China Radio International
ข่าวภายใน
    ประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
 ข่าวการเมืองและ
 การต่างประเทศ
 ข่าวเศรษฐกิจ
 ข่าววัฒนธรรม

 ข่าววิทยาศาสตร์
  เทคโนโลยี่

 ข่าวกีฬา
 ข่าวอื่น
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2009
อ่านต่อ>>

จีนปัจจุบัน

เศรษฐกิจ

พาเที่ยวจีน

วัฒนธรรม

ชนชาติส่วนน้อย

การเมือง
(GMT+08:00) 2005-06-01 17:41:32    
จีนไทยใช่ใครอื่น (9)

cri

สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง พบกับดิฉัน วิภา อุตมฉันท์ ในรายการ "จีนไทยใช่ใครอื่น" อีกครั้งแล้วค่ะ วันนี้เราจะคุยกันเรื่องการสอนภาษาจีนในประเทศไทยต่อจากครั้งที่แล้ว ซึ่งเราคุยค้างกันไว้ว่า ในระยะเวลา 60 ปีตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การสอนภาษาจีนในประเทศไทยผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการถูกสั่งปิดแล้วก็เปิดใหม่ ถูกกำหนดจำนวนชั่วโมงเรียน และถูกจำกัดไม่ให้เรียนสูง แค่ระดับประถมศึกษาเท่านั้น

วันนี้เราจะพาท่านกระโดดข้ามยุคสมัยมาสู่สถานการณ์ใหม่กันเลยนะคะ คือเมื่อสถานการณ์โลกเกิดการพลิกผัน ประเทศจีนเปิดตัวออกสู่โลกภายนอก แล้วก็ประสบผลสำเร็จในทางเศรษฐกิจเป็นอย่างดี จีนมีบทบาทในทางสากลสูงเด่นขึ้นมา การเรียนภาษาจีนจึงกลายเป็นความจำเป็นในทางธุรกิจ ใคร ๆ ก็อยากเรียนภาษาจีน จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผู้ทำการสำรวจในประเทศไทยพบว่า จีนเป็นภาษาต่างประเทศที่คนไทยต้องการเรียนมากเป็นอันดับ 2 รองจากภาษาอังกฤษไปแล้วนะคะ

บังเอิญรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนในระยะ 20-30 ปีมานี้ก็เป็นมิตรต่อกันอย่างดีเยี่ยม รัฐบาลไทยไม่เพียงแต่ไม่สกัดกั้นการเรียนการสอนภาษาจีนเท่านั้น ยังมอบนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดหลักสูตรให้ภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศอีกภาษาหนึ่ง ที่นักเรียนสามารถเลือกเรียนเป็นภาษาที่ 2 ได้ โดยมีภาษาอังกฤษยังคงเป็นภาษาต่างประเทศภาษาที่ 1 อยู่เหมือนเดิม มิติใหม่แห่งการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยจึงเกิดขึ้น อุปสรรคทางด้านการเมืองต่าง ๆ หมดไปอย่างสิ้นเชิง

ลองย้อนไปดูตั้งแต่ปี 2538 นะคะ จะเห็นว่า ภาษาจีนได้รับการรับรองให้สอนในโรงเรียนได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายแล้วละค่ะ เฉพาะในกรุงเทพมหานครฯ ขณะนี้ มีโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนถึงกว่า 200 โรงที่เปิดสอนภาษาจีน ส่วนในระดับอุดมศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้แต่ละสถาบันพิจารณาเปิดสอนภาษาจีนเป็นวิชาเอกหรือโทได้โดยไม่มีจำกัด ขณะนี้ มีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศที่เปิดสอนภาษาจีนเป็นวิชาเอก-โททั้งสิ้น 32 แห่ง

ดิฉันได้มีโอกาสคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ พัชนี ตั้งยืนยง อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ทราบว่า เดี๋ยวนี้ภาษาจีนเป็นวิชาหนึ่งที่ใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยค่ะ

"ปัจจุบัน นับตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว ภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศที่ใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย เด็กนักเรียนที่เรียนมาตั้งแต่ชั้นมัธยมเขาเรียนอย่างมีเป้าหมาย เรียนแล้วเอาไปใช้ได้ ในการสอบครั้งแรกมีคนเข้าสอบ 200 กว่าคนตอนนี้มีสองพันกว่าคน เขาก็เรียนอย่างมีเป้าหมายว่าจะเอาไปใช้ นักศึกษาที่เรียนเอกภาษาจีน แม้ประเทศไทยจะมีวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เขาไม่เคยตกงาน หางานง่ายมาก ก็เป็นแรงบันดาลใจให้คนอยากเลือกเรียนแต่เอกจีนค่ะ"

