China Radio International
ข่าวภายใน
    ประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
 ข่าวการเมืองและ
 การต่างประเทศ
 ข่าวเศรษฐกิจ
 ข่าววัฒนธรรม

 ข่าววิทยาศาสตร์
  เทคโนโลยี่

 ข่าวกีฬา
 ข่าวอื่น
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2009
อ่านต่อ>>

จีนปัจจุบัน

เศรษฐกิจ

พาเที่ยวจีน

วัฒนธรรม

ชนชาติส่วนน้อย

การเมือง
(GMT+08:00) 2006-07-24 14:51:05    
รถประจำทาง

cri

    

สวัสดีค่ะท่านผู้ฟังที่เคารพ ดิฉันจำได้ว่า ตอนมาถึงปักกิ่งใหม่ ๆ อยากจะขึ้นรถเมล์ไปโน่นนี่ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง เพราะยังไม่ค่อยรู้ระบบรถประจำทางของที่นี่ แล้วตอนนั้น ภาษาจีนก็งูงูปลาปลามากเลยค่ะ ก็เลยได้แต่ใช้บริการรถไฟใต้ดิน หรือแท็กซี่ซะส่วนใหญ่

แต่วันนี้ไม่เหมือนกันแล้วค่ะ ดิฉันได้นั่งรถเมล์ไปทั้งทางเหนือ ใต้ ออก ตก ของปักกิ่ง ทะลุทลวงหมดแล้วค่ะ วันนี้ดิฉันเลยตั้งใจเอาประสบการณ์การนั่งรถเมล์ของดิฉันมาเล่าให้ฟังค่ะ

หลายคนถามดิฉันว่า เมื่อไหร่จะซื้อรถซะที ดิฉันว่า อยู่ที่นี่ ไม่ต้องมีรถส่วนตัว จะดีกว่าค่ะ เพราะที่นี่ ขับยาก คนข้ามก็เยอะ รถเข็น จักรยาน ก็เยอะ แถมเข้าออกเลนส์แต่ละที ก็ต้องใจกล้าถึงจะได้ไป แล้วก็ต้องมีสติดี ๆ ไม่ตื่นตระหนกกับเสียงแตรที่ดังกระหึ่มบนท้องถนน นอกจากนี้ ยังต้องเสียค่าจอดรถในหมู่บ้านของตัวเองเป็นรายเดือนอีก ที่จอดรถตามที่ต่าง ๆ ก็ยังไม่ค่อยมี ท่านผู้ฟังคงทราบแล้วนะคะ ว่าทำไมดิฉันเลือกที่จะเดินทางโดยรถประจำทาง

ดิฉันรู้สึกว่า การใช้บริการรถประจำทางที่นี่ดีกว่าบ้านเราค่ะ แล้วก็ค่อนข้างปลอดภัยอีกด้วยนะคะ ไม่มีการห้อยโหนจนรถเอียงไปข้างหนึ่ง รถที่นี่ ต้องปิดประตูทุกคันเวลารถวิ่ง แล้วก็จอดตามป้ายเท่านั้น ไม่มีการขึ้นลงไม่เป็นที่ ยกเว้นรถเล็ก ซึ่งเราจะไม่พูดถึงกันในวันนี้ค่ะ

สายรถที่นี่มีเยอะมาก ๆ เลยค่ะ เรียกว่า ไปได้ทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ชานเมืองไกล ๆ หรือหมู่บ้านเล็ก ๆ ก็มีรถประจำทางผ่าน คนต่างถิ่น หรือคนต่างชาติอย่างดิฉัน จะใช้บริการของรถประจำทางที่นี่ ก็สบายมากค่ะ เพียงแต่รู้ว่าป้ายที่ต้องการจะไปเรียกว่าป้ายอะไรก็ใช้ได้

     

ป้ายรถเมล์แต่ละป้ายจะมีชื่อป้ายค่ะ อย่างเช่น ป้ายกู้กง หรือพระราชวังโบราณ ป้ายเทียนอันเหมิน ป้ายพระราชวังฤดูร้อน ป้ายสวนสาธารณะต่าง ๆ ตลอดจน ป้ายที่จะไปต่อรถไฟใต้ดินได้ แล้วก็ยังมีป้ายที่เป็นชื่อถนน อย่าง ป้ายเสวียหย้วนลู่ หรือป้ายถนนเสวียหย้วน หรือจะเป็นป้ายชิงหวาตงเหมิน หรือป้ายประตูตะวันออกของมหาวิทยาลัยชิงหวา ป้ายจงกวนชุน ย่านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังของที่นี่ เห็นไหมคะว่าสะดวกขนาดไหน ถ้าเราจะไปไหน ก็หารถที่ไปจอดป้ายที่เราต้องการ ง่ายมากค่ะ แล้วถ้าไม่รู้ว่านั่งรถสายอะไรไปถึง ก็ดูที่ป้ายรถได้ค่ะ จะมีป้ายของสายรถที่จอดที่ป้ายนั้น สายหนึ่งก็มีหนึ่งป้าย บอกรายละเอียดชัดเจนมากค่ะ ทั้งป้ายทั้งหมดที่สายนั้นจอด เวลาของรถคันแรกและเวลารถหมด เสียอย่างเดียวค่ะ ที่มีเฉพาะภาษาจีน ต้องรู้ตัวอักษรจีนของป้ายที่เราต้องการไป ถึงจะอ่านป้ายของรถประจำทางแต่ละสายออก

