China Radio International
ข่าวภายใน
    ประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
 ข่าวการเมืองและ
 การต่างประเทศ
 ข่าวเศรษฐกิจ
 ข่าววัฒนธรรม

 ข่าววิทยาศาสตร์
  เทคโนโลยี่

 ข่าวกีฬา
 ข่าวอื่น
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2009
อ่านต่อ>>

จีนปัจจุบัน

เศรษฐกิจ

พาเที่ยวจีน

วัฒนธรรม

ชนชาติส่วนน้อย

การเมือง
(GMT+08:00) 2005-12-31 21:15:03    
ร้อยเรียงสัมพันธ์ไทย-จีน (19)

cri

สวัสดีค่ะ ขอต้อนรับท่านผู้ฟังเข้าสู่รายการ "ร้อยเรียงสัมพันธ์ไทย-จีน" กับอรพิน หยาง ประจำวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม วันสุดท้ายของปี 2005 และก็เป็นวันสุดท้ายของรายการเราแล้วนะคะ

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วดิฉันจบบทเรียงความของคุณถวิล จำปานิล จากจังหวัดลำพูน ไว้ในตอนที่ว่าประเทศจีนส่งมอบพระเขี้ยวแก้วให้แก่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวแต่เพียงประเทศเดียว

รายการในวันนี้เราจะมาติดตามเรื่องราวของพระเขี้ยวแก้ว และเนื้อหาอื่น ๆ ในบทเรียงความของคุณถวิลกันต่อค่ะ

"มีเพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่จีนอนุญาตให้ดำเนินการลักษณะนี้เป็นกรณีพิเศษ ด้วยเหตุผลที่ว่ามานั้น ซึ่งเรื่องนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญยิ่ง โดยได้จัดเครื่องบินเหมาลำพิเศษของกองทัพอากาศไปรับพระเขี้ยวแก้วจากประเทศจีนโดยตรง ในฝ่ายสงฆ์ ได้มีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธาน และฝ่ายรัฐบาล ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานไปรับมอบ และเดินทางมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2545 ในวันนั้น ได้มีคณะผู้แทนของฝ่ายจีนเดินทางมาเป็นจำนวนมาก โดยมีรัฐมนตรีว่าการทบวงกิจการศาสนา และมีพระสงฆ์ ที่มีนายกพุทธสมาคมเป็นประธาน นำชาวจีนอีกร่วม 100 คน มาส่งพระธาตุเขี้ยวแก้วในครั้งนี้ แล้วได้มีการจัดตั้งเป็นขบวนแห่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ เป็นขบวนรถบุปผชาติ ประดับตกแต่งอย่างสวยงามมาก ซึ่งแห่จากสนามบินดอนเมือง ไปจนถึงพุทธมณฑล โดยระหว่างทางมีพุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้ประนมมือสักการะ ตลอดทาง อันเป็นภาพที่งดงามยิ่งนัก

ในการนำพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐาน ณ พุทธมณฑลช่วงเวลา 15 ธันวาคม 2545 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 รวม 76 วันดังกล่าวมานั้น มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นสถานศึกษาวิชาการทางพระพุทธศาสนาชั้นสูง ก็ได้มีส่วนร่วม กล่าวคือได้จัดนิทรรศการทางวิชาการ และจัดให้มีการปาฐกถา พร้อมทั้งอภิปรายเกี่ยวกับพระเขี้ยวแก้ว ทั้งได้จัดให้มีการตีพิมพ์เอกสารเผยแพร่ นับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งในเชิงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มิติทางด้านพระพุทธศาสนาอีกด้วย

