China Radio International
ข่าวภายใน
    ประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
 ข่าวการเมืองและ
 การต่างประเทศ
 ข่าวเศรษฐกิจ
 ข่าววัฒนธรรม

 ข่าววิทยาศาสตร์
  เทคโนโลยี่

 ข่าวกีฬา
 ข่าวอื่น
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2009
อ่านต่อ>>

จีนปัจจุบัน

เศรษฐกิจ

พาเที่ยวจีน

วัฒนธรรม

ชนชาติส่วนน้อย

การเมือง
(GMT+08:00) 2005-06-22 17:08:54    
จีนไทยใช่ใครอื่น (12)

cri

สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟัง พบกับรายการ "จีนไทยใช่ใครอื่น" และดิฉัน วิภา อุตมฉันท์ อีกครั้งนะคะ

วันนี้เราจะคุยกันเรื่องการเรียนการสอนภาษาไทยกับภาษาจีนเป็นครั้งสุดท้ายค่ะ โดยคราวนี้เราจะจบลงที่สภาพการสอนภาษาไทยในประเทศจีน เพื่อดูว่าขณะนี้ภาษาไทยในประเทศจีนมีความแพร่หลายและได้รับความนิยมจากผู้เรียนมากน้อยแค่ไหน

ก่อนอื่นขอทบทวนความจำกับท่านผู้ฟังสักเล็กน้อยนะคะ ครั้งที่แล้วอาจารย์โป๋เหวินเจ๋อ เล่าให้เราฟังว่า ภาษาไทยมีประวัติการสอนในประเทศจีนมานานกว่า 50 ปีแล้ว การสอนครั้งแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ยุครัฐบาลก๊กมิ่นตั๋ง ซึ่งได้เปิดสอนภาษาไทยขึ้นที่วิทยาลัยภาษาตะวันออกนานกิง แต่ในเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ประเทศจีนใหม่ก็ได้สถาปนาขึ้น การสอนภาษาไทยก็ย้ายจากนานกิงมาอยู่กับคณะภาษาตะวันออกของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ตั้งแต่บัดนั้น

ท่านผู้ฟังทราบไหมคะว่า คุณเสถียร นาสมบูรณ์ ที่แฟนซีอาร์ไอทุกท่านรู้จักดี ก็เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยปักกิ่ง ที่จบจากภาควิชาภาษาไทยในรุ่นแรก ๆ นะคะ เราลองมาคุยกับคุณเสถียรดูนะคะ

"สวัสดีค่ะ คุณเสถียร"

"สวัสดีครับ"

"คงไม่มีอะไรน่าสนใจไปกว่าคำถามที่อยากจะถามว่า ทำไมคุณเสถียรจึงคิดเรียนภาษาไทยตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีก่อนคะ มีอะไรเป็นแรงดลใจ เรียนแล้วไม่กลัวตกงานหรือคะในตอนนั้น"

"ผมคงต้องบอกว่าผมเรียนภาษาไทยด้วยความบังเอิญมากกว่า ผมเข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่งเมื่อปี 1962 ตอนนั้นคิดจะเรียนภาษารัสเซีย เพราะผมเรียนภาษารัสเซียมาตั้งแต่ชั้นมัธยม คือเราต้องเข้าใจว่าการเรียนภาษาต่างประเทศในสมัยนั้น มันขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จีนกับรัสเซียในตอนนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่บังเอิญหลังสอบเสร็จ ก็มีอาจารย์จากภาควิชาภาษาไทยท่านหนึ่งเรียกตัวผมไปพบ แล้วบอกว่าทางการอยากให้ผมเรียนภาษาไทย สมัยนั้นเด็ก ๆ ไม่ดื้อหรอกครับ พออาจารย์บอกให้เรียนผมก็เรียน เรื่องอนาคตจะทำงานอะไรก็ไม่ได้คิดหรอกครับ"

"สมัยนั้นรับนักศึกษาภาษาไทยปีละกี่คนค่ะ"

"ตอนนั้นเขาเปิดรับ 3 ปีต่อรุ่นเท่านั้น รุ่นเดียวกับผมก็มี 13 คน พอเรียนจบพอดีเป็นช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม กิจการทุกอย่างหยุดชะงักไปราว10 ปี ผมมาได้งานที่สถานีวิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทยก็ในปี 1980 ครับ"