สมมุติว่า เราพอจะทราบชื่อป้ายที่เราต้องการจะไป แล้วก็เบอร์รถที่ต้องนั่งแล้ว เราก็สบายแล้วค่ะ แต่มีเคล็ดลับอีกนิดหนึ่งค่ะ ที่พี่คนไทยคนหนึ่งเคยแนะนำดิฉันตอนมาใหม่ ๆ ก็คือ ให้เราจำชื่อป้ายหนึ่งป้ายก่อนถึงป้ายที่เราจะลงไว้ด้วย จะได้เตรียมตัวลงได้ทันเวลา ไม่ฉุกละหุก หรือนั่งเลยป้าย เพราะบนรถเมล์ จะมีกระเป๋ารถ หรือว่าเทปบันทึกเสียง ประกาศป้ายต่อไปเหมือนกับรถไฟใต้ดินเลยค่ะ เราก็จะได้เตรียมตัวลงรถได้ทัน

นั่นก็เป็นเสียงประกาศป้ายที่ดิฉันว่าค่ะ แปลง่าย ๆ ก็คือ ป้ายต่อไปเป็นป้ายอะไร กรุณาเตรียมตัวลงรถ ผู้โดยสารที่ใช้บัตร กรุณาอย่าลืมรูดบัตร ส่วนผู้โดยสารที่มีตั๋ว อย่าลืมยื่นตั๋วให้ดูด้วยค่ะ ประมาณนี้ค่ะ บางคันที่เป็นเสียงบันทึกเสียง ก็จะละเอียดเพิ่มไปอีกว่า เวลาลงรถ กรุณาระมัดระวัง ดูรถบนถนนด้วย หรือไม่ก็ไม่ให้เดินตัดหน้ารถประจำทาง ให้ข้ามถนนบนทางข้าม หรือไม่ก็เป็นเสียงแจ้งคนที่อยู่นอกรถ โดยเฉพาะคนขี่จักรยานว่า รถกำลังจะจอดป้าย ให้ระวังด้วย อะไรแบบนี้เป็นต้น เป็นระบบที่น่าสนใจนะคะ เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมอันดีงามให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีวินัยในการใช้ถนน

ตอนนี้มาพูดถึงเรื่องขึ้นลงรถกันบ้างค่ะ รถเมล์ที่นี่ มีหลายแบบหลายประเภทค่ะ ทั้งรถเล็ก รถใหญ่ รถชั้นเดียว รถสองชั้น รถ 1 ประตู 2 ประตู หรือว่า 3 ประตู รถแอร์ รถธรรมดา รถระยะทางสั้น ระยะทางยาว รถที่ใช้น้ำมัน รถที่ใช้แก๊สธรรมชาติ หรือว่ารถที่ต่อกับสายเคเบิ้ลไฟฟ้าแบบรถรางสมัยก่อน ก็มีให้เห็นค่ะ แต่นี่เป็นรถเมล์แบบวิ่งตามสายเคเบิ้ลไฟฟ้า หลายรูปแบบจริง ๆ เลยนะคะ แต่ไม่ว่าจะเป็นรถแบบไหน ก็มีระบบขึ้นลงง่าย ๆ โดยดูที่ประตูรถค่ะ เพิ่งเร็ว ๆ นี้เองนะคะ ที่ชาวปักกิ่ง เริ่มต้องขึ้นลงรถเมล์เป็นระบบมากขึ้น เมื่อก่อนก็ยังขึ้นลงตามสะดวก เดี๋ยวนี้ ถ้าเป็นรถ 2 ประตู ต้องขึ้นประตูหน้า ลงประตูหลัง ถ้าเป็นรถ 3 ประตู ต้องขึ้นประตูกลาง ลงประตูหน้าสุดและหลังสุด ไม่ยากใช่ไหมคะ หรือถ้าจำไม่ได้ ก็สังเกตที่ประตูค่ะ จะมีป้ายสีเขียวมีตัวอักษรสีขาวเขียนว่าขึ้นหรือลง ติดอยู่ข้าง ๆ ประตู ตอนนี้เราก็สามารถขึ้นไปบนรถเมล์ได้อย่างสบายแล้ว ใช่ไหมคะ