ด้วยความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนาระหว่างไทย-จีน ซึ่งเป็นแบบมิตรไมตรี ที่เพิ่มมากขึ้นโดยตลอดมานั้น ทำให้มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งจีนกับพุทธสมาคมจีนในนามรัฐบาลจีน จึงได้อาราธนา พระเทพโสภณ (ประยูร ธมมจิตโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และคณะไปเยือนประเทศจีน โดยมีหมายที่จะเชื่อมสัมพันธไมตรีทางด้านวิชาการทางพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ทั้งนี้ได้มีกำหนดที่จะไปประชุมสัมมนาทางวิชาการ และศึกษาดูงาน ณ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 21-26 มกราคม 2546 แต่ได้เลื่อนการเดินทางไป เนื่องด้วยเกิดโรคซาร์ส (SARS) เกิดขึ้นอย่างระบาดหนักในประเทศจีน ซึ่งมีการกระจายข่าวนี้ไปทั่วโลก แม้ว่าทางฝ่ายไทย โดยการนำของอธิการบดี มจร. จะไม่ได้ไปประชุมทางวิชาการที่ประเทศจีนตามที่ตกลงกันไว้ ทางจีนเองก็ได้มีมิตรไมตรีอันดียิ่งต่อมหาวิทยาลัย ด้วยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2546 ทบวงกิจการพระศาสนา และพุทธสมาคมจีนได้ส่งรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงกิจการพระศาสนา และคณะที่ประกอบด้วย พระสงฆ์ทิเบต พร้อมนักวิชาการฝ่ายจีน 30 กว่าท่าน เดินทางมาร่วมประชุม แลกเปลี่ยนทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาเถรวาท-มหายาน ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นมิติความสัมพันธ์ทางวิชาการที่แน่นแฟ้น เพราะเป็นการเปิดประตูไปสู่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในด้านอนาคตที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนาให้กว้างขวาง และลึกซึ้งอีกด้วย

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ (8 ธ.ค. 46) เมื่อมหาวิทยาลัยเทิดพระเกียรติ 150 ปี สมเด็จพระปิยมหาราช จัดงานขึ้น ณ บริเวณท้องสนามหลวง รัฐบาลจีน โดยทบวงกิจการพระศาสนา และพุทธสมาคมจีน ก็ได้ส่งนักแสดงวัฒนธรรมนาฏศิลป์ทิเบต จากประเทศจีน เดินทางมาแสดงให้ชมกลางแจ้ง ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยไม่เก็บค่าเข้าชมแต่ประการใด และจำนวนผู้มาแสดงนาฏศิลป์ชุดนี้มากกว่า 50 คน

จากเหตุการณ์ทั้งสองต่อเนื่องกันนี้ แสดงให้รู้ว่า ความเป็นมิตรไมตรีทางพุทธศาสนามีความสัมพันธ์สนิทสนมแน่นดังที่ไม่เคยปรากฏมีมาก่อน

นับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน เมื่อปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา ผู้นำทั้งสองประเทศได้เยี่ยมเยือนระหว่างกันหลายครั้ง ความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีของสองประเทศได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การทหาร การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม รวมทั้งพระพุทธศาสนา แม้จะเป็นเถรวาท และมหายานก็ยังได้มีการประชุมสัมมนาร่วมกัน ก็ทำให้ความสัมพันธ์ไมตรีของสองประเทศกระชับแนบแน่นยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

การที่ผู้นำไทยและจีนได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนกันอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือ และเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่าง 2 ประเทศให้เพิ่มพูนมากขึ้น ประเทศไทยและจีนกลายเป็นมิตรประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างกัน ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศได้รับการพัฒนาไปทุกด้าน ส่งผลให้เกิดความไว้วางใจ การอำนวยผลประโยชน์ และความร่วมมืออันดีระหว่างสองประเทศ สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน ได้กลายเป็นแบบอย่างความร่วมมือและไมตรีระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน

ถึงวันที่ครบ 30 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่ไทยจะได้โอกาสเชื่อมความสัมพันธ์ของสองแผ่นดิน ในทุกมิติ

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ นายกทักษิณ คุยกับประชาชน ขณะเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2548 เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีของความสัมพันธ์ไทยจีนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่าได้พูดคุยกับนาย เวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีหลายเรื่อง โดยเฉพาะจะยกระดับความสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า นอกจากการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แล้ว ยังจะให้มีแผนปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามที่มีการตกลงกันแต่ละสาขา ในทุกมิติ และให้มีเจ้าภาพรับผิดชอบที่ชัดเจน โดยกล่าวว่าแผนนี้จะจัดทำให้เสร็จก่อนที่นายเวิน เจีย เป่า จะเดินทางเยือนไทย ในเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้แผนดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การเมืองระหว่างประเทศ และความมั่นคง โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่ายรับผิดชอบการร่างแผน

