China Radio International
ข่าวภายใน
    ประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
 ข่าวการเมืองและ
 การต่างประเทศ
 ข่าวเศรษฐกิจ
 ข่าววัฒนธรรม

 ข่าววิทยาศาสตร์
  เทคโนโลยี่

 ข่าวกีฬา
 ข่าวอื่น
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2009
อ่านต่อ>>

จีนปัจจุบัน

เศรษฐกิจ

พาเที่ยวจีน

วัฒนธรรม

ชนชาติส่วนน้อย

การเมือง
(GMT+08:00) 2005-03-30 19:23:37    
จีนไทยใช่ใครอื่น (1)

cri

สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง

ได้ยินชื่อที่คุณจันทร์ฉายแนะนำไปแล้วเมื่อตะกี้ ท่านผู้ฟังรู้สึกสนใจขึ้นมาบ้างหรือยังคะ "จีนไทยใช่ใครอื่น" เป็นรายการใหม่รายการหนึ่งค่ะ ดิฉันขอถือโอกาสแนะนำที่มาของรายการ รวมทั้งผู้จัดรายการคือตัวดิฉันเอง ให้ท่านผู้ฟังรู้จักไปพร้อมกันทีเดียวในครั้งแรกนี้เลยนะคะ

ดิฉันชื่อวิภา อุตมฉันท์ เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะนิเทศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เมืองไทย

เรานี่แหละค่ะ นอกจากเป็นอาจารย์สอนวิชาเกี่ยวกับวิทยุและโทรทัศน์ระหว่างประเทศแล้ว ดิฉันยังรับหน้าที่เป็นรองผู้อำนวยการของสถาบันเอเชียศึกษา ที่จุฬาฯ ด้วยค่ะ

ในช่วงปิดภาคฤดูร้อนปีนี้ ดิฉันถือโอกาสลาพักผ่อนเพื่อมาทัศนศึกษาและเก็บข้อมูลทางวิชาการที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างนี้ หัวหน้าภาคภาษาไทยของสถานีวิทยุระหว่างประเทศ ซีอาร์ไอ ของจีน ซึ่งเคยไปเรียนหนังสือที่คณะนิเทศศาสตร์ พูดง่าย ๆ ก็คือเคยเป็นลูกศิษย์ของดิฉันอยู่เทอม 2 เทอม พอรู้ว่าดิฉันมาอยู่ปักกิ่ง ก็เชิญให้มาดูงาน และขอความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดรายการของวิทยุซีอาร์ไอภาคภาษาไทยของเขาด้วย เพราะเป้าหมายของวิทยุซีอาร์ไอก็คือ เป็นสถานีวิทยุระหว่างประเทศที่ให้บริการแก่ผู้ฟังทั่วโลก ภาคภาษาไทยก็ต้องมีเป้าหมายเพื่อให้บริการกับคนไทยโดยเฉพาะใช่ไหมคะ เขาจึงเห็นว่าในฐานะที่ดิฉันเป็นคนไทย ก็น่าจะมีคำแนะนำดี ๆ เกี่ยวกับผู้ฟังชาวไทย ที่จะช่วยซีอาร์ไอให้ปรับปรุงรายการให้เหมาะกับคนไทยมากขึ้น

นี่คือที่ไปที่มา ที่ทำให้ดิฉันมาเกี่ยวข้องกับวิทยุซีอาร์ไอนะคะ ที่นี้ก็มาถึงจุดที่ว่า แล้วทำไมจึงมาจัดราการ "จีนไทยใช่ใครอื่น" ให้เขาด้วย

เรื่องของเรื่องก็คือว่า ปี 2005 ปีนี้ เป็นปีที่ประเทศไทยกับประเทศจีน เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันครบรอบ 30 ปีพอดี เรื่องความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนนั้น เชื่อว่าผู้นำทั้งสองประเทศต่างก็ให้ความสำคัญอยู่แล้ว และคงจะมีการทบทวนประเมินบทบาทของกันและกันในระดับรัฐบาลเป็นประจำ แต่พวกเราซึ่งอยู่ทางฝ่ายวิชาการ ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เหมือนกัน อย่างเช่นสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ที่ดิฉันอยู่ พวกเราก็ถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งว่า เราจะทำการศึกษาค้นคว้าเชิงวิชาการ เพื่อติดตามดูความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนในด้านต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ มีอะไรที่เป็นข้อดี อะไรเป็นข้อบกพร่อง จะได้นำเสนอออกมาให้เห็น เพื่อหาทางแก้ไขและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 อย่างทันกาล