แน่นอนค่ะ ขึ้นรถแล้ว สิ่งที่ลืมไม่ได้และไม่ควรลืมก็คือการเสียค่ารถค่ะ ที่นี่ มีวิธีจ่ายเงินหลัก ๆ อยู่ 3 แบบค่ะ แบบแรกที่เพิ่งเริ่มใช้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง ก็คือการใช้บัตรเติมเงินค่ะ เป็นบัตรไอซี ที่เติมเงินเอาไว้ล่วงหน้า เวลาเราขึ้นรถ เราก็เอาบัตรไปรูดกับเครื่องรูดบัตรบนรถเมล์ ก็ใช้ได้ค่ะ ไม่ต้องเตรียมเงินสด แถมยังมีส่วนลดให้อีก 20% สำหรับรถประจำทางบางสายด้วย เรื่องบัตรนี้ก็มีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยนะคะ ถ้ามีเวลาดิฉันจะเล่าให้ฟังเพิ่มเติมในตอนท้ายละกันค่ะ ใครที่ใช้บัตรรูด ก็จะไม่มีตั๋วให้ค่ะ ยกเว้นถ้าต้องการตั๋วไปเบิกค่ารถ ค่อยไปขอจากกระเป๋ารถได้

แต่ถ้าท่านผู้ฟังเป็นนักท่องเที่ยว หรือไม่ค่อยได้ใช้บริการรถเมล์มากนัก ก็ซื้อตั๋วกับกระเป๋ารถค่ะ ถ้าเป็นรถที่ราคาเดียวตลอดสาย ก็ง่ายหน่อยค่ะ พูดชื่อป้ายไม่เป็นก็ไม่เป็นไร ยื่นหนึ่งหยวนให้ กระเป๋าก็จะฉีกตั๋วให้ แต่ถ้าเป็นรถที่คิดตามระยะทางซิคะ ต้องฝึกพูดชื่อป้ายที่เราจะลงให้คล่องก่อนค่ะ แล้วบอกกับกระเป๋ารถ เขาก็จะบอกราคาให้เราทราบ ต้องฟังให้ทันนะคะ เพราะเขาอาจจะพูดเร็วมากว่า (เหลี่ยงไคว่อี๋เหว่ย) ฟังทันไหมคะ ฟังอีกทีนะคะ (...) ใช่แล้วค่ะ คนละ 2 หยวนค่ะ ถ้าฟังไม่ทันมีอีกวิธีหนึ่งค่ะ ยื่นให้เขาไปเลย 10 หยวน แล้วรอเงินทอนค่ะ หรือถ้าขึ้นหลายคน แล้วไม่พอก็ยื่นกระเป๋าตังค์ให้เขาหยิบเองเลย พูดเล่นนะคะ ดิฉันว่าเราจะมีวิธีสื่อสารที่ดีกว่านั้นอยู่แล้วค่ะ พูดเรื่องกระเป๋ารถที่นี่ ดิฉันมีเรื่องเล่าเยอะค่ะ เอาไว้มีโอกาส ดิฉันจะเอามาเล่าให้ฟังอีกทีนะคะ

ทีนี้มาดูวิธีจ่ายเงินแบบสุดท้ายค่ะ ก็คือใช้เงินสดเหมือนกัน แต่ว่าต้องเตรียมเงินไว้พอดีค่ะ 1 หยวน เพราะต้องหยอดลงในตู้ข้าง ๆ คนขับ ไม่มีการทอนให้นะคะ วิธีนี้ ใช้กับรถเมล์ที่ไม่มีกระเป๋ารถ มีแต่คนขับ ทำหน้าที่ทั้งสองอย่าง ทั้งขับและเก็บเงิน ในเมืองอื่น ๆ ในจีนใช้รถแบบนี้เยอะค่ะ เรียกว่า รถเมล์แทบทุกคันก็ว่าได้ ที่ถ้าเราไม่มีบัตร ต้องเตรียมเงินให้พอดีก่อนขึ้นรถ อย่างที่ดิฉันเคยไปขึ้นรถเมล์ที่นานกิง หางโจว หรือเซี่ยงไฮ้ ก็ต้องเตรียมเงินให้พอดีก่อนขึ้นรถ เห็นมีที่ปักกิ่งนี่แหละค่ะ ที่ยังมีกระเป๋ารถเมล์ไว้คอยให้บริการผู้โดยสารอยู่หลายสาย แบบที่จ่ายกับคนขับ มีไม่เยอะ เท่าที่เห็นจะเป็นรถแบบสายเคเบิ้ลไฟฟ้า ที่จ่ายกับคนขับโดยตรง 1 หยวนตลอดสาย

