สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง พุธที่แล้ว รายการ "จีนไทยใช่ใครอื่น" เราได้รับเกียรติจากอาจารย์ชาตรี วารีชัย มาคุยกับเราเรื่องการสอนภาษาจีนให้กับเด็กนักเรียนระดับประถมของโรงเรียนในสังกัด กทม. อาจารย์ชาตรีใช้เวลาช่วยปิดเทอมมาหาความรู้ มาซื้ออุปกรณ์การสอนต่าง ๆ ที่ปักกิ่ง เพื่อนำกลับไปสอนนักเรียนของอาจารย์ให้สนุก เป็นเรื่องที่หายากนะคะอาจารย์ที่มีจิตใจดีงามเช่นนี้
เมื่อวันก่อน อาจารย์ชาตรีมาเยี่ยมสถานีเราอีกครั้งก่อนกลับกรุงเทพฯ อาจารย์บอกว่าเพิ่งไปเที่ยวชนบทของจีนมาหลายวัน สนุกและได้ความรู้ใหม่ ๆ ดีมาก ดิฉันก็เลยรบกวนอาจารย์อีกรอบหนึ่ง ให้อาจารย์มาเล่าให้พวกเราฟังว่า จากสายตาของคนไทย อาจารย์มองประเทศจีนอย่างไร
"สวัสดีอีกครั้งค่ะ อาจารย์ชาตรี"
"สวัสดีครับ"
"อาจารย์มาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองจีน 40 วัน ได้เห็นทั้งปักกิ่งซึ่งถือว่าเจริญรุ่งเรืองที่สุด แล้วยังลงไปอยู่ในชนบทเสียหลายวัน ก่อนกลับบ้านอาจารย์คงจะพอมีข้อสรุปอะไรบางอย่างเกี่ยวกับประเทศจีนมาเล่าให้เราฟังใช่ไหมคะ"
" ครับ ผมคิดว่า 40 วันพอจะทำให้เห็นอะไรบ้าง แต่คงบอกไม่ได้ว่าเข้าใจประเทศจีนนะครับ"
"แน่นอนค่ะ จะเข้าใจสังคมใหม่สังคมหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เอาเป็นว่าเรายอมรับกันในที่นี้ว่า เป็นความรู้สึกส่วนตัวของคนไทยคนหนึ่งก็แล้วกัน อาจารย์อยากเล่าเรื่องอะไรมากที่สุดก็เชิญเลยค่ะ"
"ก่อนอื่นก็คงเป็นเรื่องความรู้สึกต่อคนจีนเพราะได้สัมผัสอยู่ทุกวัน โดยทั่วไปถ้าเป็นคน
ที่เราไม่รู้จักมาก่อน เราจะรู้สึกว่าคนจีนค่อนข้างกระด้าง ไม่อ่อนโยนเหมือนคนไทย แต่จริง ๆ แล้วเขาอาจไม่ได้คิดอะไร มันเป็นนิสัยหรือวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกันมากกว่า"
"ที่อาจารย์พูดจะเป็นคนปักกิ่งหรือเปล่าคะ เขาว่าคนกรุงมักจะเครียดอารมณ์ไม่ค่อยดี แต่ที่อาจารย์ลงไปในชนบทละค่ะ คนชนบทจะมีน้ำใจกว่าคนกรุงหรือเปล่า"
"ครับ ครั้งนี้ผมไปที่เห่อเป่ย นั่งรถไฟจากปักกิ่งไป 4 ชั่วโมง เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ด้านหน้าหมู่บ้านมีเหมืองถ่านหิน ถนนหนทางจึงดูสกปรก แต่ด้านหลังของเหมืองเป็นท้องไร่ท้องนา มีภูเขาลดหลั่นกันสวยงามมาก ชาวบ้านปลูกผัก ปลูกข้าวฟ่างกันเป็นอาชีพ บ้านที่ผมไปอยู่เป็นครอบครัวชาวนาชื่อเฝิง ลูกชายของเขาเป็นพนักงานทำงานในบ้านเช่าที่ผมเช่าอยู่ในปักกิ่ง ผมบอกว่าอยากไปดูชนบท เขาก็เขียนจดหมายบอกพ่อแม่เขาแล้วผมก็ไป ปรากฏว่าเขาต้อนรับผมดีมาก ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน กินอยู่หลับนอนบริการฟรีทุกอย่างตลอด 3 วัน ผมว่า ถ้าดูจากน้ำใจของเขาตรงนี้ ก็ต้องบอกว่าไม่แตกต่างจากชาวชนบทไทยที่บ้านเรา"
