เมื่อเร็ว ๆ นี้ นาย โอวหยังจึ้อหย่วน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีนกล่าวกับผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุซีอาร์ไอว่า การเตรียมการต่าง ๆ เพื่อยิงดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์ดวงแรกของจีนดำเนินไปด้วยดี ดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์ดวงแรกของจีนจะยิงขึ้นสู่อวกาศในครึ่งปีหลังนี้
จีนประกาศเริ่มดำเนินโครงการสำรวจดวงจันทร์ที่ให้ชื่อว่า ฉางเอ๋อ เมื่อ ๓ปี ที่แล้ว หลังจากเตรียมการเป็นเวลานาน ปัจจุบัน การยิงดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์ดวงแรก ฉางเอ๋อ หมายเลข ๑ นั้นเข้าสู่ช่วงนับเวลาถอยหลัง
นาย โอวหยังจึ้อหย่วน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีนกล่าวกับผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุซีอาร์ไอด้วยว่า
" ระบบที่เกี่ยวข้องของโครงการสำรวจดวงจันทร์ ของจีนประกอบด้วย ดาวเทียม จรวด การสำรวจรังวัดในภาคพื้นดิน สนามยิงดาวเทียม และระบบรับข้อมูลในภาคพื้นดิน ซึ่งตอนนี้ทุกอย่างมีการเตรียมพร้อมแล้ว ผมเห็นว่า เราสามารถยิงดาวเทียม ฉางเอ๋อหมายเลขหนึ่ง ในครึ่งปีหลังนี้ หากการยิงดาวเทียมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ดาวเทียมดวงนี้ จะโคจรตามวงโคจรที่ห่างไกลจากพื้นผิวโลกกว่า ๔ แสนกิโลเมตร นับว่าเป็นการเริ่มต้นของการสำรวจบรรดาดาวบนท้องฟ้าในระยะใกล้ ของจีน "
ในทางเป็นจริง ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงก้าวแรกในการดำเนินโครงการสำรวจดวงจันทร์ ของจีนเท่านั้น ตามแผนการที่กำหนดไว้แล้ว การดำเนินโครงการนี้จะแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ จะยิงดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์ดวงแรกในครึ่งหลังปีนี้ โคจรไปรอบ ๆ ดวงจันทร์เพื่อดำเนินการสำรวจเป็นเวลา ๑ ปี จะให้มีการร่อนลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อทำการตระเวนสำรวจ ก่อนปี ๒๐๑๒ และ ก่อนปี ๒๐๒๐ จะเก็บตัวอย่างดินจากพื้นผิวดวงจันทร์กลับมา
นาย โอวหยังจึ้อหย่วนกล่าวว่า
" เรามีเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ ๔ ประการ ประการแรก เราจะทำภาพ สามมิติของดวงจันทร์ ประการที่ ๒ เราจะสำรวจการกระจายของธาตุและสิ่งแร่ต่าง ๆ บนพื้นผิวดวงจันทร์ ประการที่ ๓ เราจะสำรวจความหนาของพื้นผิวบนดินดวงจันทร์ และประการสุดท้าย เราจะสำรวจสภาพแวดล้อมอวกาศนอกดวงจันทร์ เราต้องจัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ตามโครงการดังกล่าวนี้ ซึ่งทุกวันนี้ งานด้านต่าง ๆ กำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวนี้ ดาวเทียม ฉางเอ๋อ หมายเลข ๑ จะบรรทุกเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงกล้องที่ใช้ถ่ายภาพสามมิติ อุปกรณ์ที่ใช้ในการประเมินความหนาของพื้นผิวดินของดวงจันทร์ ด้วยคลื่นไมโครเวฟ และเครื่องสำรวจสภาพแวดล้อมอวกาศของดวงจันทร์ เป็นต้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าวนี้ ส่วนมากใช้เป็นครั้งแรกในจีน "
ขณะเดียวกัน จีนยังสร้างสถานีตั้งสายอากาศเพื่อรับข้อมูลการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ที่ส่งกลับมาจากดาวเทียมฉางเอ๋อสองแห่ง คือที่ ปักกิ่งและคุนหมิง ซึ่งสถานีตั้งสายอากาศสองแห่งนี้มีอัตรากำลังสูงมาก
นาย โอวหยังจึ้อหย่วนกล่าวอีกว่า
" หลังจากดาวเทียมฉางเอ๋อ ยิงขึ้นสู่อวกาศแล้ว ก็จะโคจรตามวงโคจรที่เรากำหนดไว้เป็นเวลาหนึ่งปี แล้วส่งข้อมูลกลับสู่พื้นโลกเป็นประจำทุกวัน ข้อมูลที่ส่งกลับมาจะมีจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศจีนจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อประยุกต์ใช้ข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจากการสำรวจ ดวงจันทร์ครั้งนี้ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ ๑๒๒ คน "
(cai)
|