ไหน ๆ ก็พูดเรื่องตีตั๋วรถเมล์แล้ว ดิฉันขอเล่าอีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉันก็เพิ่งทราบตอนได้มีโอกาสขึ้นรถเมล์ที่นี่ค่ะ ไม่รู้ว่าที่เมืองไทยเรามีหรือเปล่านะคะ คืออย่างที่ดิฉันบอกในตอนต้น อยู่ที่นี่ จะไปไหน ก็มีรถเมล์ไปถึงได้หมด รวมถึงสถานีรถไฟหรือว่าชานเมืองไกล ๆ เวลาคนเดินทางไกล ๆ ก็มักจะมีกระเป๋าเดินทางใบโต ขึ้นรถมาด้วยใช่ไหมคะ ถ้าใครหอบกระเป๋าขึ้นมาบนรถประจำทาง ก็ต้องตีตั๋วให้กระเป๋าด้วยค่ะ กระเป๋าหนึ่งใบต้องตีตั๋วหนึ่งใบ ถ้าคน 1 คนหิ้วกระเป๋าขึ้นมา 1 ใบ ถ้าค่าตั๋วของคนนั้น คิดตามระยะทางต้องเสีย 3 หยวน เขาก็จะต้องตีตั๋วทั้งหมด 6 หยวนค่ะ ที่เมืองไทยเรามีแบบนี้ไหมคะ แต่ถ้ารถไม่แน่นมาก แล้วเจอคนเก็บตั๋วใจดี ก็ไม่ต้องตีตั๋วให้กระเป๋าค่ะ

ท่านผู้ฟังคะ เวลาเราใกล้จะหมดแล้วค่ะ ดิฉันขอเล่าเรื่องบัตรรถเมล์อีกนิดละกันนะคะ บัตรแบบที่ดิฉันใช้อยู่หาซื้อได้ตามป้ายรถเมล์ป้ายใหญ่ ๆ หรือป้ายรถไฟใต้ดินบางป้าย มีค่ามัดจำบัตร 20 หยวน แล้วก็เติมเงินได้ตามต้องการ ไม่มีจำกัดระยะเวลาการใช้ ส่วนบัตรอีกแบบเป็นบัตรเดือนที่นับเป็นครั้งสำหรับขึ้นรถเมล์เฉพาะสายที่กำหนด ใช้ได้ 140 ครั้งต่อเดือน แต่ถ้าต้องการใช้บัตรกับรถเมล์อื่น ๆ ก็เติมเงินได้ด้วย แล้วก็ใช้เหมือนบัตรเติมเงินแบบที่ดิฉันใช้อยู่ค่ะ งงไหมคะ คือเป็นบัตรที่ใช้ได้ 2 แบบ ทั้งตัดจำนวนครั้งแล้วก็ตัดเงิน แล้วแต่ว่าจะขึ้นรถแบบไหน ถ้าท่านผู้ฟังที่ต้องการมาใช้บริการรถประจำทางหรือรถไฟใต้ดินที่ปักกิ่งบ่อย ๆ ดิฉันแนะนำให้ซื้อบัตรก็ดีค่ะ เพราะไม่ต้องเตรียมเงินสด หรือเสียเวลาซื้อตั๋ว มีบัตรเดียว ก็เดินทางได้ทั่วทั้งปักกิ่ง

ดิฉันเชื่อว่า ท่านผู้ฟังจะมีความมั่นใจในการใช้บริการรถประจำทางที่นี่บ้างแล้วนะคะ อ๋อ...แล้วเวลาลงรถ อย่าลืมลงประตูให้ถูก แล้วถ้ามีการขอดูตั๋ว ก็อย่าลืมเก็บตั๋วไว้ด้วยนะคะ สำหรับคนที่มีบัตร ก็อย่าลืมรูดบัตรนะคะ ไม่งั้นอาจจะต้องฟังเสียงบ่นเป็นชุดของกระเป๋ารถเมล์ที่เราฟังไม่รู้เรื่องก็ได้ วันนี้ ดิฉันขอลาไปขึ้นรถเมล์กลับบ้านก่อนค่ะ ถ้ามีโอกาส จะเก็บเรื่องราวสนุก ๆ บนรถเมล์มาคุยกันอีกนะคะ อรพิน เศรษฐภาคย์ สวัสดีค่ะ