China Radio International
ข่าวภายใน
    ประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
 ข่าวการเมืองและ
 การต่างประเทศ
 ข่าวเศรษฐกิจ
 ข่าววัฒนธรรม

 ข่าววิทยาศาสตร์
  เทคโนโลยี่

 ข่าวกีฬา
 ข่าวอื่น
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2009
อ่านต่อ>>

จีนปัจจุบัน

เศรษฐกิจ

พาเที่ยวจีน

วัฒนธรรม

ชนชาติส่วนน้อย

การเมือง
(GMT+08:00) 2005-06-15 17:51:22    
จีนไทยใช่ใครอื่น (11)

cri

สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟัง พบกับดิฉัน วิภา อุตมฉันท์ในรายการ "จีนไทยใช่ใครอื่น" วันพุธเวลาเดิมนี้อีกครั้งค่ะ

หลายครั้งที่ผ่านมา เราคุยกันเรื่องการสอนภาษาจีนในประเทศไทยว่า มีประวัติมายาวนาน แต่เพิ่งจะได้รับความนิยมมากในขณะนี้ แล้วก็เลยไปพูดถึงเรื่องโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ที่ให้ทุนกับนักศึกษาฝ่ายหนึ่งให้ไปเรียนภาษาในประเทศอีกฝ่ายหนึ่ง วันนี้เราจะยังคงคุยกันเรื่องภาษาอีกครั้งนะคะ เพราะจนป่านนี้เราก็ยังไม่รู้เลยว่า แล้วภาษาไทยในประเทศจีนเล่า สอนกันตั้งแต่เมื่อไหร่ และขณะนี้แพร่หลายมากขนาดไหน

ดิฉันเคยคุยเรื่องนี้กับรองศาสตราจารย์ โป๋เหวินเจ๋อ มาครั้งหนึ่ง ได้ทราบจากอาจารย์ว่า มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นสถาบันที่เปิดสอนภาษาไทยเก่าแก่ที่สุดในประเทศจีน บังเอิญอาจารย์โป๋ ก็เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งด้วย วันนี้ดิฉันเลยรบกวนอาจารย์โป๋ให้มาคุยกับเราค่ะ

"สวัสดีค่ะ อาจารย์โป๋"

"สวัสดีครับอาจารย์"

"ตอนที่พบอาจารย์ ตอนนั้นอาจารย์ไปเรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์กลับมาที่ปักกิ่งเมื่อไหร่ค่ะ"

"ผมกลับมาตั้งแต่ปีที่แล้วครับ"

"อาจารย์ไปเรียนที่คณะอักษรศาสตร์กี่ปีค่ะ"

"ผมไปเรียนหนึ่งปีพอดี ไปเรียนภาษาไทยในหลักสูตรปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกครับ คือที่ผมเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรปริญญาเอกของผมที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งครับ"

"อ้อ แสดงว่าที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งมีหลักสูตรภาษาไทยทั้งปริญญาตรี โท และเอกแล้ว ก็ก้าวหน้ากว่าหลักสูตรภาษาจีนที่เมืองไทยอีกซิคะ อาจารย์ช่วยเล่าให้ฟังเกี่ยวกับหลักสูตรภาษาไทยที่นี่ให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ"

"ก็ไม่ได้ก้าวหน้ากว่าอะไรหรอกครับ ปริญญาเอกก็เพิ่งจะมีผมคนเดียวนี่แหละ ปีหน้าจะรับน้องเข้ามาอีก 2 คน ส่วนปริญญาโทก็เปิดมาได้สัก 10 ปี จบไปแล้ว 5-6 คน ปีนี้จะจบอีก 3 คน ส่วนปริญญาตรีปีนี้มี 12 คน หลักสูตรปริญญาเอกใช้เวลา 4 ปี ปริญญาโท 3 ปี ปริญญาตรีก็ 4 ปีครับ"

"ก่อนที่จะคุยต่อไป ดิฉันต้องขอโทษที่ต้องพาอาจารย์ย้อนถอยหลังไปในอดีตก่อนนะคะ เพราะสัญญากับผู้ฟังไว้ว่า จะมาฟังอาจารย์เล่าให้ฟังว่า ภาษาไทยมีการเรียนการสอนที่มหาวิทาลัยปักกิ่งตั้งแต่เมื่อไหร่"

"ใคร ๆ ก็คิดว่ามหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่สอนภาษาไทย ความจริงไม่ใช่นะครับ ตั้งแต่สมัยก๊กมิ่นตั๋ง ก็เปิดสอนภาษาไทยแล้ว คือตอนนั้นก๊กมิ่นตั๋งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยตั้งแต่ปี 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้น 2 ปีก็เปิดสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยในนานกิง แต่ต่อมา เมื่อจีนใหม่สถาปนาขึ้นมาในปี 1949 ก็ได้ยุบมหาวิทยาลัยแห่งนั้น แผนกภาษาไทยที่นั่นก็มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ตั้งแต่ปี 1950"

"หมายความว่า มหาวิทยาลัยปักกิ่งสอนภาษาไทยมาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วหรือคะ"

"ใช่ครับ"

"สมัยก่อนนักศึกษาเขาต้องสอบเอ็นทรานซ์เหมือนปัจจุบันไหมคะ หรือว่ารัฐบาลกำหนดมาให้เรียนเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ต่อประเทศชาติ"

"ก็ต้องสอบเหมือนกันครับ แต่คนที่คะแนนเอ็นทรานซ์ไม่ถึง เขาก็ให้มาเรียนภาษาไทย"

"ก็แปลว่าต้องมีการบังคับเรียนใช่ไหมค่ะ"

"ก็ทำนองนั้นครับ เพราะคนจีนตอนนั้นยังไม่รู้จักประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้ก็ยังต้องมีการบังคับเรียนเหมือนกัน"

"แล้วเดี๋ยวนี้ล่ะคะ มีนักศึกษาที่เรียนภาษาไทยด้วยความสมัครใจหรือเปล่าคะ คือเขามองเห็นประโยชน์จากการเรียนภาษาไทยหรือยังคะ""

"เดี๋ยวนี้มีแล้วครับ นักศึกษาที่สมัครเรียนภาษาไทยเริ่มมีมากขึ้น เพราะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนดีมาก มีการค้าขายไปมาหาสู่กัน คนไทยก็มาลงทุนในเมืองจีน คนจีนก็ไปลงทุนในเมืองไทย เขารู้ว่าเรียนภาษาไทยแล้วจะเอาไปใช้ในการทำมาหากินได้ทันที"

"ดิฉันและท่านผู้ฟังชาวไทยต้องขอบคุณอาจารย์โป๋เหวินเจ๋อมากเลยค่ะ ไม่ใช่ขอบคุณเพราะอาจารย์สละเวลามาคุยกับเราเท่านั้นนะคะ ขอบคุณเป็นพิเศษที่อาจารย์เป็นแม่พิมพ์พ่อพิมพ์สำคัญ ที่กำลังสร้างบุคลากรใหม่ ๆ ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทย ขนบประเพณีวัฒนธรรมไทย พูดภาษาไทยได้ออกมาเป็นรุ่น ๆ แน่นอน การสืบสานสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศเราทั้งสองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จะขาดบุคลากรลูกศิษย์เหล่านี้ของอาจารย์ไม่ได้โดยเด็ดขาดค่ะ "

"ขอขอบคุณอาจารย์อีกครั้งค่ะ"

เวลาของเราหมดลงอีกแล้วค่ะท่านผู้ฟัง ดิฉันขอลาไปก่อน สวัสดีค่ะ