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ท่านนายกทักษิณ ชินวัตร ได้ไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ กล่าวว่าเป็นน้า นับว่าน่าปลื้มใจแทนที่ท่านมีโอกาสได้ไปพบญาติ ซึ่งทางจีนช่วยเหลือจนได้พบกัน ก็เป็นมุมมองหนึ่ง ซึ่งท่านนายก ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว เป็นตัวนำ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติ เป็นการใช้การทูตแบบตะวันออกโดยแท้

เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2003 จีนได้ลงนามในข้อตกลงเลิกภาษีศุลกากรนำเข้าผัก และผลไม้กับประเทศไทยเป็นประเทศแรก ภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน

เหนือสิ่งอื่นใด ทุก ๆ ครั้งที่พระราชวงศ์ไทย ได้เสด็จเยือนจีน นับตั้งแต่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่พระองค์นำศิลปินไทยไปแสดง เป็นที่ประทับใจเป็นที่ยิ่ง พสกนิกรชาวไทยคอยเฝ้าชมพระบารมีทางโทรทัศน์ใจจดใจจ่อ ประทับใจที่ทางการจีนถวายการต้อนรับทุกขั้นตอนอย่างปลื้มปิติ

แม้แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จเยือนจีน และได้เสด็จไปพระราชทานสิ่งของคณะสงฆ์จีนวันต่าง ๆ เป็นที่น่าประทับใจสำหรับชาวพุทธโดยแท้

ยิ่งด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ซึ่งพระองค์ได้เสด็จเมืองจีนบ่อยที่สุด ประมาณ 20 ครั้งได้ เราชาวไทยได้แต่ชื่นชมในพระบารมี และพระปรีชาสามารถพิเศษที่ตรัสภาษาจีนได้ ทรงอักษรจีนได้เป็นอย่างดี สถานที่พระองค์เสด็จ ชาวไทยก็ได้รู้เห็นไปด้วย เป็นที่ประทับใจเป็นล้นพ้น

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทูลกระหม่อมหญิงองค์เล็ก ก็เสด็จบ่อยมาก ทุก ๆ ครั้ง ก็จะนั่งเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ บางครั้งพระองค์ทรงเป็น นักวิทยาศาสตร์ เป็นนักวิชาการ ที่โลกต้องรู้จัก บางคราวพระองค์จะเป็นศิลปินเอก ที่สามารถทรงดนตรีโบราณของจีน ได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง เป็นที่น่าทึ่ง น่าอัศจรรย์ ฝากความประทับใจในการเยือนจีนไว้จนแทบกล่าวได้ว่า ไม่ว่าเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม นำเข้ามาใกล้ชิด สมแล้วกับคำกล่าวที่ว่า จีน-ไทย มิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน"

ที่ท่านได้รับฟังจบลงคือ บทเรียงความเรื่องความประทับใจในสัมพันธ์ไทย-จีน ที่เรียบเรียงโดยคุณถวิล จำปานิล ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความประทับใจในสายสัมพันธ์สองแผ่นดินอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของความสัมพันธ์ในความร่วมมือทางพระพุทธศาสนาของทั้งสองประเทศ

ท่านผู้ฟังค่ะ "ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่มีวันเลิกลา" รายการร้อยเรียงสัมพันธ์ไทย-จีน ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่ปีนี้เป็นปีที่การเจริญสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน ครบรอบ 30 ปี ก็ได้ดำเนินมาถึงวันสุดท้ายแห่งปี ดิฉันต้องขอขอบคุณท่านผู้ฟังที่ได้ส่งบทเรียงความมาร่วมประกวด และที่สำคัญ ขอขอบคุณท่านผู้ฟังทุกท่านที่มาร่วมร้อยเรียงความสัมพันธ์ไทยจีนด้วยกันมาโดยตลอด

ดิฉันหวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองแผ่นดินจะพัฒนาสืบต่อไปตราบนานเท่านาน

ณ โอกาสนี้ ดิฉันอรพิน หยาง ขอปิดรายการร้อยเรียงสัมพันธ์ไทย-จีนแต่เพียงเท่านี้ ขอเชิญท่านผู้ฟังพบกับรายการใหม่ ๆ ของทางสถานีวิทยุซีอาร์ไอภาคภาษาไทยในปีใหม่ที่จะมาถึง สวัสดีปีใหม่ค่ะ