ในรอบปี 2006 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ปัญหานิวเคลียร์กลายเป็นปัญหาที่ผู้คนได้ยินบ่อยครั้ง การเคลื่อนไหวด้านนิวเคลียร์ของบางประเทศเข้าทำนองเป็นการท้าทายระบบการไม่แพร่กระจายนิวเคลียร์ระหว่างประเทศอยู่เรื่อยๆ ซ้ำเติมให้ผู้คนเกิดความวิตกกังวลอย่างมากต่ออนาคตของระบบดังกล่าว
"ประเทศตะวันตกควรตระหนักว่า ประชาชนอิหร่านจะไม่มีวันละทิ้งสิทธิอันชอบธรรมด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ การได้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์เป็นความปรารถนาของประชาชนอิหร่านทั้งปวง"
นี่คือคำปราศรัยของนายมาหะหมุด อาหะมาดิเนจาด ประธานาธิบดีอิหร่านกล่าวในงานชุมนุมครั้งหนึ่งภายในประเทศเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถึงแม้ว่ามติหมายเลข 1696 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้อิหร่านหยุดกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยูเรเนียมเข้มข้นก่อนวันที่ 31 สิงหาคมนี้ก็ตาม แต่อิหร่านไม่เคยแยแสมติฉบับดังกล่าว กลับ "วางหมากตัวต่อตัว" เดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ของตนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามแผนการที่กำหนดไว้
ปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่านยังไม่ทันได้ข้อยุติ เกาหลีเหนือก็ได้ดำเนินการทดลองนิวเคลียร์อย่างอุกอาจเมื่อวันที่ 9 เดือนตุลาคมที่ผ่านมา อีกทั้งประกาศทันทีว่าเกาหลีเหนือเป็น "ประเทศที่มีนิวเคลียร์อยู่ในการครอบครอง" ซึ่งเป็นข่าวที่สั่นสะเทือนไปทั่วโลก สำหรับกรณีนี้ นายโมฮาเหม็ด เอล บาราเดย์ ผู้อำนวยการองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศกล่าวขณะขึ้นพูดที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติว่า
"การทดลองนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือดำเนินมาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลยิ่ง การทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นการฝ่าฝืน "สนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์" ยังผลให้ความพยายามของประชาคมโลกในการส่งเสริมการลดกำลังรบทางนิวเคลียร์ต้องประสบกับอุปสรรคอย่างมาก"
ดร.ฝานจี๋เส้อ รองนักวิจัยจากสภาวิทยาศาสตร์ทางสังคมแห่งประทศจีนให้ความเห็นว่า หลังจากเกิดสงครามอิรักแล้ว ประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีเหนือและอิหร่าน เป็นต้นต่างมีความรู้สึกอย่างแรงกล้าว่า ภัยคุกคามจากภายนอกเป็นเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้พวกเขาเหล่านี้พัฒนานิวเคลียร์ ซึ่งความวิตกในด้านความมั่นคงของประเทศเหล่านี้ก็ใช่ว่าเป็นสิ่งเกินเหตุ
"เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งมีคำวินิจฉัยว่าบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะล่อแหลม ก็จะไม่น่าแปลกใจว่าประเทศนั้นจะแสวงหาทางคุ้มครองด้วยอาวุธขั้นสุดยอด"
ดร.ฝานจี๋เส้อกล่าวในขณะเดียวกันว่า ในขณะแก้ไขปัญหาการป้องกันการแพร่กระจายนิวเคลียร์นั้น บางประเทศกระทำในสิ่งที่เป็นการเลือกปฏิบัติและมีลักษณะสองมาตรฐาน เช่น สหรัฐอเมริกาพิจารณาจากผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของประเทศตน ไม่เพียงแต่ปฏิเสธลงนามใน "สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์อย่างทั่วด้าน" ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของระบบการป้องกันการแพร่กระจายนิวเคลียร์ และถอนตัวออกจาก "สนธิสัญญาว่าด้วยการจำกัดระบบขีปนาวุธเพื่อต่อต้านขีปนาวุธนำวิถี" เท่านั้น หากยังลงนามสัตยาบันใน "ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้ในด้านพลเรือนระหว่างสหรัฐอเมริกากับอินเดีย" ในปีนี้อีกด้วย เท่ากับเป็นการรับรองสถานภาพของอินเดียว่าเป็นประเทศที่มีนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง การกระทำที่เป็นสองมาตรฐานของสหรัฐฯ นี้ได้รับเสียงคัดค้านอย่างหนาหูจากประชาคมโลก อีกทั้งได้บั่นทอนกำลังใจและจิตสำนึกในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในปัญหาการป้องกันการแพร่กระจายนิวเคลียร์อีกด้วย
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ปัญหาการป้องกันการแพร่กระจายนิวเคลียร์มีความเกี่ยวพันถึงความมั่นคงของประชาคมโลกทั้งปวง ประชาคมโลกควรรวมศูนย์ความเข้าใจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเข้าไว้ด้วยกัน เสริมความร่วมมือให้มากขึ้น น้ำหนึ่งใจเดียวกันและประสานกำลังเข้าด้วยกัน จึงจะสามารถสร้างโลกที่ปราศจากภัยคุกคามจากอาวุธประหัดประหารขนาดใหญ่ และมีสันติภาพและความมั่นคงมากยิ่งขึ้นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้
|