สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟัง รายการ "จีนไทยใช่ใครอื่น" ครั้งที่แล้ว ดิฉันเกริ่นไว้ว่าจะชวนท่านคุยถึงความร่วมมือด้านการเรียนการสอนภาษาไทยและภาษาจีนระดับระหว่างประเทศ คือระดับระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน หลังจากที่เราได้คุยถึงการสอนภาษาจีนภายในประเทศไทยไปแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้
เท่าที่ทราบ รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักศึกษาและร่วมมือกันทางวัฒนธรรมกันหลายฉบับ ฉบับที่ถือว่ายาวนานที่สุดและปฏิบัติต่อเนื่องเห็นผลอยู่ทุกปีในขณะนี้ เป็นฉบับที่มีอายุกว่า 20 ปีแล้ว คือเซ็นกันตั้งแต่ปี 1980 หลังจากที่ไทยกับจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันเพียง 5 ปีเท่านั้น
ข้อตกลงฉบับนี้ทำกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของจีน กับกรมวิเทศสหการ กระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยคร่าว ๆ ก็คือ ทั้งสองฝ่ายจะให้ทุนแก่นักศึกษาฝ่ายตรงข้ามฝ่ายละไม่เกิน 7 ทุนต่อปี ให้ไปศึกษาหาความรู้ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการเรียนภาษาก็ได้ ขั้นตอนก็คือ ผู้สมัครจะต้องแสดงเหตุผลของการขอทุนและระบุสาขาวิชาที่ตนต้องการเรียน หากเหตุผลสมควร ก็จะได้รับการพิจารณา
ดูเหมือนผู้สื่อข่าวของเราที่สถานีวิทยุซีอาร์ไอภาคภาษาไทยนี้ จะโชคดีกว่าผู้สมัครอีกหลายคนจากที่อื่น ๆ ที่นี่มีคนที่ได้ทุนนี้ไปเรียนภาษาไทยเพิ่มเติมที่เมืองไทยหลายคน วันนี้ ดิฉันชวนมาคุยกับท่านผู้ฟัง 1 คน นอกจากนี้ยังมีนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกคนหนึ่ง ซึ่งได้ทุนตามข้อตกลงนี้เหมือนกัน แต่เป็นทุนจากทางฝ่ายจีน มาศึกษาภาษาจีนอยู่ที่ปักกิ่ง ทั้ง 2 คนจะมาช่วยกันเล่าให้ฟังเกี่ยวกับประสบการณ์ 1 ปีที่ได้รับจากความร่วมมือระหว่างประเทศทุนนี้
"สวัสดีค่ะคุณดุษฎา คุณดุษฎาเพิ่งกลับจากเมืองไทยมาประจำหน้าที่อยู่ที่ซีอาร์ไอได้ไม่ถึงเดือน ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยซิคะว่า หน้าที่การงานที่ทำอยู่ มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องไปเรียนภาษาไทยเพิ่มเติมค่ะ"
"สวัสดีค่ะ ดิฉันเรียนภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง แล้วก็มาทำงานที่สถานีวิทยุซีอาร์ไอ ทุกวันก็ต้องใช้ภาษาไทยในการทำงาน จึงสมัครขอทุนกระทรวงศึกษาธิการทุนนี้ โชคดีที่ได้รับพิจารณา ส่วนใหญ่คนที่ได้ทุนนี้และต้องการเรียนภาษาไทย เขาจะจัดให้ไปเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯค่ะ ดิฉันเองก็เรียนที่คณะอักษรศาสตร์ค่ะ"
"เรียนหนักไหมคะ เรียนแล้วต้องสอบเหมือนนิสิตทั่วไปหรือเปล่า"
"ก็ไม่รู้สึกว่าหนักอะไรนะคะ สนุกมากกว่าค่ะ ทุกเทอมต้องเรียนวิชาบังคับเทอมละ 1 วิชา แล้วที่เหลือเป็นวิชาเลือก จะเลือกกี่วิชาก็ได้ค่ะ ถ้าเป็นวิชาบังคับก็ต้องสอบให้ผ่านเหมือนนิสิตจุฬาทั่วไปค่ะ"
