สวัสดีค่ะ ขอต้อนรับท่านผู้ฟังเข้าสู่รายการ "ร้อยเรียงสัมพันธ์ไทย-จีน" กับอรพิน หยาง อีกเช่นเคยนะคะ เดือนธันวาคมนี้นับว่าเป็นเดือนที่มีวันหยุดมากทีเดียวที่ประเทศไทย หากท่านผู้ฟังมีโอกาส ลองหาเวลามาสัมผัสกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวจีนกันด้วยตนเองดูนะคะ แต่ละเมืองแต่ละสถานที่ในเมืองจีน ล้วนมีความหลากหลายในด้านสำเนียงภาษา ชีวิต ความเป็นอยู่ ประเพณี และวัฒนธรรม ตลอดจนประวัติศาสตร์ ความเป็นมาต่าง ๆ ดิฉันเชื่อว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน พัฒนายิ่งยิ่งขึ้นค่ะ
สำหรับวันนี้ ดิฉันนำบทเรียงความของคุณพัชรี มงคลวัย ผู้ฟังจากจังหวัดสกลนคร มาจัดเสนอค่ะ ลองฟังดูนะคะว่า คุณพัชรี จะมีมุมมองใดที่แตกต่าง ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยและชาวจีนบ้าง เชิญรับฟังค่ะ
"ความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างเป็นทางการ ดำเนินมาจนถึง 30 ปี บวกความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการก่อนหน้านั้นอีกเป็นร้อย ๆ ปี หากเปรียบเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่ติดต่อ คบหากันอย่างจริงจัง และจริงใจมานานเช่นนี้ ก็คงเป็นเพื่อนที่สนิทสนมรู้ใจกันเป็นอย่างยิ่ง มองย้อนกลับไป ในห้วงเวลาแห่งการเริ่มต้น ความสัมพันธ์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของพี่น้องประชาชนทั้งสองประเทศ มีหลายสิ่งหลายอย่างถูกหลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เช่น เครื่องชามสังคโลก ที่ช่างปั้นชาวจีนมาสอนคนไทยตั้งแต่ครั้งสุโขทัย ลวดลายจิตรกรรมไทยที่ไปปรากฏในประเทศจีนมากมาย หรือแม้แต่ดนตรีและเพลงไทย-จีน ที่ประยุกต์เข้ากันได้อย่างน่าฟัง เป็นต้น ความรู้สึกที่บังเกิดกับชาวจีนที่มาลงหลักปักฐานอยู่ในเมืองไทย หรือแม้แต่ชาวไทยที่ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองจีน รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีนที่เกิดในเมืองไทย ต่างก็มีความประทับใจในอัธยาศัยของกันและกัน และยังอดรู้สึกภาคภูมิใจในสายสัมพันธ์ที่ทั้งสองประเทศมีต่อกันไม่ได้
ในปี พ.ศ.2518 ซึ่งเป็นปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับจีน มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันน้อยมาก แต่เมื่อถึงปี พ.ศ.2547 มีการแลกเปลี่ยนกันมากถึง 200 กว่ารายการ ผู้นำระดับชั้นผู้ใหญ่ทางด้านวัฒนธรรมของหน่วยงานรัฐบาลได้มีการเยี่ยมเยือนกันบ่อยครั้ง ลู่ทางและขอบเขตการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมได้ขยายวงกว้างขึ้น ปัจจุบัน ศิลปวัฒนธรรมจีน อย่างเช่น กายกรรม นาฏศิลป์ หุ่นกระบอก อุปรากร-งิ้วท้องถิ่น ตลอดจนการวาดเขียนพู่กันจีน ศิลปหัตถกรรมของจีน เป็นที่รู้จักและนิยมชมชอบของประชาชนไทย โดยเฉพาะพระบรมสารีริกธาตุ ข้อนิ้วพระหัตถ์ พระเขี้ยวแก้ว ได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานชั่วคราวในไทย ได้รับการบูชานับถือจากบรรดาพุทธศาสนิกชนอย่างสมเกียรติและกว้างขวาง ขณะเดียวกัน คณะอุปรากร ละครโขน นาฏศิลป์พื้นเมือง ศิลปหัตถกรรมแบบไทย ก็ได้ไปแสดง และจัดนิทรรศการในจีน และก็ได้รับการต้อนรับและชมเชยจากประชาชนชาวจีนเช่นกัน ทำให้ชาวจีนเข้าใจวัฒนธรรมไทยมากขึ้น นอกจากนั้น เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและจีนยังได้พัฒนาความสัมพันธ์ไปอีกขั้น ด้วยการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านวัฒนธรรมไทย รวมทั้งลงนามบันทึกช่วยจำการสอนภาษาจีนในไทย การใช้สมุนไพรจีนและสมุนไพรไทยเพื่อรักษาโรค และรัฐบาลไทยยังได้ประกาศให้การแพทย์แผนโบราณของจีนเป็นการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด การที่ทั้งสองประเทศสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้อย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ ก็เพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยนั่นเอง
ในเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนที่ดำเนินมาครบรอบ 30 ปี ในปี 2548 นี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายขึ้นถึงจุดสูงสุด ในประวัติศาสตร์ ทั้งในระดับพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้นำรัฐบาล ทางภาครัฐ หรือภาคเอกชน แน่นอนว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดการทูตที่แนบแน่น ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้การค้าขาย การเดินทาง การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ความรู้ และเทคโนโลยี ระหว่างสองฝ่ายเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามในทางกลับกัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน จะพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ หากเศรษฐกิจจีนพัฒนาขึ้น และคนไทยหันมาศึกษาเรื่องจีนอย่างจริงจัง ทั้งสองด้านน่าจะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันและกันได้เป็นอย่างดี ความทรงจำของบุคคลในยุคบุกเบิกหลาย ๆ ท่านที่อยู่ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีต ที่ถูกถ่ายทอดออกสู่สาธารณะ เช่น ผู้ที่ได้รับฉายา เฮนรี่ คิสซิงเจอร์เมืองไทย คุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ นับเป็นการจุดประกายให้ข้าพเจ้าบังเกิดความอยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนมากยิ่งขึ้น หากมีโอกาสแล้ว ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะไปสร้างความประทับใจในความสัมพันธ์ไทยจีนด้วยตนเองสักครั้งหนึ่ง คงเป็นความภาคภูมิใจหนึ่งของข้าพเจ้าได้มิใช่น้อย"
ท่านผู้ฟังค่ะ การใช้สมุนไพรไทย และสมุนไพรจีน ในการรักษาโรค ก็กำลังเป็นที่นิยมกันมากขึ้นนะคะ นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรค นอกเหนือจากการแพทย์แผนตะวันตก
เนื่องจากวันนี้เรายังพอมีเวลา ดิฉันจะนำบทเรียงความบางส่วนในช่วงต้น ของคุณถวิล จำปานิล ผู้ฟังจากจังหวัดลำพูน มาอารัมภบทก่อน และจะนำเสนอต่อในวันพรุ่งนี้ ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน จากอดีต มาจนถึงปัจจุบันจากบทเรียงความของคุณถวิลจะมีความลึกซึ้งเพียงใด ขอเชิญรับฟังค่ะ
"จีนไทยมิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน ข้อความสั้น ๆ ที่กินใจนี้ นอกจากเป็นมธุรวาจาแล้ว ยังเป็นอมตวาจาอีกด้วย ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งของไทยได้กล่าวไว้ คือพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ
อันการค้าขายสิ่งของต่าง ๆ นี้นั้น ขอจารึกไว้ด้วยความจริงใจว่า ชาวจีนนั้นเป็นนักค้าขายที่เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด ชาวไทยเราในอดีตยังไม่เข้มแข็งนัก เมื่อดูแบบอย่างจากชาวจีนในไทยแล้ว ก็เกิดแนวความคิด ทำมาค้าขายจนปัจจุบันชาวไทยค้าขายเก่งมากขึ้นจนแยกไม่ออกว่า ใครคือคนไทย คนจีน ทั้งนี้เพราะสายสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติได้กลายมาเป็นทองแผ่นเดียวกัน มีลูกหลานออกมาประหนึ่งว่า เราคืออันหนึ่งอันเดียวกัน อันเป็นที่มาของคำว่า จีนไทยมิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน ดังมธุรวาจาและอมตวาจาที่ได้ตั้งไว้นั้น
