ปีนี้เป็นปีครบรอบ 15 ปีที่จีนกับสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซี่ยนสร้างความสัมพันธ์แบบการปรึกษาหารือกัน และเป็นปีที่จีน-ไทยเจริญความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 31 ปีด้วย ปีหลังๆ มานี้ ความสัมพันธ์จีน-อาเซี่ยนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ส่วนความสัมพันธ์จีน-ไทยนั้นก็เป็นไปด้วยดีสมดั่งชื่อที่ว่า "จีนไทยใช่ใครอื่น พี่น้องกัน" ในวันที่ 29 ตุลาคมที่จะถึงนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีและนายนิตย์ พิบูลย์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยมีกำหนดการจะไปเยือนจีน โดยจะไปร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อรำลึก 15 ปีจีน-อาเซี่ยน การประชุมสุดยอดจีน-อาเซี่ยนด้านธุรกิจและการลงทุนและงานมหกรรมจีน-อาเซี่ยน ณ เมืองหนานหนิงเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี ก่อนออกเดินทาง นายนิตย์ พิบูลย์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอประจำประเทศไทยเกี่ยวกับความร่วมมือจีน-อาเซี่ยน
ก่อนอื่น นายนิตย์ พิบูลย์สงครามได้สรุปบทบาทของกลไกการปรึกษาหารือกันระหว่างจีนกับอาเซี่ยนว่า "การปรึกษาหารือ" เป็นวิธีการแลกเปลี่ยนที่มีประสิทธิผลมากที่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดสำหรับจีนกับอาเซี่ยน ด้วยการปรึกษาหารือกันและการร่วมมือกัน จีนกับอาเซี่ยนจึงได้สร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ดำเนินความร่วมมือในทั่วทุกด้าน เขากล่าวว่า
"กล่าวสำหรับจีนกับอาเซี่ยนแล้ว การปรึกษาหารือกันสามารถสมานสามัคคีให้ทุกฝ่ายเข้าด้วยกันได้ การปรึกษาหารือกันสามารถเพิ่มความเชื่อถือซึ่งกันและกันและเพิ่มความเข้าใจต่อกันได้ และสามารถช่วยขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่กีดขวางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายได้ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความสัมพันธ์จีน-อาเซี่ยนนับวันดียิ่งขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้น การเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดฯ ที่เมืองหนานหนิงของเราในครั้งนี้จึงมีความสำคัญมาก ระหว่างการประชุม เราจะร่วมทบทวนอดีตและมองสู่อนาคต"
รัฐมนตรีต่างประเทศไทยยังเผยว่า การประชุมสุดยอดหนานหนิงจะเป็นเหตุการณ์สำคัญในระหว่างกระบวนการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อาเซี่ยน การประชุมสุดยอดในครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จครั้งสำคัญ เขากล่าวว่า
"ก่อนอื่นก็คือ ผู้นำประเทศต่างๆ จะร่วมลงนามแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งจะเป็นแผนการพัฒนาในอนาคต จะรวมถึงโรดแมป (Road Map) แห่งการปฏิบัติในอนาคต แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเป็นตัวชี้นำที่ปฏิบัติได้ผลในปัจจุบันเท่านั้น หากยังจะเป็นตัวชี้นำสำคัญที่กำหนดแผนการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อาเซี่ยนในอนาคตอีกด้วย และผมเห็นว่า ความสัมพันธ์จีน-อาเซี่ยนเป็นความสัมพันธ์ที่ได้ผลประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย"
ช่วง 31 ปีนับตั้งแต่จีน-ไทยได้เจริญความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นต้นมา การแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศทั้งสองนับวันขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจนับวันกระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นายนิตย์ พิบูลย์สงครามเห็นว่า ทั้งนี้ก็ได้ผลจากสาเหตุสองประการ คือ หนึ่ง จีนไทยมีสายเลือดคล้ายคลึงกัน สอง จีนไทยมีภูมิประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกัน และมีส่วนเกื้อกูลกันและกันในทางเศรษฐกิจ ก็ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง เขาจึงมีความรู้สึกว่า การเยือนหนานหนิงของเขาในครั้งนี้จะเป็นการเยือนแบบเป็นกันเอง เขากล่าวว่า
"ฝ่ายไทยเฝ้ารอคอยการร่วมประชุมสุดยอดหนานหนิงในครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพราะว่า หนานหนิงกวางสีเปรียบเสมือนประตูของจีนที่เปิดไปสู่ประเทศอาเซี่ยน เป็นเส้นทางไปมาหาสู่กันทางการค้าและการไปมาหาสู่ของผู้คน ผมเห็นว่า ระหว่างการประชุมฯ ครั้งนี้ ผู้นำสองประเทศจะร่วมหารือถึงแนวทางส่งเสริมการไปมาหาสู่กันในทุกระดับ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การเยือนของเจ้าหน้าที่และเศรษฐกิจการค้า เป็นต้น"
|