"คุณเสถียรคะ นอกจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งแล้ว ดิฉันทราบว่ามีมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งในประเทศจีนที่มีการเรียนการสอนภาษาไทยอยู่ วันก่อนพบบทความของอาจารย์ ฟู่ เจิงโหย่ว เขียนถึงเรื่องนี้พอดี อาจารย์บอกว่า หลังจากเปิดสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยปักกิ่งเมื่อทศวรรษที่ 1950 แล้ว ในทศวรรษที่ 1960 ยังเพิ่มขึ้นมาอีก 3 สถาบัน คือ "สถาบันชนชาติส่วนน้อยกวางสี" "สถาบันภาษาต่างประเทศปักกิ่ง" และ "สถาบันภาษาต่างประเทศกว่างโจว" เห็นว่าสถาบันชนชาติส่วนน้อยกวางสี เปิดรับนักศึกษาไทยถึงปีละร่วมร้อย ทำไมที่นี่ถึงรับมากอย่างนี้ค่ะ"

"ครับ คงเป็นเพราะว่าสถาบันชนชาติส่วนน้อยกวางสี ทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับภาษาชนกลุ่มน้อยของจีนอยู่แล้ว ที่กวางสีมีชนชาติจ้วงกับชนชาติแม้ว ที่ภาษาพูดใกล้เคียงกับภาษาไทย อีกอย่างหนึ่งก็เพราะกวางสีเป็นมณฑลที่อยู่ใกล้กับประเทศไทย เป้าหมายของเขาคือจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาขึ้นมาเป็น "ประตูสู่อาเซียน" นอกจากภาษาไทยแล้ว เขายังสอนภาษาเวียดนาม กัมพูชา ลาว อีกหลายภาษา สมัยก่อนการเรียนภาษาไทยก็เพื่อประโยชน์ทางด้านการเมืองและการทหารเป็นหลัก แต่เดี๋ยวนี้ เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนมีความสมบูรณ์ครบถ้วนในทุกด้าน ความต้องการคนที่รู้ภาษาไทยเพื่อการค้าการลงทุน การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การกีฬา การท่องเที่ยว ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้"

"คุณเสถียรหมายความว่า การสอนภาษาไทยในประเทศจีน จะแพร่หลายมากขึ้นอีกในอนาคต ตามความก้าวหน้าของความสัมพันธ์ไทย-จีนใช่ไหมคะ"

"ครับ แค่ 30 ปีที่ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน ก็มีสถาบันระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนภาษาไทยเพิ่มขึ้นมาอีกหลายแห่ง เช่น สถาบันชนชาติส่วนน้อยยูนนาน สถาบันภาษาต่างประเทศโล่หยาง มณฑลเหอหนาน มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศเซี่ยงไฮ้ ดูไปแล้ว เดี๋ยวนี้การเรียนการสอนภาษาไทยมีลักษณะกระจายไปทั่วประเทศแล้วครับ คนที่ตั้งใจเรียนภาษาไทยเพื่อเป็นอาชีพจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ "

"ดิฉันเห็นด้วยค่ะ สภาพก็คงไม่ต่างจากที่ภาษาจีนกำลังแพร่หลายเฟื่องฟูมากในประเทศไทยเหมือนกันนะคะ ทั้งคุณเสถียรและดิฉันเราต่างก็ยินดีที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ความสัมพันธ์ไทย-จีนยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ การผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ สามารถสื่อภาษากันได้ก็ยิ่งจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกัน เมื่อผลิตบุคลากรเช่นนี้ออกมามากเท่าไหร่ ก็จะไปช่วยสร้างคุณประโยชน์ให้กับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราทั้งสองให้พัฒนายิ่งขึ้นไปอีก จริงไหมคะ"

"ครับ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเราก็ดี สันติภาพในโลกก็ดี ผมคิดว่าคงต้องฝากไว้กับคนรุ่นใหม่ที่มีจิตใจดีงาม มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ช่วยกันสร้างขึ้นมาอย่างนี้แหละครับ"

"ดิฉันก็หวังเช่นนั้นค่ะ วันนี้เวลาสำหรับรายการของเราหมดลงอีกแล้ว ดิฉันและคุณเสถียรขอลาท่านผู้ฟังไปพร้อมกันเลยนะคะ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ"

"สวัสดีครับ"