China Radio International
ข่าวภายใน
    ประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
 ข่าวการเมืองและ
 การต่างประเทศ
 ข่าวเศรษฐกิจ
 ข่าววัฒนธรรม

 ข่าววิทยาศาสตร์
  เทคโนโลยี่

 ข่าวกีฬา
 ข่าวอื่น
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2009
อ่านต่อ>>

จีนปัจจุบัน

เศรษฐกิจ

พาเที่ยวจีน

วัฒนธรรม

ชนชาติส่วนน้อย

การเมือง
(GMT+08:00) 2005-05-25 14:43:18    
จีนไทยใช่ใครอื่น (8)

cri

สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง พบกับรายการ "จีนไทยใช่ใครอื่น" โดยดิฉัน วิภา อุตมฉันท์ เป็นประจำทุกวันพุธ เวลาเดียวกันนี้อีกครั้งนะคะ

ถ้าท่านผู้ฟังยังจำได้ เมื่อสองครั้งก่อน อาจารย์ชาตรี วารีชัย ได้มาเล่าให้เราฟังว่า โรงเรียนประถมของกทม. ที่อาจารย์สอนอยู่ เดี๋ยวนี้ก็เริ่มเปิดสอนภาษาจีนแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าสนใจมาก เป็นความรู้ใหม่สำหรับดิฉันเองด้วย แสดงว่าเดี๋ยวนี้การสอนภาษาจีนแพร่หลายมากในประเทศไทย ไม่เพียงแต่ในระดับอุดมศึกษา ซึ่งนิยมเรียนกันมากมายแล้ว โรงเรียนกทม. ซึ่งสมัยก่อนเราเรียกกันว่า โรงเรียนเทศบาล เด็ก ๆ ก็ต้องเรียนภาษาจีนกันแล้วนะคะ

จากเรื่องนี้ดิฉันเลยไปหาความรู้เพิ่มเติมเรื่องความเป็นมาของการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย เพื่อนำมาเล่าให้ท่านฟัง อีกทั้งยังไปเชิญคนไทยที่เคยเรียนภาษาจีนตั้งแต่ยุคก่อนมาคุยกับเราอีกท่านหนึ่ง ท่านผู้นี้เคยเรียนภาษาจีนที่เมืองไทย ตั้งแต่สมัยที่ภาษาจีนยังไม่ได้มีสถานะเหมือนอย่างทุกวันนี้ คือเป็นภาษาที่รัฐบาลไทยในตอนนั้นยังไม่อยากให้เรียนกันมากนัก เพราะกลัวว่าเรียนแล้วคนไทยจะมีความคิดเอียงซ้าย ไปเห็นดีเห็นงามกับประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ และเป็นอริกับรัฐบาลไทยโดยตรง

"สวัสดีค่ะ คุณนิรันดร์ คุณนิรันดร์ขณะนี้อายุ 60 เศษแล้วใช่ไหมคะ แสดงว่าคุณนิรันดร์เคยเรียนภาษาจีนอย่างน้อย ๆ ก็ 40-50 ปีมาแล้ว ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยซิคะว่า บรรยากาศตอนนั้นเป็นอย่างไรคะ"

"ครับ ภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศภาษาหนึ่ง เหมือนกับภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เสปน แต่การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ไม่ได้เป็นเส้นตรงที่ราบรื่นเหมือนกับภาษาต่างประเทศอื่น ๆ คือมีบางระยะซบเซา บางระยะฟื้นตัว และระยะเฟื่องฟูก็คือยุคปัจจุบันนี้แหละครับ พูดอีกทีก็คือ มีขึ้นมีลงตามกระแสความขัดแย้งภายในสังคม สำหรับผมแล้วมองว่า ความขัดแย้งที่สำคัญสำหรับการเรียนภาษาจีนในเมืองไทยเมื่อก่อนนี้ก็คือ ฝ่ายคนจีนและลูกหลานจีน ถือว่าการเรียนภาษาจีนเป็นการสืบทอดอัตลักษณ์ของชนชาติจีน ขณะที่รัฐบาลไทยในตอนนั้นกลับมองว่า ภาษาจีนเป็นอุปสรรคต่อการผสมกลมกลืนคนในชาติ กระทั่งมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติไปเลย"

"แล้วยุคที่คุณนิรันดร์เรียนภาษาจีนเป็นยุคไหนหรือคะ ยุคซบเซาหรือยุคฟื้นตัวยังไงค่ะ"

"ผมเรียนเมื่อเกือบ 60 ปีก่อนแล้วละครับ ตอนนั้นสงครามโลกเพิ่งจะสงบไม่นาน เป็นระยะที่รัฐบาลหันกลับมาควบคุมโรงเรียนจีนอีกครั้งหนึ่ง ความจริงก่อนหน้านั้นสัก 6-7 ปี คือตอนที่ผมเกิดใหม่ ๆ สงครามโลกเพิ่งสงบ ช่วงนั้นโรงเรียนจีนเฟื่องฟูมาก เพราะคนจีนในไทยเกิดความรู้สึกว่า จีนเป็นฝ่ายชนะสงคราม แต่ไทยกลับเป็นฝ่ายแพ้เพราะยืนอยู่ข้างญี่ปุ่น โรงเรียนจีนที่เคยถูกสั่งปิดในระหว่างสงคราม เลยถือโอกาสเปิดกันใหญ่ ตอนนั้นมีกันหลายร้อยโรงเลยทีเดียว"