"ชีวิตของชาวนาชาวไร่ในชนบทที่นี่ผมว่าสงบสุขน่าสบายครับ พอมีเวลาชาวบ้านก็จับกลุ่มกันเล่นไพ่นกกระจอก มีเดิมพันกันเล็กน้อยสักหยวน สองหยวน เล่นทั้งวันคงได้เสียกันไม่เกิน 10 หยวนกระมัง"
"แล้วทางวัตถุละคะ มีความแตกต่างจากคนในเมืองสักแค่ไหน"
"ทางวัตถุเป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ ชนบทกับในเมืองยังมีช่องว่างที่ห่างกันค่อนข้างมาก
เช่น น้ำก็ไม่สะอาด ไฟก็ไม่สว่างไสวเหมือนในปักกิ่ง ตกกลางคืนก็ปิดไฟเข้าบ้านกันหมดแล้ว"
"มีโทรทัศน์ให้ดูไหมคะ"
"มีครับ แต่มีช่องไม่กี่ช่องเท่านั้น ความแตกต่างที่ผมเห็นชัดกับคนในเมืองอย่างหนึ่งก็
คือเรื่องอาหารการกิน เท่าที่ผมเห็น เขากินอาหารประเภทแป้งกันมาก อาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ จนผมรู้สึกเป็นห่วงเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กนักเรียน กลัวว่าสารอาหารอาจจะไม่ค่อยพอสำหรับการเจริญเติบโต"
"เห็นว่าอาจารย์ไปครั้งนี้ อยากไปดูการสอนภาษาจีนในโรงเรียนด้วยไม่ใช่หรือคะ"
"ครับ คุณเฝิงเจ้าของบ้าน กรุณาแนะนำผมให้กับครูใหญ่ของโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง
เสียดายที่ผมไปในวันศุกร์ตอนบ้าย เคยไม่มีเวลาดูหลายห้อง ได้ดูเฉพาะห้องป.1 เท่านั้น"
"เป็นไงคะ โรงเรียนบ้านนอกของเขาเหมือนโรงเรียนบ้านนอกของเราไหมคะ"
"ผมไม่ได้ไปดูโรงเรียนชนบทที่เมืองไทยมานานแล้วเลยเปรียบเทียบไม่ถูก แต่ที่ผม
เห็นที่นี่ สภาพก็นับว่าทรุดโทรมนะครับ เก้าอี้ที่เด็ก ๆ ขาก็เก ภารโรงก็ไม่มี เด็ก ๆ ต้องทำความสะอาดกันเอง เลยดูสกปรกรกรุงรัง ทั้งโรงเรียนมีครู 10 คน ต่อนักเรียนร้อยกว่าคน เวลานักเรียนทำผิด ครูจะไม่ตี วิธีลงโทษของเขาคือให้ออกมายืนหน้าชั้น"
"อาจารย์คงได้ความรู้ใหม่ ๆ และประสบการณ์ใหม่ ๆ กลับไปใช้สอนนักเรียนของ
อาจารย์มากมายเลยนะคะ แล้วนี่อาจารย์จะกลับกรุงเทพฯเมื่อไหร่ค่ะ"
"อีกสัก 5-6 วันแหละครับ"
"ค่ะ อาจารย์ที่มีความเอาจริงเอาจังกับการเรียนการสอน ถึงขนาดลงทุนมาหาประสบ
การณ์ที่ปักกิ่งอย่างนี้คงหาไม่ได้อีกแล้วนะคะ เราก็ได้แต่ขออวยพรให้อาจารย์เดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพค่ะ ขอบคุณอาจารย์ชาตรีอีกครั้งค่ะ"
"สวัสดีครับ"
|