สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง อาทิตย์นี้เราตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะไปตามเรื่องความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนกันต่อ เรากำลังคุยกับผู้การ 3 ท่านของกองทัพไทย 3 เหล่าทัพ คือพันเอก สิริพจน์ รำไพกุล นาวาเอก รณัชย์ เทพวัลย์ และนาวาอากาศเอก นภาเดช ธูปะเตมีย์ อยู่นะคะ
อาทิตย์ที่แล้ว พันเอกสิริพจน์ รำไพกุลพูดค้างไว้ว่า ภาระหน้าที่สำคัญของสำสักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารในประเทศจีนมี 6 ประการ เราไปพังด้วยกันนะคะว่าคืออะไรบ้าง
"ประการแรกเลยก็คือ ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของกองทัพอากาศในจีน คำว่าผลประโยชน์นี้สามารถยกตัวอย่างได้ว่า ในกรณีที่เราจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์จากกองทัพจีน เราก็ต้องทำหน้าที่เป็นสะพานเป็นผู้สาน ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนให้การดำเนินการต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ในส่วนของกองทัพอากาศ ปัจจุบัน เราไม่มีการซื้ออาวุธจากจีน แต่ในอดีตเรามี เราเคยซื้ออาวุธปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มม. ซึ่งถือเป็นอาวุธที่ดี มีประสิทธิภาพ และปัจจุบันเราก็ยังคงใช้อยู่
"แล้วเดี๋ยวนี้ทำไมเราไม่ซื้อต่อ"
"หน้าที่กองทัพอากาศ และอาวุธของกองทัพอากาศ ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องบินกับอาวุธต่อต้านเครื่องบิน ระบบที่เราใช้มาตั้งแต่แรกเริ่มนั้น เป็นระบบของอเมริกัน และอาวุธของกองทัพอากาศนั้นจะมีราคาสูงมาก การที่เราจะปรับเปลี่ยนระบบการใช้นี่เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก และต้องใช้วิธีการที่ค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น ผมเชื่อมั่นว่าในอนาคต คงจะมีการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนมากขึ้น"
"ราคาถูกกว่ามากไหมคะ"
"ขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของอาวุธนั้น ๆ ในกรณีที่เป็นเครื่องบินรบของอเมริกา ก็จะมีราคาสูง ของจีนก็จะมีราคาต่ำกว่า ส่วนในด้านกระสุนนั้น ก็จะมีราคาใกล้เคียงกัน"
"ภาระหน้าที่อันที่สองก็คือ เราต้องให้การดูแลข้าราชการของกองทัพที่มาศึกษาที่เมืองจีน อย่างที่เกริ่นไว้แล้วว่า เรามีที่นั่งการศึกษาในจีน ปัจจุบัน กองทัพอากาศเราได้ที่นั่ง 3 ที่นั่ง แบ่งเป็นสามหลักสูตร หลักสูตรที่หนึ่งก็คือ วปอ.จีนใกล้ๆ กับของไทยเรา หลักสูตรที่สองคือ หลักสูตรเสนาธิการกิจ ก็คือหลักสูตเสฯ หลักสูตรที่สามคือ หลักสูตรภาษา ปัจจุบันนี้เรามีอยู่ 3 คน
"ภารกิจอันที่สามก็คือ การที่เราจะส่งข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ ที่เป็นประโยชน์ต่อกองทัพไทย กลับไปให้ทางกองทัพไทยทราบ ไม่ใช่ด้านความลับ แต่เช่นการแสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสิ่งต่าง ๆ ที่น่าสนใจ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อความสำคัญ"
"ตรงนี้เราจะผ่านเครือข่ายอะไรหรือเปล่าคะ"
"ไม่มี เราส่งได้เลย ข่าวส่วนใหญ่จะเป็นด้านนี้ ซึ่งเราได้พิจารณาแล้วว่าไม่กระทบกระเทือนต่อภาพรวมความสัมพันธ์ ต่อไปพวกเราก็มีหน้าที่ในการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพ สิ่งนี้เราจะมีตัวชี้วัดและการกระทำที่เป็นรูปธรรมก็คือ เราเป็นตัวเชื่อให้กับการแลกเปลี่ยนของผู้บังคับบัญชาระดับสูง เป็นผู้ช่วยเหลือให้คำแนะนำว่า การเยือนนั้นควรจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดจึงจะมีความเหมาะสม นอกจากนั้น เรายังมีโครงการซึ่งเรียกว่า "โครงการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างนายทหารสัญญาบัตร" ของกทัพอากาศทั้งสอง ในแต่ละปี เราจะมีนายทหารอากาศ 6 คน เดินทางมาเยือนจีน ทางจีนจะให้การต้อนรับและพาไปชมสถานที่ที่น่าสนใจทั้งทางด้านการทหารและทางพลเรือน ในขณะเดียวกันก็จะมีนายทหารจากกองทัพอากาศจีน 6 คน เดินทางไปเยือนเมืองไทย ซึ่งกองทัพอากาศไทยก็ให้การต้อนรับเช่นเดียวกัน ประมาณ 7-8 วัน"
"หน้าที่อีกอันหนึ่ง ที่จะต้องกล่าวคือ ให้การช่วยเหลือทางสถานเอกอัครราชทูตอย่างเต็มความสามารถ เราก็ทราบดีแล้วว่างานของสถานเอกอัครราชทูตมีความเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ไทยจีนอยู่แล้วในตัวของมันเอง ดังนั้น การที่เราช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่า เรามีส่วนร่วมในการอำนวยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น"
"สุดท้ายคือการปฏิบัติหน้าที่เป็นราชองครักษ์ในกรณีที่มีการเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีน เราก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว นอกจากเป็นองครักษ์แล้ว ยังทำหน้าที่ในการติดต่อประสานกับหน่วยงานที่สืบเนื่องเกี่ยวกับการดูแลเหล่านี้ ทำให้เกิดความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีกับจีน"
"แล้วผู้นำระดับประเทศ เราเกี่ยวด้วยไหมคะ"
"ถ้าหากมีคำข้อจากสถานเอกออัครราชทูต เราก็ปฏิบัติเต็มที่ แต่โดยปกติเราจะไม่เกี่ยว โดยปกติเราจะทำหน้าที่เฉพาะพระบรมวงศานุวศ์เท่านั้น"
ขอบคุณมากค่ะ ผู้การสิริพจน์ ที่ให้ความรู้กับเรา ทำให้เราทราบถึงภาระหน้าที่อันสำคัญของผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารที่ประจำอยู่ตามสถานทูตของประเทศต่าง ๆ นะคะ จะเห็นได้ว่า ทูตทหารท่านเกี่ยวข้องกับงานสำคัญทั้งทางด้านความมั่นคงของประเทศ คือทางด้านการทหาร การกระชับความสัมพันธ์กับประเทศไทย และยังเป็นราชองครักษ์ทุกครั้งที่มีการเสด็จเยือนต่างประเทศนะคะ
ยังไม่จบค่ะ ท่านผู้ฟัง เรายังไม่ได้คุยกับท่านผู้การทางฝ่ายเหล่าทัพอากาศ และทัพเรือนะคะ ครั้งหน้าพบกันแน่ค่ะ ครั้งนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีนะคะ
|