`แต่ดูเหมือนว่า ยุคเฟื่องฟูในตอนนั้นจะสั้นมากใช่ไหมคะ แล้วทางการก็หันมาควบคุมการสอนภาษาจีนอีกตอนที่คุณนิรันดร์เข้าโรงเรียนพอดี"

"ครับ ตอนนั้นรัฐบาลอนุญาตให้สอนภาษาจีนได้เฉพาะโรงเรียนประถม ให้สอนได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง ตารางสอนของผมจึงเป็นวิชาภาษาจีนวันละชั่วโมง ที่เหลือเรียนภาษาไทยหมด แต่ถึงยังไงก็เป็นโรงเรียนจีนนะครับ ชื่อก็ชื่อจีน โรงเรียนที่ผมเรียนชื่อ "เอียงเจี่ย" อยู่แถวนางเลิ้ง แต่บางแห่งก็มีชื่อทั้งไทยและจีน เจ้าของเป็นพวกสมาคมจีน ผู้บริหารก็เป็นคนจีน แม้จะสอนภาษาจีนวันละชั่วโมงเดียว ลูกหลานจีนส่วนใหญ่พ่อแม่ชอบให้ไปโรงเรียนจีนแบบนี้ครับ ผมก็ได้พื้นฐานภาษาจีนจากการเรียนที่นี่ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ป.4 "

"ได้เรียนแค่นั้นจะพออ่านเขียน ใช้งานได้ไหมคะ"

"ก็พอพูดได้ง่าย ๆ นะครับ อ่านเขียนก็ได้แต่ไม่ลึกนัก พอขึ้นถึงระดับมัธยม ก็ต้องไปเข้าเรียนโรงเรียนไทยแล้ว ผมเรียนที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ แต่ด้วยความที่ยังเสียดายความรู้ที่ได้มาครึ่ง ๆ กลาง ๆ งู ๆ ปลา ๆ พ่อแม่ก็สนับสนุน ผมจึงไปเรียนต่อตามโรงเรียนที่สอนภาษาจีนเวลากลางคืน เรียนทุกคืน ๆ ละ 2 ชั่วโมง เรียนอยู่ 3 ปีก็ถือว่าเทียบเท่าระดับมัธยมได้แล้วครับ"

"แล้วทำไมรัฐบาลจึงยอมให้สอนล่ะคะ ก็ไหนบอกว่าให้สอนภาษาจีนได้แค่ระดับประถมเท่านั้น"

"เพราะถือว่าเป็นการสอนสำหรับผู้ใหญ่ครับ ไม่ใช่สอนตามหลักสูตรกระทรวง และก็มีแต่โรงเรียนจีนใหญ่ ๆ ไม่กี่แห่งเท่านั้นครับที่สอนกลางคืน ตอนนั้นที่มีชื่อมาก คนจีนรู้จักดีก็คือโรงเรียนเผยอิง ซิงหมิน กับโรงเรียนสหคุณศึกษา ผมก็เรียนกลางคืนที่โรงเรียนสหคุณศึกษานี้แหละครับ"

"ได้ยินว่า บางครอบครัวก็ใช้วิธีเชิญครูจีนไปสอนให้ลูกหลานตามบ้าน วิธีนี้จะแทนการไปเรียนโรงเรียนผู้ใหญ่ตอนกลางคืนได้ไหมคะ"

"การเรียนภาษาจีนตามบ้าน เป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของการเรียนภาษาจีนในเมืองไทยทีเดียวแหละครับ อาจเป็นเพราะว่าความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลที่มีต่อโรงเรียนจีน เดี๋ยวให้เปิด เดี๋ยวสั่งปิด การเรียนจึงติด ๆ ขัด ๆ เรียนสูงก็ไม่ได้ คนที่มีฐานะดี ๆ หน่อย จึงมักนิยมจ้างครูจีนไปสอนให้ลูกหลานที่บ้าน แต่การเรียนวิธีนี้มักไม่ค่อยเป็นระบบ ผมว่าสู้เรียนตามโรงเรียนไม่ได้ อ้อ ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลมากครับ คือเรียนเอง ผมชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะพวกหนังสือกำลังภายในบู๊ลิ้ม ผมไปเช่ามาทีเป็นปึก ๆ เอามานอนอ่าน ช่วยให้ภาษาจีนผมดีขึ้นเยอะ แต่ดีเฉพาะอ่านนะครับ พูดกับเขียนไม่มีโอกาส เลยเป็นจุดอ่อนของผม"

"แหม หาคนที่มีใจรักและฟันฝ่าอุปสรรคจนสามารถใช้ภาษาจีนได้ดีอย่างคุณนิรันดร์คงจะยากหน่อยนะคะ วันนี้เราก็ได้ความรู้จากคนรุ่นก่อน ซึ่งเรียนภาษาจีนในสภาพที่มีคนเรียกว่า "ภาษาจีนเป็นภาษาคอมมิวนิสต์" เป็นอันตรายต่อการเมือง ครั้งหน้าเราจะมาคุยกันอีกครั้ง

คราวนี้เราจะได้เห็นเห็นบรรยากาศอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งภาษาจีนได้กลายเป็น "ภาษาพาณิชย์" แห่งศตวรรษที่ 21 ที่ทั้งรัฐบาลก็สนับสนุน คนเรียนก็พร้อมจะเรียนกันใหญ่ รอสัปดาห์นะคะ เราค่อยมีคุยกันใหม่ สวัสดีค่ะ