จริง ๆ แล้ว เรามีความผูกพันทางสายเลือด และวัฒนธรรมระหว่างไทยจีน มีสัมพันธภาพอันลึกซึ้งมาเนิ่นนานนับพันปี
จาก ระฆัง 30 ปีมิตรภาพไทย-จีน กังวาน การค้า-ลงทุน ท่องเที่ยว มติชนรายวัน วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9973 ย้อนรอยสัมพันธ์ไทย-จีน กล่าวว่า
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนนั้น มีมานานหลายร้อยปีแล้ว ตามพงศาวดารจีนระบุว่า ไทยและจีน เริ่มติดต่อและสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างกันมานานแล้ว สมัยสุโขทัยเป็นราชธานีได้ส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนในช่วงปลายราชวงศ์ซ่ง ต้นราชวงศ์หยวนของจีนถึง 9 ครั้ง ระหว่างปี พ.ศ. 1835-1846 และกษัตริย์ราชวงศ์หยวนก็เคยส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย 3 ครั้ง และอาณาจักรสุโขทัยเคยเชิญช่างปั้นเครื่องลายครามชาวจีนมายังเมืองไทย เพื่อถ่ายทอดศิลปะการทำเครื่องลายคราม
สมัยกรุงศรีอยุธยาของไทย ตรงกับสมัยราชวงศ์หมิง เป็นยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนรุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์พงศาวดารบันทึกไว้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยแห่งกรุงศรีอยุธยาได้ส่งขุนนาง และทูตานุทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชวงศ์หมิงรวม 112 ครั้ง ขณะเดียวกัน ราชวงศ์ หมิง ส่งขุนนาง และทูตานุทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์ราชวงศ์อยุธยา 19 ครั้ง นอกจากนี้ ขันทีในราชวงศ์หมิง ชื่อว่า เจิ้งเหอ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรียังประเทศสยาม 2 ครั้ง ช่วยกระชับความสัมพันธ์ไทย-จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็มีการติดต่อไปมาหาสู่กับราชวงศ์ชิงของจีนอย่างแน่นแฟ้น สมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ส่งสินค้าไปขายยังประเทศจีน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 86% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด ส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย พ่อค้าที่ค้าขายในไทยส่วนใหญ่ ก็คือชาวจีน จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยมีจำนวนเกือบ 1 ล้านคน
สรุปความสัมพันธ์กับจีนในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นลักษณะความสัมพันธ์ยังเป็นเช่นเดิม คือ เป็นการค้าในระบบรัฐบรรณาการ ได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาจนขยายตัวมากขึ้น หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชส่งทูตไปเยือนจีน และทางราชสำนักจีนให้การยอมรับแล้ว ไทยก็ส่งทูตนำเครื่องบรรณาการไปถวายจักรพรรดิ์จีนรวมทั้งหมด 52 ครั้งในช่วงระยะเวลา 69 ปี คือระหว่างปี พ.ศ.2325-2394
เหตุผลที่ทำให้สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยส่งทูตไปยังจีนบ่อยครั้ง เพราะได้รับผลประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้าที่ทางการจีนมอบให้ ทำให้ค้าขายได้สะดวก และได้รับผลกำไรงดงาม ซึ่งนอกจากราชสำนักไทยกรมพระคลังสินค้าจะดำเนินการค้าขายกับจีนโดยตรงแล้ว บรรดาเชื้อพระวงศ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้าเอกชน ยังแต่งเรือสำเภาไปติดต่อค้าขายกับเมืองต่าง ๆ ของจีนอีกด้วย"
แหม น่าเสียดายนะคะที่เวลาเราหมดซะแล้ว กำลังสนุกทีเดียว แล้วพบกับบทเรียงความของคุณถวิล ต่อในวันพรุ่งนี้นะคะ สำหรับวันนี้ ลาไปก่อนค่ะ สวัสดีค่ะ
|