สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง วันนี้ดิฉันจะพาท่านผู้ฟังไปรู้จักกับชาวไทใหญ่ที่เมืองเต้อหงกันเสียที แล้วก็เช่นเคยค่ะ ดิฉันชวนคุณนิรันดร์ อุตมฉันท์มาช่วยกันเล่าค่ะ (น.) สวัสดีครับ (ว.) ก่อนอื่นดิฉันขออ้างคำพูดของอาจารย์วงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์ ซึ่งตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ไปเต้อหงเมื่อปี 2528 อาจารย์วงจันทร์บอกว่า การที่ได้พบกลุ่มชนที่อยู่ในดินแดนห่างไกลจากประเทศไทย แต่มีขนบประเพณี วัฒนธรรม และภาษาพูดที่ใกล้เคียงกับชาวไทย เป็นความปิติยินดีอย่างยิ่ง (น.) ส่วนดร.บรรจบ พันธุเมธา นักภาษาศาสตร์ลือชื่อที่ตามเสด็จด้วยก็บอกว่าดีใจมากที่ "ได้เห็นสถานที่ต่าง ๆ ที่เคยเห็นชื่อในแผนที่ ได้อ่านแต่ในหนังสือ และได้ฟังจากคำบอกเล่า บัดนี้ได้เห็นแล้วด้วยตาตนเอง เช่นเมืองเมา เมืองขอน เมืองวัน เมืองวันเที่ยง ในเขตแดนยูนนานของจีนต่อกับรัฐฉานของพม่า"
(ว.) ค่ะ เรามาดูว่าสิ่งที่อาจารย์ทั้งสองท่านพูดถึงนี้ มีอะไรบ้างนะคะ ดิฉันขอแนะนำโดยใช้ข้อมูลของศาสตราจารย์เจี่ยแยนจอง แห่งสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา เมืองคุนหมิงค่ะ จากการค้นคว้าของอาจารย์เจี่ย คนไทใหญ่แม้ว่าจะใช้แซ่แบบจีน แต่ส่วนใหญ่ใช้นามสกุลแบบไทด้วย โดยเรียกนามสกุลว่า "เครือเรือน" แปลกนะคะคุณนิรันดร์ (น.) ครับ ตัวอย่างที่อาจารย์เจี่ยยกมาก็ฟังดูไทจังเลยนะครับ นามกสุลไทเป็นคำพยางค์โดด เช่นนามสกุล แสง คำ ดาว ดอก ผา หมื่น เป็นต้น แล้วก็เรียกเรียงไปแบบจีน คือเรียกนามสกุลก่อนต่อด้วยชื่อ เช่นนามสกุลแสง ชื่อสร้อยเงิน ก็เรียกว่า แสงสร้อยเงิน (ว.) น่ารักมากเลยค่ะ ครอบครัวของคนไทใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่ใช่ครอบครัวขยายแบบคนจีนฮั่นค่ะ คือเมื่อลูก ๆ แต่งงานก็จะออกไปตั้งครอบครัวใหม่ ก่อนแต่งต้องให้แม่สื่อไปสู่ขอ และต้องจัดขบวนขันหมากไปด้วย (น.) แต่เมื่อเวลาตาย ชาวไทลื้อกลับนิยมฝังมากกว่าเผานะครับ ยกเว้นพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่จะเผาตามประเพณีพุทธครับ (ดนตรี)
(ว.) มาพูดถึงเรื่องอาหารการกินของคนไทใหญ่ ก็คล้ายกับคนไทยเรามาก ปกติคนไทใหญ่จะกินข้าวเจ้า ข้าวเหนียวมีไว้ทำขนมหวานแบบต่าง ๆ อาจารย์เจี่ยบอกว่าข้าวหอมเมืองแช่ฝางของไทใหญ่ มีชื่อพอ ๆ กับข้าวหอมมะลิของไทย ส่วนกับข้าว ก็นิยมกินลาบ ส่า น้ำพริก แกงผักต่าง ๆ รวมทั้งอาหารย่าง คนไทใหญ่เหมือนคนไทยเราอีกอย่างหนึ่งคือนิยมกินอาหารที่ปรุงด้วยเครื่องเทศต่าง ๆ มีครบทั้ง ข่า ตะไคร้ กะเพรา อบเชย กระวาน ยี่หร่า คล้ายของไทยเรามากค่ะ
(น.) คนไทใหญ่ฉลองทั้งเทศกาลตรุษจีนและเทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นเทศกาลสำคัญประจำปี ตรุษจีนก็เซ่นไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ ส่วนสงกรานต์ก็มีการเฉลิมฉลองกัน 3-4 วันเหมือนคนไทยที่บ้านเรา คนไทใหญ่เรียกวันสงกรานต์ว่า "ปอยสังขาร" เช้าวันปีใหม่ก็เข้าวัดก่อพระเจดีย์ทรายแล้วก็ทำบุญ สรงน้ำพระ รดน้ำผู้ใหญ่ แล้วหนุ่มสาวก็เริ่มเล่นสาดน้ำกันไปอีกวันสองวัน (ว.) มาดูเรื่องเครื่องแต่งกายของคนไทใหญ่บ้างนะคะ ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อขาวหรือเสื้อสีอ่อนแขนสั้น เกล้ามวย ส่วนผู้ชายโพกหัว สวมเสื้อกุยเฮงและกางเกง ผู้ชายนิยมสักตามตัวและแขนขาเพื่อแสดงถึงความเป็นหนุ่ม (น.) ยังมีเรื่องการเล่นต่าง ๆ การรำดาบ การฟ้อนนกยูง การขับร้องพื้นเมืองคล้ายกับหมอลำบ้านเรา ซึ่งล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงประเพณีวัฒนธรรมที่ใกล้กันของคนไทแม้จะคนไทในประเทศที่ต่างกัน (ว.) ค่ะ พอดีคุณนิรันดร์พูดถึงตรงนี้ ดิฉันเลยอยากจะอัญเชิญพระนิพนธ์ของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาจากหนังสือยูนนานมาปิดท้ายรายการวันนี้เสียเลย พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้ว่า "เมื่อพิจารณาดูว่าคนไทยและคนไตเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน คือหน้าตาเหมือน ๆ กัน จึงไม่แปลกที่พูดภาษาเดียวกัน มีขนบธรรมเนียมการกินการอยู่ที่คล้ายคลึงกันมาก... ถึงอย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าคิดว่าในสมัยโบราณ คนไทยหรือไตคงอยู่ใกล้ ๆ กันเป็นเผ่า ๆ ไป และมีการไปมาหาสู่กันบ่อย ๆ ครั้นเกิดประเทศขึ้น มีการกั้นกันด้วยเขตแดน จึงมีการแยกกัน การขาดการติดต่อซึ่งทำให้มีความแตกต่างขึ้นมา"
ท่านผู้ฟังคะ ปัจจุบันเต้อหงไม่ใช่ดินแดนปิดอีกแล้วนะคะ มีสนามบิน และมีสายการบินบินไปลงสัปดาห์ละหลายเที่ยว ท่านผู้ฟังมีความคิดจะไปเยี่ยมเยือน ทำความรู้จักกับพี่น้องไทเหนือหรือไทใหญ่ ญาติที่ขาดการติดต่อกับเรามาช้านานหรือเปล่าคะ มาถึงตรงนี้แล้วดิฉันและคุณนิรันดร์ซึ่งทำหน้าที่แนะนำก็คงต้องลาท่านผู้ฟังไปแล้วค่ะ สวัสดีค่ะ (น.) สวัสดีครับ
|