของเขา เขาถูกจารึกให้เป็นหนึ่งในสถาปนิกผู้ทรงอิทธิพลตลอดศตวรรษที่ 20 ด้วยผลงานอันโดดเด่นมากมาย ผลักดันตัวเองขึ้นมาสร้างสรรค์งผลงานที่มีชื่อเสียระดับโลก
ไอ. เอ็ม. เพ (I. M. Pei - Ieoh Ming Pei) หรือ ชื่อจีนเป้ย ลวี่ หมิง เกิดเมื่อปี 1917 ในนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน และเติบโตในฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ บรรพบุรุษของเขาเป็นคนซูโจว เป็นครอบครัวที่มีชื่อเสียงในซูโจว แต่พออายุได้ 18 ปี เขาได้ย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายจีน และเข้าเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และเริ่มหลงใหลในงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาได้รับรางวัลพริตซ์เกอร์ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกสูงสุดของสถาปัตยกรรม งานออกแบบของไอ.เอ็ม. เพ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น โดยมีการใช้ หิน คอนกรีต แก้ว และเหล็กเป็นส่วนใหญ่ ในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ไอ. เอ็ม. เพ ถูกรู้จักในนาม "ผู้ยิ่งใหญ่คนสุดท้ายของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่" เขาเป็นสถาปนิกที่มีแนวความคิดในการออกแบบแบบนอกกรอบ แต่ยังคำถึงสภาพภูมิอากาศและประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้น ๆ อยู่เสมอ
ถ้าเคยดูภาพยนตร์เรื่องรหัสลับระทึกโลก (อังกฤษ: The Da Vinci Code) จะต้องประทับใจกับพีระมิดกระจกลูฟร์ ซึ่งตั้งอยู่หน้าของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ที่เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งกรุงปารีส ความลับสุดท้ายในภาพยนตร์ก็ถูกซ่อนไว้ที่นี่ พีระมิดกระจกลูฟร์เป็นทางเข้าหลักสู่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ใต้ดิน เป็นผลงานที่ขึ้นชื่อที่สุดของไอ. เอ็ม. เพ จนมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากอยากรอคิวเพื่อเข้าพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ผ่านพีระมิดกระจก ทั้ง ๆ ที่มีทางเข้าอีกสองทาง ทุกวันนี้ พีระมิดลูฟร์เป็นมากกว่าแลนด์มาร์กหรือฉากหลังให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปสวยๆ แต่กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความหรูหราและโมเดิร์นของฝรั่งเศส ตัวพีระมิดลูฟร์มีความสูง 21.6 เมตร ตัวฐานแต่ละด้านกว้าง 34 เมตร ถือเป็นสถาปัตยกรรมรูปทรงพีระมิดที่ยิ่งใหญ่อันดับ 15 ของโลก นับตั้งแต่อดีต
หลายคนอาจไม่รู้ว่า อาคารหลังนี้จริง ๆ แล้วมาจากการออกแบบโดยฝีมือของคนจีน ซึ่งก็คือสถาปนิกไอ. เอ็ม. เพ
ไอ. เอ็ม. เพเกิดจากครอบครัวที่มีชื่อเสียงของเมืองซูโจว ในช่วงระยะเวลาเฉียนหลงของราชวงศ์ชิง ครอบครัวเขาก็เป็นหนึ่งในสี่ครอบครัวที่รวยที่สุดในซูโจว มรดกทางวัฒนธรรมโลก—สวนส่วนตัวซือจื่อหลิน(สวนสิงโต) เป็นบ้านบรรพบุรุษของครอบครัวเขา แม้ว่าไอ. เอ็ม. เพเกิดที่นครกวางโจว เติบโตขึ้นในฮ่องกง แต่ทุกวันหยุดฤดูร้อน เขาก็ต้องกลับไปที่บ้านซูโจวเพื่อเยี่ยมญาติ มักเล่นกับครอบครัวในสวนบ่อย ๆ สวนแบบจีนโบราณ ซึ่งมีหิน บ่อ ขอบหน้าต่าง น้ำไหล ให้เขาปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความงามของอาคารตั้งแต่วัยเด็ก
เมื่ออายุ 10 ปี ไอ. เอ็ม. เพตามพ่อไปเซี่ยงไฮ้ สมัยนั้นนครเซี่ยงไฮ้เป็นมหานครของตะวันออก ระหว่างทางไปโรงเรียนทุกวัน เขาได้เห็นโรงแรมอินเตอร์เนชั่นแนลเซี่ยงไฮ้ที่กำลังก่อสร้างอยู่ ซึ่งเป็นตึกสูง ๆ มี 24 ชั้นและมากกว่า 200 ห้อง ทำให้ไอ. เอ็ม. เพหลงเสน่ห์ “โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสูง ผมหลงใหลความสูงของมัน จากนั้นมา ผมตั้งใจที่จะเป็นสถาปนิก” มากกว่าแค่คำพูด เขาเริ่มศึกษาการออกแบบอาคารด้วยตัวเอง ยังวาดแบบหลายชิ้น เมื่อปี 1935 ด้วยความฝันว่าจะสร้างโรงแรมอินเตอร์เนชั่นแนลของตนเองสักวันหนึ่ง ไอ. เอ็ม. เพที่อายุ 17 ปี ขึ้นเรือไปเรียนสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (อังกฤษ: University of Pennsylvania) แต่เขาผิดหวังกับภาควิชาสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เพราะเขาได้เริ่มเกิดความรู้สึกไม่นิยมสถาปัตยกรรมวิจิตรศิลป์ และใช้เวลาว่างศึกษาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เพียงสองสัปดาห์ต่อมาเขาย้ายไป MIT(Massachusetts Institute of Technology) เรียนกับศาสตราจารย์เลอโคบุชซียา ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม
Bo/Patt