อาจารย์พัชนี บอกว่า คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นแห่งแรกที่เปิดสอนวิชาภาษาจีนในประเทศไทย จำนวนนิสิตที่เลือกเรียนภาษาจีนเพิ่มขึ้นทุกปี จนขณะนี้รับไม่ไหว ต้องจำกัดจำนวนไว้ เพราะอัตราการจ้างอาจารย์ไม่สามารถเพิ่มได้ในสัดส่วนที่เหมาะสมกัน

"ที่จุฬาฯ รับจำกัดไว้ที่ปีละไม่เกิน 60 คน แต่สมัครกันเป็นร้อย ๆ เราใช้วิธีที่ให้ความเสมอภาค คือให้เขาลงทะเบียน แล้วก็ตัดเอา เราไม่รู้จะใช้วิธีอื่นอย่างไร ใช่ไหมคะ"

อาจารย์พัชนี ยังกล่าวถึงการพัฒนาการสอนภาษาจีนในประเทศไทยว่า สถาบันต่าง ๆ จะต้องหาทางทำสัญญาความร่วมมือกับสถาบันในต่างประเทศ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยปักกิ่งมานานแล้ว

"เรามีการเซ็นสัญญากับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศจีน โดยเฉพาะกับ"เป่ยต้า"เซ็นสัญญากันครั้งที่ 3 แล้วค่ะ เป็นปีที่ 15 มีอาจารย์ของเรามาเรียนที่นี่ แล้วก็มีนักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งไปเรียนที่มหาวิทาลัยของเรา"

ที่อาจารย์พัชนีพูดมาทั้งหมด ยังเป็นการเรียนการสอนในระบบอยู่นะคะ สิ่งที่เรายังไม่ได้พูดและไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่งก็คือ การเรียนการสอนภาษาจีนนอกระบบที่กำลังบานสะพรั่งเป็นดอกเห็ดในประเทศไทยอยู่ในเวลานี้ จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ ณ ปี 2004 มีศูนย์สอนภาษาจีนของเอกชนกระจายอยู่ทั่วประเทศ 61 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯมากที่สุดถึง 42 แห่ง ศูนย์เหล่านี้เปิดขึ้นมามากมาย เพื่อตอบสนองกระแสความนิยมเรียนภาษาจีนของประชาชนในเวลานี้ แต่ละศูนย์ก็จัดหลักสูตรการสอนที่ตนเห็นว่าเหมาะสม รวมทั้งจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่นสอนการเขียนพู่กันจีน สอนดนตรีจีน เพื่อดึงดูดผู้เรียนหรือลูกค้าให้มาสมัครมาก ๆ

เราคงเห็นแล้วใช่ไหมคะว่า การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย อยู่ในยุคเฟื่องฟูมากขนาดไหน แต่อาจารย์พัชนีมองเห็นว่ายังมีปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข ลองไปฟังความเห็นของอาจารย์ดูนะคะ

"การสอนภาษาจีนในประเทศไทยไปเกี่ยวพันกับการเมือง เพราะฉะนั้น 60 ปีที่ผ่านมาขาดตอนขาดช่วง พอมาถึงยุคปัจจุบันที่เรามีความสัมพันธ์กันอย่างดี ก็ทำให้ขาดแคลนบุคลากร เพราะฉะนั้น ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ไทยกับจีนควรจะร่วมมือกัน พัฒนาบุคลากรทางด้านภาษาจีน"

การพัฒนาบุคลากรภาษาจีนจะทำให้คุณภาพการสอนภาษาจีนที่กำลังเป็นที่นิยมมากในหมู่ประชาชน เป็นการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพจริง ๆ ไม่ใช่สอนเพื่อหวังเอากำไรของนักธุรกิจฉวยโอกาสแบบน้ำขึ้นรีบตัก ต้องการลูกค้ามาก ๆ แต่ไม่สนใจคุณภาพ อาจารย์พัชนีจึงฝากแง่คิดทิ้งท้ายให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิด

ท่านผู้ฟังคะ ครั้งหน้า ดิฉันจะยังพูดถึงเรื่องของภาษากันอีกหน่อยนะคะ คราวนี้เราจะไปดูทั้งการเรียนภาษาจีนของนักเรียนไทยในประเทศจีน และการเรียนภาษาไทยของนักเรียนจีนในประเทศไทย เรียกว่าไปดูข้ามประเทศกันเลยละค่ะ สำหรับวันนี้หมดเวลาพอดี ดิฉันต้องขอลาไปก่อน สวัสดีค่ะ