การประชุมสุดยอดจีน-อาเซี่ยนเนื่องในโอกาสรำลึกปีครบรอบ 15 ปีที่จีนกับอาเซี่ยนสร้างความสัมพันธ์แบบการปรึกษาหารือกันกำหนดจะจัดให้มีขึ้น ณ เมืองหนานหนิงทางภาคใต้ของจีนในวันที่ 30 ตุลาคมที่จะถึงนี้ โอกาสนี้ นายจังอวิ๋น เอกอัครราชทูตจีนประจำสิงคโปร์ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอประจำสิงคโปร์ถึงผลการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซี่ยน
ก่อนอื่น นายจังอวิ๋น เอกอัครราชทูตจีนประจำสิงคโปร์ได้ให้การประเมินอย่างสูงต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซี่ยนในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เขากล่าวว่า
"ปี 2006 เป็นปีครบรอบ 15 ปีที่จีนกับอาเซี่ยนสร้างความสัมพันธ์แบบการปรึกษาหารือกัน อีกทั้งเป็น "ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมือจีน-อาเซี่ยน" อีกด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซี่ยนในช่วงปีหลังๆ มานี้พัฒนาไปด้วยดีมาก"
ทูตจีนประจำสิงคโปร์กล่าวว่า สาเหตุที่ความร่วมมือจีน-อาเซี่ยนสามารถกระชับให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นั้น ก็ได้ผลจากนโยบายทางการทูตของจีนที่ "อยู่ด้วยกันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างปรองดองกัน อยู่ด้วยกันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสงบ สร้างความเจริญรุ่งเรืองกับประเทศเพื่อนบ้าน" เขากล่าวว่า
"จีนเห็นความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งสำคัญมาก ชาวจีนมักจะติดปากว่า "ญาติที่อยู่ไกลสู้เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ไม่ได้" 10 ประเทศสมาชิกอาเซี่ยนมีความเกี่ยวดองกันกับจีนในทางประวัติศาสตร์ แนวนโยบายทางการทูตของจีนโดยรวมแล้วเป็นนโยบายทางการทูตที่สันติ เป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง"
เขาให้การประเมินผลการพัฒนามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซี่ยนจาก 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและการค้า และด้านวัฒนธรรม เขากล่าวว่า
"ด้านการเมืองนั้น สองฝ่ายได้สร้างความเชื่อถือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปี 2003 จีนเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมเป็นประเทศภาคีของ "สนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" นับเป็นผลคืบหน้าที่มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ ความเชื่อถือซึ่งกันและกันทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ถือว่าเป็นพื้นฐานแห่งการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซี่ยน"
นายจังอวิ๋นกล่าวว่า แต่ไหนแต่ไรมาจีนเคารพประเทศสมาชิกอาเซี่ยนในการเลือกหนทางการพัฒนาอย่างเป็นตัวของตัวเอง และสนับสนุนอาเซี่ยนแสดงบทบาทสำคัญในส่วนภูมิภาคและในกิจการระหว่างประเทศต่างๆ เดือนพฤศจิกายนปี 2002 จีนกับอาเซี่ยนได้ลงนามใน "ข้อตกลงกรอบว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั่วทุกด้าน" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นการเจรจาว่าด้วยเขตการค้าเสรีจีน-อาเซี่ยน อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีได้เข้าสู่ขั้นตอนใหม่ ต่อมาในปี 2005 สองฝ่ายยังได้ลงนามในบันทึกช่วยจำเกี่ยวกับความร่วมมือทางวัฒนธรรมด้วย
สำหรับการประชุมสุดยอดจีน-อาเซี่ยนที่จะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้นั้น ทูตจีนประจำสิงคโปร์กล่าวว่า
"การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีความสำคัญมาก นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าและผู้นำของ 10 ประเทศอาเซี่ยนจะไปร่วมประชุม นับเป็นโอกาสที่ดีมาก จะกำหนดทิศทางและแผนการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายในระยะยาวนับจากนี้ไป"
|