เพราะอะไรหรือคะ ก็เพราะความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับจีน เป็นสิ่งที่คนไทยและคนจีนต่างปรารถนาอยากจะเห็นร่วมกัน เนื่องจากประเทศไทยมีคนไทยเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก และมีบทบาทสำคัญทางสังคมอย่างมากด้วย เราจึงต้องการเห็นความสัมพันธ์ของสองประเทศมีความเข้มแข็งเป็นพิเศษ เป็นความสัมพันธ์ที่สามารถตอบสนองผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายอย่างเสมอภาคด้วยค่ะ

ในเรื่องการติดตามทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนเรื่องนี้ ดิฉันขอให้เครคิตกับศาสตราจารย์ดร.เขียน ธีระวิทย์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา ท่านเป็นผู้บุกเบิกวิชาการด้านจีนศึกษาในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดประชุมทางวิชาการร่วมกันระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับสถาบันไทยศึกษา ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งทุก ๆ ระย 5 ปี ที่ความสัมพันธ์ของสองประเทศเวียนมาครบรอบอีกครั้ง เช่น ในวาระครบรอบ 20 ปี เราไปจัดเฉลิมฉลองกันที่กรุงปักกิ่ง มีผู้ทรงคุณวุฒิมาเสนอบทความและแลกเปลี่ยนความเห็นที่มีค่าต่อความสัมพันธ์ไทย-จีนทั้งสองฝ่าย ต่อมาอีก 5 ปี ในวาระครบรอบ 25 ปี ฝ่ายไทยก็รับเป็นเจ้าภาพบ้าง ครั้งนั้นเราจัดงานกันที่กรุงเทพฯ มาถึงปีนี้ ความสัมพันธ์ไทย-จีนเวียนมาครบ 30 ปีเต็ม เราก็กลับมาจัดประชุมกันที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งอีกครั้งหนึ่งค่ะ

ที่น่ายินดีเป็นพิเศษก็คือ ความสัมพันธ์ไทย-จีนครบรอบ 30 ปีในปีนี้ ไปประจวบกับเป็นปีที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ 50 พรรษา สถาบันไทยศึกษา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง จะจัดตั้ง "ศูนย์แลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมไทย-จีนสิรินธร" เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระองค์ในโอกาสนี้ด้วย สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด "ศูนย์แลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมไทย-จีนสิรินธร" ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ด้วยพระองค์เองในวันที่ 5 เมษายนนี้ค่ะ

เมื่อความสัมพันธ์ไทย-จีนครบรอบ 30 ปี มาประจวบกับวโรกาสอันเป็นมงคลเช่นนี้ สองสถาบันการศึกษา คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง จึงได้หารือกันและตกลงที่จะจัดการประชุมทางวิชาการที่ได้ตั้งใจไว้ ให้ตรงกับวันที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงปักกิ่งในต้นเดือนเมษายนนี้ด้วย

การประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีนแต่ละครั้ง ทั้งสองฝ่ายจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิให้นำเสนอบทความต่อที่ประชุม ดิฉันเองก็ได้รับเกียรติจากสถาบันเอเชียศึกษา ให้นำเสนอหนึ่งบทความ ในฐานะนักวิชาการฝ่ายไทยด้วย

ด้วยความบังเอิญหลาย ๆ อย่างที่เอื้อต่อกันเช่นนี้ ดิฉันจึงรับปากกับหัวหน้าภาคภาษาไทยของสถานีวิทยุซีอาร์ไอ ว่าจะช่วยจัดรายการให้รายการหนึ่งในระหว่างอยู่ที่นี่ ตั้งชื่อรายการว่า "จีนไทยใช่ใครอื่น" จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้รายการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษกว่าทุกปีในปีนี้ ที่สำคัญก็คือ ดิฉันอยากให้ท่านผู้ฟังชาวไทย ได้มีส่วนร่วมกับเราด้วย โดยรายการนี้จะนำเรื่องราวความเป็นมาในอดีต และที่จะเป็นไปในอนาคตของความสัมพันธ์สองประเทศไทย-จีนมาเล่าให้ท่านฟัง เรามั่นใจว่าแต่ละเรื่องจะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่น่าสนใจ สนุก และให้ความรู้กับท่านด้วยค่ะ

ครั้งนี้เป็นครั้งแรก เราเกริ่นกล่าวแนะนำให้รู้จักรายการเพียงหอมปากหอมคอแค่นี้ก่อน พุธ

หน้าต้องไม่พลาดฟังรายการนี้อีกนะคะ แล้วพบกันใหม่ สวัสดีค่ะ