"คงไม่ต้องถามนะคะว่าคุณดุษฎาสอบผ่านหรือเปล่า เพราะลองบอกว่าเรียนสนุกก็ต้องผ่านแน่นอนเลย อาจจะได้เกรดเอเสียด้วยซ้ำใช่ไหมคะ คุณดุษฎีคิดว่าเรียนภาษาไทยที่ปักกิ่งกับที่จุฬาฯ มีอะไรที่ต่างกันบ้างคะ"
"เรียนที่ปักกิ่งจะหนักไปทางด้านการเขียนมากกว่าค่ะ เพราะเรายังรู้น้อย ต้องอ่านเขียนเป็นพื้นฐานให้มาก ๆ แต่เรียนที่จุฬาฯ จะมีโอกาสพูดและฟังมากหน่อย คืออาจารย์จะชอบให้นิสิตทำรายงาน แล้วมาพูดให้ฟังหน้าชั้น ต้องตอบคำถามเวลาเพื่อน ๆ ฟังไม่เข้าใจ สิ่งแวดล้อมอย่างนั้นช่วยให้เราต้องคิดอะไรเป็นไทยโดยอัตโนมัติ จะคิดเป็นจีนแล้วค่อยแปลเป็นไทยอย่างที่เรียนใหม่ ๆ ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งไม่ได้ค่ะ"
" ขอบคุณมากค่ะคุณดุษฎา ที่มาคุยกับเรา ตอนนี้เรายังมีแขกมานั่งรออยู่อีกท่านหนึ่ง คราวนี้สลับกันนะคะ เป็นนักเรียนไทยที่ได้ทุนในโครงการแลกเปลี่ยนเดียวกันกับคุณดุษฎา มาเรียนภาษาจีนที่ประเทศจีน เรามาฟังดูว่าเธอมีอะไรจะเล่าให้เราฟังบ้าง"
"สวัสดีค่ะคุณศุกรวรรณ คุ้มรุ่งโรจน์"
"สวัสดีค่ะ"
"คุณศุกรวรรณช่วยแนะนำตัวเอง และแนะนำเกี่ยวกับทุนของรัฐบาลจีนที่ทำให้มาเรียนอยู่ที่นี่ให้ฟังหน่อยซิคะ"
"หนูเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ ปีที่ 4 ค่ะ ทุกปีที่คณะจะจัดสอบคัดเลือกนิสิต 2 คนแล้วส่งชื่อไปให้สถานทูตจีนในประเทศไทย คนทีได้ก็จะได้มาเรียนภาษาจีน 1 ปี นักเรียนทุนคนอื่นๆ หนูไม่ทราบว่าไปเรียนที่ไหนบ้างนะคะ แต่นักเรียนทุนจากอักษรฯ จะมาเรียนที่มหาวิทยาลัยวัฒนธรรมและภาษาต่างประเทศปักกิ่งหรือ เป๋ยอวี่ค่ะ ที่นี่มีนักเรียนไทยอยู่มากที่สุด หลายร้อยคนค่ะ"
"แล้วจะเป็นอุปสรรคให้เราไม่ค่อยได้คบเพื่อนคนจีนหรือเปล่า โอกาสที่จะพูดภาษาจีนจะน้อยไปไหมคะ"
"ไม่ค่ะ เพราะที่ห้องนอกจากหนูกับเพื่อนแล้ว ที่เหลือก็เป็นคนต่างชาติหมด แล้วมันอยู่ที่ตัวเราเองด้วยนะคะว่า เราทำตัวอย่างไร คบกับเพื่อน ๆ หรือไม่"
"คิดว่าประสบการณ์ที่ได้จากที่นี่อย่างนี้ จำเป็นมากไหมคะสำหรับนักเรียนไทยที่เรียนภาษาจีนไหมคะ"
"คิดว่าจำเป็นมากค่ะ เพราะที่เมืองไทยเราเรียนแต่อ่านกับเขียน แต่มาที่นี่ต้องพูดต้องฟังทั้งวันเลย เป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นมากเลยค่ะ"
"แล้วจะต้องกลับไปเรียนต่ออีกเทอมใช่ไหมคะ จะกลับเมื่อไหร่ค่ะ"
"กลับเดือนกรกฏาคมนี้แล้วค่ะ"
"ก็ใกล้มากแล้วซิคะ ขอให้คุณศุกรวรรณเดินทางกลับประเทศไทยโดยสวัสดิภาพนะคะ และหวังว่าเราจะได้เห็นคุณศุกรวรรณนำความรู้ที่ได้นี้ไปใช้ประโยชน์ต่อประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายและต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราทั้งสอง สมดังเจตนาของโครงการแลกเปลี่ยนนี้ค่ะ"
เวลาของเราหมดลงอีกแล้วนะคะ ดิฉันขอลาไปก่อน สวัสดีค่ะ
|