สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟัง อีก 2-3 วันแล้วนะคะ วันที่ 1 กรกฎาคม ก็จะมาถึง ท่านผู้ฟังจำได้หรือเปล่าคะว่า วันที่ 1 กรกฏาคม สำคัญอย่างไรสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน
ดิฉันเชื่อว่า ท่านผู้ฟังส่วนใหญ่คงเดาถูกแล้วค่ะ 1 กรกฎาคม ปีนี้ เป็นวันที่ประเทศไทยกับประเทศจีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันครบรอบ 30 ปีพอดี สถานีวิทยุซีอาร์ไอภาคภาษาไทยของเรา เตรียมจัดรายการพิเศษเฉลิมฉลองวันที่มีความสำคัญต่อประเทศเราทั้งสองในโอกาสนี้ด้วยนะคะ จึงขอเชิญชวนท่านผู้ฟังเปิดรับฟังรายการพิเศษเพื่อร่วมเฉลิมฉลองไปกับเรา วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม รายการหลังภาคข่าวค่ะ
ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 30 ปี ปีนี้ รัฐบาลทั้งสองฝ่ายต่างก็ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ตามแผนที่กำหนดไว้คร่าว ๆ ทราบมาว่า ผู้นำทั้งสองฝ่ายจะไปเยี่ยมเยือนซึ่งกันและกัน โดยฝ่ายไทย คือนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร พร้อมคณะจะเป็นฝ่ายมาเยือนจีนก่อน ให้ตรงกับวันที่ 1 กรกฎาคมเลยนะคะ ส่วนทางฝ่ายจีนจะไปเยือนไทยต่อไปในโอกาสหน้าค่ะ
เท่าที่ดิฉันสืบทราบมา นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ของไทยที่มาเยือนปักกิ่ง จะได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าของจีน เพื่อแสดงความยินดีต่อกัน และแสดงความปรารถนาร่วมกันในการที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ของสองประเทศให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีก การเยี่ยมเยือนและพบปะเจรจากันของผู้นำทั้งสองฝ่าย คงมีผลให้เกิดข้อตกลงและความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนเราทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องติดตามข่าวคืบหน้ากันต่อไปค่ะ
ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและคณะเยือนกรุงปักกิ่ง เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีนครอบรอบ 30 ปีนั้น รัฐบาลไทยยังดำริจะจัดงาน "สัปดาห์ประเทศไทย" หรือ "Thailand Week" ขึ้นที่สวนสาธารณะเฉาหยัง เชิญชวนให้ชาวจีน ชาวไทย และชาวต่างประเทศในปักกิ่ง ไปลิ้มลองอาหารไทย จับจ่ายซื้อของ และชมการแสดงทางวัฒนธรรมต่าง ๆ เป็นที่สนุกสนานกันเต็มที่ทีเดียวค่ะ
พุธหน้าดิฉันจะเอาเรื่องราวเกี่ยวกับการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และบรรยากาศของวัน "Thailand WeeK" มารายงานให้ท่านผู้ฟังทราบเพิ่มเติมอีกนะคะ
พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ใคร ๆ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไทยกับจีนนับวันสนิทสนมกันมากขึ้นเป็นลำดับ ไม่เคยมียุคไหนที่สองประเทศไทย-จีน จะมีไมตรีจิตต่อกันอย่างแน่นแฟ้นมากเท่ากับยุคนี้
ศาสตราจารย์เฉิน เฟิงจวิน แห่งคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง วิเคราะห์ให้ฟังในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเปิดงานการประชุมเรื่องความสัมพันธ์ไทย-จีนครบรอบ 30 ปี ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีนในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เป็นความสัมพันธ์ที่พบเห็นได้ไม่มากนักในบรรดาความสัมพันธ์ที่จีนมีกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งศาสตราจารย์เฉิน เฟิงจวินสรุปลงว่า เป็นความสัมพันธ์ที่มีลักษณะ รอบด้าน หลากหลายระดับ และเป็นความสัมพันธ์ในขั้นสูง
