สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง พบกับจีนไทยใช่ใครอื่นและดิฉัน วิภา อุตมฉันท์อีกครั้งนะคะ ครั้งนี้ดิฉันจะชวนท่านผู้ฟังไปคุยกันเรื่องทหาร ๆ ค่ะ ฟังดูน่าตื่นเต้นไหมคะ ดิฉันเองยอมรับว่าค่อนข้างไกลจากเรื่องนี้ พูดง่าย ๆ คือไม่ค่อยสนใจ เพราะมักคิดว่าเรื่องทหารเป็นเรื่องของผู้ชาย เป็นเรื่องการรบพุ่งปราบปรามศัตรูอะไรทำนองนั้น ความคิดนี้เลยติดมาเวลามาทำรายการนำเสนอท่านผู้ฟังเรื่องจีนไทยใช่ใครอื่น ก็พลอยไม่คิดหรือคิดไม่ถึงเรื่องความสัมพันธ์ด้านการทหารระหว่างสองประเทศเราไปเสียสนิท
ท่านผู้ฟังก็คงจะสังเกตเห็นว่า พบกับรายการของดิฉันมากว่าครึ่งค่อนปีแล้ว ความสัมพันธ์ไทยจีนด้านอื่น ๆ ไม่ว่าการศึกษา วัฒนธรรม ภาษา ประเพณี อาหารการกิน การค้าการขาย เราก็คุยกันไปมาก เว้นก็แต่เรื่องความมั่นคงและการทหารนี่แหละค่ะที่ดิฉันคิดไม่คิด วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ผ่านมา ท่านทูตกรุณาแนะนำให้รู้จักกับนายทหารหลายท่าน อีกไม่กี่วันต่อมา ดิฉันก็โทรนัดนายทหารเหล่านั้น เพื่อขอไปเอาความรู้จากท่านเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางด้านการทหารระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนค่ะ
กองทัพไทยทั้งสามเหล่าทัพ คือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ แต่ละฝ่ายต่างก็ส่งนายทหารของตนมาเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอยู่ที่นี่นะคะ กองทัพบกคือพันเอกสิริพจน์ รำไพกุล กองทัพเรือคือนาวาเอก รณัชย์ เทพวัลย์ กองทัพอากาศคือ นาวาอากาศเอก นภาเดช ธูปะเตมีย์ค่ะ ในวันที่ดิฉันขอนัดสัมภาษณ์ ทั้งสามท่านก็กรุณามาให้พบโดยพร้อมเพรียงคะ
เราใช้เวลาในช่วงต้นคุยกันถึงสถานการณ์ในยุคก่อน ที่สองประเทศไทย-จีนมีระบอบการปกครองแตกต่างกัน อุดมการณ์ที่แตกต่างกันได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรต่อกัน นึกไม่ถึงว่าสถานการณ์จะพลิกผันจนมาเป็นเหมือนสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
"เมื่อปี 18 รัฐบาลก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของประเทศจีนว่า ในอนาคตอันไม่ไกลนี้ ประเทศจีนจะต้องกลายเป็นประเทศมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งเราจะต้องมีไมตรีที่ดีต่อกัน เพราะฉะนั้น เมื่อความคิดเป็นไปเช่นนั้น ก็ได้ปรับแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาล พร้อม ๆ กับการทหารก็ได้ปรับไปด้วย เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดีในวันนี้"
"เรามีผู้นำการทหารอยู่หลายท่านที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีทางการทหารกับจีน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้นำการทหารบก อย่างที่เราทราบ ๆ กัน เช่น ท่านพลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ พวกเราเด็กเกินไปที่จะรู้รายละเอียดและการเจรจาต่อรองในการพบปะพูดคุย แต่เราเชื่อว่า ท่านมีส่วนผลักดันในการสร้างความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดความยืนยาวมาถึงทุกวันนี้"
"แล้วท่านพลเอกเกรียงศักดิ์ละค่ะ "
"ผมก็เชื่อว่า ท่านก็เป็นอีกท่านหนึ่งเหมือนกัน แต่เราก็ไม่ทราบรายละเอียด"
ค่ะ พูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อประเทศไทยกับประเทศจีนเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันในปี 2518 อีกทั้งนายทหารของไทยในขณะนั้นก็มีบทบาทช่วยผลักดัน จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางด้านการทหารที่ดีต่อกันก็เริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้น
ดิฉันเรียนถามว่า เมื่อเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่ดีในยุคใหม่แล้ว ทางด้านการทหารทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกัน หรือให้ความช่วยเหลืออะไรต่อกันบ้าง
พันเอกสิริพจน์ รำไพกุล ในฐานะทูตทหารของไทยประจำประเทศจีน เล่าให้ฟังว่า
"ในส่วนของกลาโหม เมื่อเรามองจีน กลาโหมให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่าไทยกับจีนมาก การที่เรามีสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารนั้น เรามีหลายประเทศ แต่ละประเทศก็อาจจะเพียง 1 คน จากเหล่าทหารบก ก็ทำหน้าที่ดุแลไปในทุกส่วนเลย หรืออาจจะมี 2 คน แต่ที่ประเทศจีน เรามีผู้ช่วยฝ่ายทหารคาบทุกเหล่าทัพ ซึ่งมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่กองทัพไทยให้ความสำคัญสูงสุดขนาดนี้ก็คือ ประเทศจีน ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศออสเตรเลีย แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์และความมุ่งหวังทั้งหลาย ในส่วนของสำนักงานผู้ช่วยทหารฝ่ายทหารอากาศ เรามีกำลังพล 2 คน เป็นนายทหารสัญญาบัตร ทำหน้าที่ผู้ช่วยทหารฝ่ายทหารอากาศหนึ่งคน แล้วก็มีนายทหารชั้นประทวน ทำหน้าที่เป็นเสมียนทูต ซึ่งโดยมากจะเป็นทำงานในด้านธุรการ สำหรับภารกิจและหน้าที่ของผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ ก็คล้ายคลึงกับทางทหารบกและทหารเรือ ที่สำคัญมีอยู่ 6 ประการ"
หลังจากนั้นพันเอกสิริพจน์ รำไพกุล ก็เล่าให้ฟังถึงหน้าที่สำคัญ 6 ประการของผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารทั้ง 3 เหล่าทัพที่ประจำในประเทศจีนให้ฟัง แต่เวลาของเราในวันนี้คงจะไม่พอ เราจะไปฟังท่านพูดถึงหน้าที่ทั้ง 6 ประการนี้ในครั้งหน้า
สรุปความจากความรู้ที่ได้จากผู้ช่วยทูตทหารไทยก็คือว่า กลาโหมไทยให้ความสำคัญกับประเทศจีนมาก ส่งทูตทหารมาอยู่ครบทั้ง 3 เหล่าทัพ ซึ่งมีอยู่เพียง 3 ประเทศที่มีครบทั้ง 3 เหล่าทัพ คือ จีน อเมริกา และออสเตรเลียเท่านั้นค่ะ
ครั้งหน้าอย่าลืมติดตามการสนทนากับผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารของไทยทั้ง 3 ท่านต่อนะคะ ครั้งนี้ดิฉันขอลาไปก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ
|