ทั้งนี้ศาสตราจารย์เฉิน เฟิงจวิน ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-จีนมีลักษณะพิเศษเช่นนั้นว่า มีทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ และการเมือง กล่าวสำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจนั้น ทั้งไทยและจีนต่างคาดหวังว่า ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจะเอื้อให้เกิดผลดีในทางเศรษฐกิจติดตามมา กล่าวคือ ไทยจะเป็นประตูเปิดทางให้จีนเข้าสู่กลุ่มประเทศอาเซียน และสู่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดจีน ในทางกลับกัน การขยายตัวเติบใหญ่อย่างรวดเร็วของจีน ก็เป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยด้วย เพราะจีนเป็นตลาดที่กว้างใหญ่ มีต้นทุนด้านแรงงานต่ำ ขณะนี้ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 16 ของจีน การลงทุนระหว่างกันจากแหล่งทุนของทั้งสองประเทศ เพิ่มมากขึ้นในลักษณะที่เสริมส่งกัน และมีศักยภาพที่จะร่วมมือกันสูงมาก
ประการที่ 2 คือปัจจัยทางการเมือง ซึ่งศาสตราจารย์เฉิน เฟิงจวิน วิเคราะห์ว่า จีนและไทยต่างยึดมั่นหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน เอื้อประโยชน์ต่อกัน ให้ความเสมอภาคแก่กันและกัน เป็นหลักการพื้นฐานในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลักการดังกล่าว ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างปฏิบัติต่อกันด้วยท่าทีที่โอนอ่อนผ่อนปรน และเป็นมิตรกันมาตลอด อีกทั้งยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันในเวทีการเมืองระดับโลกอยู่เสมอ เช่น ไทยเป็นประเทศในหมู่สมาชิกอาเซียนที่ใกล้ชิดกับจีนมากที่สุด และสนับสนุนจีนให้เข้าไปมีส่วนร่วมในสมาคมอาเซี่ยนด้วยความจริงใจมากที่สุด แต่ในทางกลับกัน ความใกล้ชิดสนิทสนมที่ไทยมีต่อจีน ก็ช่วยทำให้ไทยมีความสำคัญขึ้นมาในหมู่สมาชิกอาเซียนด้วย
นั่นคือทัศนะของนักวิชาการจีนนะคะ ที่มองย้อนหลังไปดูความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับจีนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ส่วนอนาคตข้างหน้านั้นจะเป็นอย่างไร ดิฉันขอหยิบยกทัศนะของฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน นักการทูตสำคัญคนหนึ่งของไทยมาเป็นข้ออ้างอิง ฯพณฯ อานันท์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศจีนเมื่อ 30 ปีก่อน ท่านคาดการณ์ไปข้างหน้าเกี่ยวกับอนาคตความสัมพันธ์ไทยกับจีนว่า หากจะให้มองไปข้างหน้าในอนาคต เพื่อดูว่ามีอะไรบ้างที่จะเป็นปัจจัยทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนระหว่างไทยกับจีนได้รับความกระทบกระเทือนไปในทางลบบ้าง ท่านมองจนหมดแล้วก็พบว่า แทบไม่มีเลย ท่านจึงสรุปลงด้วยประโยคง่าย ๆ แต่น่าฟังว่า "สัมพันธภาพระหว่างไทยกับจีนมองแล้วสบายใจ"
ท่านผู้ฟังคะ วันนี้เราคุยกันแบบสบาย ๆ รับฟังทัศนะและข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนกันไปก่อนนะคะ ครั้งต่อ ๆ ไปดิฉันจะนำรายละเอียดที่สนุกและน่าตื่นเต้นกว่านี้มาเสนอค่ะ อย่าลืมติดตามรายการนี้กับดิฉัน วิภา อุตมฉันท์ ทุกวันพุธเวลาเดียวกันนี้ต่อไปอีกนะคะ สวัสดีค่ะ
|